30 มิ.ย. 2020 เวลา 23:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ
1 ในข่าวใหญ่ที่นักลงทุนทั้งกองทุนรวมและหุ้นต่างประเทศหลายๆคนอาจจะกังวลในช่วงที่ผ่านมานอกจาก COVID-19 แล้วก็คงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆทุกที
ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่น่าพูดถึงเสียเหลือเกิน
แต่ในวันนี้ จะมาขอพูดถึง 1 ประเด็นที่เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
ก็คือการผ่านร่างกฏหมายของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า "Holding Foreign Companies Accountable Act" ออกมา
โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญก็คือ บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นต้องปราศจากการครอบงำจากรัฐบาลต่างชาติ
ซึ่งแน่นอนว่าการจะเป็นเช่นนั้นได้ บริษัทเหล่านั้น ก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้และผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการดูแลการบัญชีของบริษัทมหาชน (PCAOB) ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบของสหรัฐฯ ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2002 และทำการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีของบริษัทต่างๆอยู่แล้ว 3 ปีต่อเนื่อง
หากทำไม่ได้แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะถูกเพิกถอนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯได้
ซึ่งตัวกฏหมายฉบับนี้นั้น จริงๆแล้วไม่ได้ระบุประเทศไหนเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่ด้วยความขัดแย้งที่เร่งตัวขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้นักลงทุน และนักวิเคระาห์อดเชื่อไม่ได้ว่า ท้ายที่สุดแล้วนั้นกฏหมายฉบับนี้ถูกผ่านออกมาเพื่อสร้างแรงกดดันต่อจีนโดยตรง
ซึ่งที่ผ่านมานั้นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (กลต.) ก็อ้างว่าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดมา แต่แน่นอนว่ากฏหมายแต่ละประเทศนั้นมีเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันมาก
ทำให้ก่อนหน้านี้พระราชบัญญัติ Sarbanes-Oxley ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบบัญชีและจัดตั้ง PCAOB นั้นยังไม่ครอบคลุมบริษัทในบางประเทศ หากการตรวจสอบของ PCAOB ไปขัดแย้งกับกฏหมายพื้นฐานของประเทศนั้นๆ เช่น จีน เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส ที่ไม่ให้บริษัทสอบบัญชีในประเทศนั้นๆ ส่งเอกสารทางบัญชีให้กับองค์กรระหว่างประเทศ หรือต่างประเทศอื่นๆ
แต่เมื่อข่าวการผ่านร่าง "Holding Foreign Companies Accountable Act" ของวุฒิสภาออกมานั้นมีการให้อำนาจเพิ่มเติมก็คือ จะต้องผ่านการตรวจสอบของ PCAOB 3 ปี ทำให้นักลงทุนเป็นกังวลกัน
ว่าบริษัทจีนทั้งหลายที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง Alibaba, Netease, TAL Trip.com และเจ้าอื่นๆ นั้นจะมีชะตากรรมเช่นไรต่อไป
ก็ต้องบอกว่าถือว่ามีทั้งจุดที่น่ากังวลและมีจุดที่ไม่ต้องกังวลมากนักหลายส่วนด้วยกันประกอบไปด้วย
จุดที่อาจจะยังไม่ต้องกังวลมากนัก
1. กฏหมายดังกล่าวผ่านเพียงวุฒิสภาซึ่งอยู่ภายใต้การครองคะแนนเสียงข้างมากของรีพับลิกันเท่านั้น และยังไม่มีกำหนดการลงมติต่อในสภาผู้แทนราษฎรที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากแต่อย่างใด ทำให้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ว่า ร่างกฏหมายดังกล่าวจะได้คลอดออกมาบังคับใช้อย่างจริงจังหรือไม่ หรือจะล่าช้าออกไป
2. บริษัทจีนหลายๆบริษัท หากตรวจสอบลงไปแล้วเจ้าของที่แท้จริงไม่ใช่คนจีน
เพราะการลงทุนข้ามประเทศนั้นมีกลไกให้เลือกใช้มากมาย
และ 1 ในกลไกที่นักลงทุนมือหนัก หรือเจ้าของบริษัทชาวจีนชอบใช้กันก็คือ
