5 ก.ค. 2020 เวลา 15:27 • ความคิดเห็น
[KidMuchคิดมาก Ep.1]
: ทำไมระบบSOTUSยังถูกส่งต่อแบบเข้มแข็ง?
จากดราม่าที่(จริงๆก็มีมาตลอดแต่ช่วงนี้)กำลังดังขึ้นเรื่อยๆอย่างเรื่องระบบSOTUS หรือระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่าอะไรคือสาเหตุที่การใช้อำนาจของรุ่นพี่ที่มีลักษณะรุนแรงและไม่เหมาะสมยังเกิดขึ้นตลอดทุกปี
ตัวอย่างของการใช้อำนาจดังกล่าวคือดราม่าที่รุ่นพี่ตั้งกฎในการแต่งตัวที่แตกต่างจากกฎของมหาวิทยาลัยโดยต่อว่ารุ่นน้องที่ไม่แต่งตัวตามกฎของตนเอง และอีกกรณีคือการรับน้องแบบอันตรายและไม่เหมาะสม
โดยปกติการรับน้องที่ผู้เขียนพบเจอจะเป็นกิจกรรมกระชับมิตรเช่นเล่นกีฬาโดยแบ่งทีม ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างรุ่นโดยไม่เกิดความรุนแรง ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสนิทสนมขึ้นจริง
แต่ในบางที่ การรับน้องกลับเป็นการใช้อำนาจของรุ่นพี่ สั่งให้รุ่นน้องทำกิจกรรมที่อันตรายต่อชีวิตหรือจิตใจ หรือทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่นสั่งให้รุ่นน้องกินน้ำเป็นจำนวนมากจนเสียชีวิต
แม้จะมีการใช้อำนาจจนเกิดการเสียชีวิตขนาดนี้ ก็ยังปรากฎการใช้อำนาจแบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ, ในทัศนะของผู้เขียน, พฤติกรรมที่ส่งต่อกันเป็นรุ่นสู่รุ่นเช่นนี้เกิดจาก 2 องค์ประกอบหลักๆ ได้แก่
1.ความเป็นสังคมแบบกลุ่ม(Collective Society)
สังคมแบบกลุ่มคือสังคมในระดับใดก็ตามที่มีลักษณะที่คนในสังคมนั้นๆมีความเชื่อ, พฤติกรรมและความคิดเห็นในบางเรื่องตรงกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง ถ้าคนในสังคมคนใดมีความ"ไม่เข้าพวก" ก็จะถูกต่อต้านหรือเกิดความไม่พอใจ
ในสังคมมหาวิทยาลัยบางที่ ก็เกิดสังคมแบบกลุ่มในรูปแบบของระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่มีความเชื่อว่ารุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ รุ่นน้องควรเข้ากิจกรรมรับน้อง คนใดที่ไม่ทำตามจะกลายเป็น"คนแปลกแยก" ในบางที่ที่ความเป็นกลุ่มก้อนเข้มข้นอาจถูกหมั่นไส้, ถูกกลั่นแกล้ง ทั้งจากรุ่นพี่และรุ่นเดียวกัน
จากเรื่องราวในดราม่าที่รุ่นน้องไม่ยอมทำตามกฎของรุ่นพี่ แม้จะไม่ได้ทำผิดกฎมหาวิทยาลัย กลับพบว่ารุ่นน้องคนนั้นถูกรุ่นพี่และรุ่นพี่ต่อว่าและนินทาลับหลัง ในทำนองตำหนิว่าทำไม่ทำตามกฎระเบียบของรุ่นพี่ ตำหนิในความ"ไม่เข้าพวก"
ด้วยการเหยียบย่ำกลั่นแกล้งคน"ไม่เข้าพวก" ดังกล่าว ทำให้คนในสังคมรุ่นพี่รุ่นน้องไม่กล้าขัดขืนต่ออำนาจหรือคำสั่งของรุ่นพี่ เนื่องจากกลัวโดนตำหนิทั้งจากรุ่นพี่และจากเพื่อนรุ่นเดียวกันนั่นเอง
2.กฎการเลียนแบบของJean Gabriel Tarde
Tardeเป็นนักคิดนักกฎหมายฝรั่งเศสในศตวรรษที่19ที่ให้กำเนิดทฤษฎี"กฎการเลียนแบบ(Laws of imitation)" ไว้ 3 ข้อ ได้แก่
- การเลียนแบบผู้ที่อยู่ใกล้ชิด : อธิบายว่ามนุษย์มักเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกัน เช่น เลียนแบยพฤติกรรมของคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท
-การเลียนแบบผู้ที่เหนือกว่า : อธิบายว่ามนุษย์มักเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ที่ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า เช่น การที่เราเลียนแบบพฤติกรรมของดาราหรือไอดอลของเรา
-การเลียนแบบแบบแทรกสอด : อธิบายว่าพฤติกรรมมนุษย์ในองค์รวมมักเปลี่ยนแปลง เททรนด์เก่าๆจะถูกเทรนด์ใหม่สอดแทรกเข้ามาจนกลายเป็นพฤติกรรมปกติไปเรื่อยๆตามยุคสมัย
จากกฎทั้ง 3 แบบนั้น การที่รุ่นพี่บางสถาบันใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสม แล้วรุ่นน้องที่กลายเป็นรุ่นพี่ในรุ่นต่อมาใช้อำนาจในลักษณะเดียวกันนั้น อาจอธิบายได้จากกฎการเลียนแบบผู้ที่เหนือกว่า
เนื่องจากผู้ที่เหนือกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องเหนือกว่าด้านชื่อเสียง สถานะทางสังคมหรือเงินทองเท่านั้น
แต่รวมไปถึงการมีอำนาจเหนือกว่า การที่รุ่นพี่มีอำนาจสั่งการรุ่นน้องก็ถือว่ารุ่นพี่เป็นผู้ที่เหนือกว่า(Superior) และรุ่นน้องก็เป็นฝ่ายที่ด้อยกว่า(Inferior) ที่มักจะเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆของรุ่นพี่ รวมทั้งการลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย
กฎการเลียนแบบของผู้ที่เหนือกว่านี้ ก็ยังอธิบายถึงการเลียนแบบพฤตืกรรมการกราดยิงในหลายกรณีได้อีกด้วย เนื่องจากคนกราดยิงได้รับการพูดถึง มีตัวตนและชื่อเสียง(ในทางไม่ดี)มากกว่าผู้เลียนแบบ จึงมีการรณรงค์ให้ไม่เอ่ยชื่อหรือตั้งฉายาและให้ตัวตนแก่ผู้กราดยิง ดังที่นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ไม่เอ่ยชื่อของฆาตกรกราดยิงในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง
สุดท้ายนี้ การใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสมของรุ่นพี่ไม่ควรถูกเลียนแบบและส่งต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่ควรถูกแบบเกี่ยวกับระบบรุ่นพี่รุ่นน้องคือความสนิทสนม การช่วยเหลือ แบ่งปันและร่วมกันทำสิ่งดีๆต่อกัน
หมายเหตุ : การวิเคราะห์นี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนโดยวิเคราะห์อิงหลักการ แนวคิด และทฤษฎีต่างๆเป็นส่วนประกอบเท่านั้น
โฆษณา