1 ก.ค. 2020 เวลา 14:06 • การศึกษา
"หนี้สินจำเป็นต้องระบุในพินัยกรรมหรือไม่"
มีลูกความมาปรึกษาว่าได้รับหมายศาลเป็นคำฟ้องเรียกให้ชำระหนี้บัตรเครดิตในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้าของบัตรเครดิตที่เสียชีวิตไปแล้ว
ผู้เขียนจึงได้ให้คำแนะนำหลักกฎหมายไปว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีอายุความ 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ดังนั้นถ้าดูจากคำฟ้องแล้วเกิน 1 ปีดังกล่าวก็ให้ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การได้
แต่ถ้ายังไม่เกินอายุความ 1 ปีในการใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่อเจ้ามรดก ก็ให้ดูอายุความสิทธิเรียกร้องของธนาคารที่ได้จ่ายทดรองเงินสดให้ร้านค้าแทนเจ้าของบัตรไปก่อนโดยมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่เจ้าของบัตรชำระหนี้ให้ธนาคารครั้งสุดท้าย
(นี่คือสาเหตุที่เวลาเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้วไม่มีเงินจ่ายค่าบัตร พอใกล้ ๆ จะครบ 2 ปี ธนาคารจะโทรมาให้เจ้าของบัตรจ่ายชำระหนี้ไปก่อนสัก 500 บาทก็ได้เพื่อที่อายุความจะได้เริ่มนับใหม่นับจากวันที่เพิ่งจ่ายหนี้ครั้งล่าสุด) โดยต้องยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ
ถ้ายังไม่เกินอายุความ 2 ปีนับแต่การชำระหนี้บัตรเครดิตครั้งล่าสุดอีก ให้ดูว่าทายาทรับมรดกมาเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่เพราะทายาทจะชดใช้หนี้แทนเจ้ามรดกในจำนวนไม่เกินมรดกที่ได้รับ แล้วนำข้อเท็จจริงนี้ไปต่อสู้ในคดี
แต่ห้ามเงียบไม่ไปศาลเด็ดขาด เพราะถ้าเงียบจะกลายเป็นว่าโจทก์อาจชนะคดีโดยการขาดนัดแล้วมีการบังคับคดี หากทายาทไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเลยนอกจากบ้านหลังที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ทายาทก็จะถูกบังคับคดีขายทอดตลาดบ้านหลังดังกล่าวเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ซึ่งหนี้บัตรเครดิตอาจเป็นจำนวนเงินแค่หลัก 1x,xxx บาท แต่ถูกบังคับขายบ้านราคาหลักล้านก็ได้
ทำให้ผู้เขียนคิดขึ้นมาได้ว่าถ้าเจ้ามรดกเป็นโสดอยู่บ้านคนเดียวแล้วทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้พี่น้องโดยมอบพินัยกรรมไว้ให้ด้วย แต่ในพินัยกรรมไม่ได้ระบุเรื่องหนี้สินไว้เลย แน่นอนว่าผู้รับพินัยกรรมไม่มีทางรู้เรื่องหนี้สิน
ดังนั้นถ้าเจ้ามรดกใช้บัตรเครดิตตัดบัญชีค่าใช้จ่ายอัตโนมัติทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ ค่าเบี้ยประกัน ฯลฯ เมื่อเจ้ามรดกตายย่อมมีหนี้บัตรเครดิตแน่นอน
แล้ววันดีคืนดีทายาทโดยธรรมก็จะได้รับหมายศาลดังเช่นลูกความรายข้างต้น แล้วหากทายาทคนนั้นไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านตามทะเบียนบ้าน เช่นซื้อบ้านทิ้งไว้นาน ๆ ทีกลับไปดู ทายาทคนนั้นก็อาจไม่ทราบเรื่องการถูกฟ้องเลยเพราะหมายศาลจะถูกส่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นถูกบังคับคดีไปแล้ว จึงอยากเขียนถึงเรื่องนี้ขึ้นมา
แม้ว่ากองมรดกของผู้ตายจะหมายถึงทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดต่าง ๆ ของเจ้ามรดกที่มีอยู่ก่อนหรือในขณะถึงแก่ความตาย แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีทายาทคนไหนอยากรับมรดกหนี้แน่นอน
ดังนั้นในการทำพินัยกรรมจึงควรระบุเฉพาะทรัพย์สิน และการต่าง ๆ ที่เจ้ามรดกต้องการ เช่น การจัดพิธีศพของตัวเอง อย่างเช่นอยากให้มีสวดกี่วัน จัดวัดไหน อย่างไร เปิดเพลงอะไรในงาน เป็นต้น
ส่วนหนี้สินไม่จำเป็นต้องระบุในพินัยกรรมแต่ควรมีในรายการบันทึกทรัพย์สินและหนี้สินแนบไว้กับพินัยกรรมเพื่อให้ทายาทได้รู้และจัดการชำระหนี้สินให้เรียบร้อย อย่างเช่นกรณีบัตรเครดิตก็ทำบันทึกในรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่ามีบัตรเครดิตของธนาคารอะไร หมายเลขอะไร เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีข้างต้น
กรณีลูกความข้างต้นในทางปฏิบัติจะมีเรื่องทางเทคนิคมากกว่านี้ หากผู้อ่านประสบปัญหาก็สามารถปรึกษาเพิ่มเติมเฉพาะรายบุคคลได้
อ้างอิงหลักกฎหมาย
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่อเจ้ามรดก
“ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย”
2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) เรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องของธนาคารที่ได้จ่ายทดรองเงินสดให้ร้านค้าแทนเจ้าของบัตรไปก่อน
มาตรา 193/34 “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน(1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป”
เป็นกำลังใจให้นักเขียนด้วยการกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามด้วยค่ะ
#ทนายน้อยหน่า
1 กรกฎาคม 2563
#FinanceAndLaw
ขอบคุณภาพจาก pixabay.com
โฆษณา