การจัดตั้ง Variable Interest Entity (VIE) ขึ้นมาในประเทศที่เปิดกว้างทางการเงินอย่าง หมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งมีลักษณะคล้าย Holding Company ที่มีสัญญาพิเศษกันเพิ่มเติม เช่น ไม่ต้องมีส่วนร่วมในการกำไรหรือขาดทุนในบริษัที่ไปลงทุนนั้นๆ แลกกับการไม่มีสิทธิ์ในการลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น ทำให้หากตรวจสอบลงไปแล้ว หลายๆ บริษัทที่เรามองผ่านๆ ว่ามีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จีน น่าจะเป็นของจีน
แต่ผู้ถือหุ้นทางกฏหมายจริงๆ อาจจะเป็นบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมนก็เป็นได้ และเมื่อ PCAOB บังคับให้บริษัทนั้นเปิดเผยงบดุลทั้งหมด ก็จะกลายเป็นว่าได้งบดุลของ VIE ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะเคย์แมน แทน ซึ่งอาจสร้างช่องว่างทางกฏหมาย และกลายเป็นทางรอดของบริษัทนั้นๆ ไม่ให้ถูกเพิกถอนได้
3.หากถูกเพิกถอนจริง สุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านั้นก็จะไปซื้อขายกันแบบต่อรองราคา (OTC) อยู่ดี ซึ่งทำให้ 1 ในทางรอดของบริษัทเหล่านั้นระดมทุนที่อื่น มาซื้อหุ้นคืนที่สหรัฐฯ และไป IPO ที่อื่นแทน ทำให้เงินในมือของผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้เป็นศูนย์ไปซะทีเดียว เพียงแค่อาจจะต้องลุ้นหน่อยเท่านั้นเอง ว่าจะได้ราคาดีหรือไม่
นอกจากนั้นแล้ว หลายๆ บริษัทที่มีความเสี่ยงก็มีการซื้อขายในมากกว่า 1 ตลาดอยู่แล้วด้วย เช่น China Eastern Airline ทำให้ง่ายต่อการระดมทุนมาชดเชยส่วนนี้ หรือ แม้กระทั่งบริษัทที่ซื้อขายที่สหรัฐฯ ที่เดียวก็สามารถที่จะโยกย้ายไปยังศูนย์กลางทางการเงินอื่นที่เชื่อมโยงกับจีนมากกว่าเดิม เช่น อังกฤษ หรือ ฮ่องกงก็สามารถทำได้
4. หากเกิดเหตุการณ์ข้อ 3 ขึ้น ก็จะเป็นการลด Market Cap ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เอง และไปเพิ่ม Market Cap ของประเทศปลายทาง ทำให้ในระยะยาวแล้ว MSCI จะต้องมีการปรับน้ำหนักการคำนวณใหม่ และทำให้มีเม็ดเงินลงทุนของ ETF หรือกองทุน Passive ไหลไปที่นั้นๆ แทน สหรัฐฯ ก็เสียผลประโยชน์เสียอีก
5. แม้กระทั่งกลุ่มบริษัทในสหรัฐฯ เองก็อาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฏหมายฉบับนี้
เพราะ หลายๆบริษัททั้งกลุ่มบริหารหลักทรัย์ และ บริษัททั่วๆ ไป ก็มีสัดส่วนการถือครองในบริษัทเหล่านั้น อาทิ Blackrock และ Vanguard บริษัทบริหารหลักทรัย์รายต้นๆของโลก เจ้าพ่อ ETF มีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร (AUM) เฉพาะ ETF มากกว่า 2.56 ล้านๆ ซึ่งโดยลักษณะของ ETF แล้วนั้น ต้องลงทุนให้ใกล้เคียงกับดัชนีมากที่สุด ยังไม่รวมกลุ่มกองทุนดัชนีต่างๆที่มีเม็ดเงินมหาศาลไม่แพ้กัน
ทำให้บริษัทบริหารหลักทรัย์มีน้ำหนักในบริษัทกลุ่มเสี่ยงถูกเพิกถอนเป็นจำนวนมาก ชนิดที่ว่าเปิดมาต้องเห็น 1 ใน 2 เจ้านี้ติดผู้ถือหุ้นอยู่เสมอ ยังไม่รวมไปถึงบริษัทอื่นๆ เช่น Walmart และ Google ที่ถือหุ้นอย่าง JD.com บางส่วนด้วย
ทำให้แนวโน้มที่บริษัทเหล่านี้จะต่อต้านกฏหมายดังกล่าวมีค่อนข้างมาก เพราะกระทบกับบริษัทเหล่านี้โดยตรง
จุดที่อาจจะน่ากังวลพอสมควร
1. Market Cap ของกว่า 150 บริษัทจีนที่ซื้อขายในสหรัฐฯ นั้นคิดเป็นเพียง 3.3% ของทั้งตลาดเท่านั้นเอง ทำให้แม้จะมีการไหลออกของ Fundflow บางส่วนหากการคำนวณของ MSCI เปลี่ยนไปตามที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านั้น ผลกระทบก็จะอยู่ในวงจำกัด
2.หลายๆ บริษัทของจีนที่ซื้อขายในสหรัฐฯ นั้น เป็นรัฐวิสาหกิจ (SOEs) โดยตรง เช่น China Life, China Eastern Airlines ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลกลางจีน
3.รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จุดนี้ทำให้ยากเหลือเกินที่จะคาดเดาได้ว่าทรัมป์นั้นจะปรี๊ดแตก และยกระดับความตึงเครียดหรือไม่ และเมื่อไหร่
ทำให้ท้ายที่สุดแล้วนั้น แม้เหตุผลของแนวโน้มที่จะไม่ส่งผลเสียมีมาก แต่ความเป็นไปได้ของการเล่นแรงครั้งนี้ก็ยังมีอยู่...
#แอดลุง
Source : Marketwatch, Forbes, Investopedia, the motley Fool
โฆษณา