1 ก.ค. 2020 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การก่อหนี้ของผู้บริโภค Gen Y
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติ พบว่า ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีค่าเกือบ 80 % โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.1 % ก่อนเพิ่มเป็น 78.4 % ในปี 2561 และ เพิ่มเป็น 79.8% ในปี 2562 และจากผลกระทบของโควิดส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรวดเร็ว อัตราการว่างงานสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของภาคครัวเรือน (Income Shock) ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและระดับการบริโภคที่ลดลง ดังนั้นยิ่งประเทศมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูง ยิ่งตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจยาวนานขึ้น
Gen Y ครองตำแหน่งการเป็นหนี้อันดับ 1 สูงสุด
บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร รายงานว่า การก่อหนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 8.92 ล้าน ล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL 6.35 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาปริมาณหนี้และ NPL โดยแบ่งตามช่วงอายุ พบว่า เกือบ 50% เป็นการก่อหนี้โดยกลุ่ม Gen Y (อายุ 23-40 ปี) จำนวน 4 ล้านล้านบาท NPL 2.7 แสนล้านบาท รองลงมา คือ กลุ่ม Gen X (อายุ 41-55 ปี) จำนวน 3.7 ล้านล้านบาท NPL 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่ม Gen Z (อายุ 18-22 ปี) จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท NPL 1.2 พันล้านบาท ถึงแม้กลุ่ม Gen Z มีปริมาณหนี้ไม่มาก เนื่องจากเป็นกลุ่มคนเพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน แต่มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 7% เรียกได้ว่าเป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นหนี้ค่อนข้างมาก และเมื่อเจาะลึกลงไป พบว่า ประชากรกลุ่ม Gen Y จำนวน 14.4 ล้านคน จำนวน 7.2 ล้านคน (50%) ทำเรื่องขอกู้เงิน โดยมีหนี้เฉลี่ยต่อคน 4.23 แสนบาท และผิดนัดชำระหนี้ถึง 1.4 ล้านคน หรือ คิดเป็น 7.1%
ขอบคุณภาพจาก เครดิตบูโร และ รายการชั่วโมงทำเงิน ช่อง TNN16
พฤติกรรมกลัวตกเทรนด์ (FOMO) พฤติกรรมอันตรายของการก่อหนี้
FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out เป็นพฤติกรรมของคนที่กลัวการตกกระแส โดยเฉพาะกระแสใน Social Media พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ จะเช็คมือถือตลอดเวลา นิยมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์โดยใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Gen Y และ Gen Z สอดคล้องกับตัวเลขของแบงค์ชาติและเครดิตบูโร พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อปีของกลุ่ม Gen Y เท่ากับ 377,694 บาท หมดเงินไปกับการซื้อสินค้าตามเทรนด์ ถึง 95,518 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งปี นอกจากนี้จากจำนวนบัตรเครดิตที่อนุมัติใหม่จำนวน 6 แสนใบ เป็นของ Gen Y ถึง 63% และอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มคนถือบัตรเครดิต Gen Y มีปัญหาการชำระหนี้บัตรเครดิตถึงเกือบ 7 แสนใบ
2
ภารกิจปลดหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้หนี้ครัวเรือนผ่าน โครงการคลินิคแก้หนี้ ซึ่งเมื่อปี 2562 โครงการนี้สามารถช่วยประชาชนแก้หนี้บัตรเครดดิตและบัตรกดเงินสดไปแล้ว 3,194 ราย ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13,000 ใบ มีหนี้บัตรเฉลี่ยรายละ 3 ใบ มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 234,843 บาท ในจำนวนนี้ 72 รายชำระหนี้หมดแล้ว ความพิเศษของโครงการคลินิกแก้หนี้ คือ SAM ทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ช่วยเจรจาและประสานงานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย โครงการนี้จะช่วยให้รวมหนี้ให้เบ็ดเสร็จ ลูกหนี้จะไม่ถูกทวงจากเจ้าหนี้หลายราย รวมทั้งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ ลูกหนี้จะได้รับข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษ คือ ผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยมีระยะเวลาผ่อนนานถึง 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาหนี้ได้ดีที่สุด คือ ตัวผู้บริโภคเอง ผู้บริโภคต้องมีความรู้ทางการเงิน มีวินัยในการวางแผนการเงิน ไม่ก่อหนี้เกินตัว มีการยับยั้งชั่งใจ ไม่หลงเป็นเหยื่อการตลาดที่นับวันมีความน่ากลัวมากยิ่งขึ้น
โฆษณา