3 ก.ค. 2020 เวลา 11:09 • ประวัติศาสตร์
“ซ้ายใหม่ (New left)” พลังของคนหนุ่มสาวยุค 1960s
1
“ถ้าหากคุณรู้สึกตัวสั่นด้วยความไม่พอใจทุกครั้งที่เห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นในโลก เราก็เป็นเพื่อนกันได้” เช กูเวรา
โลกในยุคสงครามเย็น คือ โลกที่เต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อน ยากที่จะเข้าใจ
ทุนนิยม...
คอมมิวนิสต์...
การปะทะกันของห้วงความคิดที่สร้างแต่ความโลภ ความอยุติธรรม และความสูญเสีย
สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมได้ลุกขึ้นมาต่อสู้
กลุ่มคนที่เบื่อหน่ายกฎเกณฑ์ของสังคม...
กลุ่มคนที่ต่อสู้ในความอยุติธรรมที่ตนเองได้เห็น...
กลุ่มคนที่ต่อต้านค่านิยมแบบเก่าที่พวกเขามองว่าคร่ำครึ...
กลุ่มคนที่รังเกียจทุนนิยมแบบอเมริกัน แต่ก็ไม่อยากหันหน้าไปหาคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต...
กลุ่มคนที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมขึ้นในสังคม...
เสรีภาพในการพูด...
ความเท่าเทียมในเรื่องสีผิว...
ความเท่าเทียมในเรื่องเพศ...
การต่อต้านสงคราม...
ฮิปปี้...
เพลงร็อค...
ปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก...
และนี่ คือเรื่องราวของพวกเขา...
“ซ้ายใหม่ (New left)” พลังของคนหนุ่มสาวยุค 1960s
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
หลายๆท่านอาจไม่คุ้นหรือไม่เคยได้ยินกับคำว่า “ซ้ายใหม่” มาก่อน โดยเฉพาะคนที่เกิดตั้งแต่ยุค 1980 เป็นต้นไป
แต่ซ้ายใหม่นั้นมีความสำคัญและเป็นพลังในการเปลี่ยนนโยบายของประเทศต่างๆทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ได้เลยล่ะครับ...
โดยซ้ายใหม่ได้กำเนิดขึ้นมาในดินแดนเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ในสถานที่ที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย...
ใน ค.ศ.1960 เหล่านักศึกษาได้จัดตั้งองค์การนักศึกษาหรือ SDS ขึ้น เพื่อโจมตีระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยว่า เป็นเพียงโรงงานผลิตใบปริญญา บังคับให้เรียนหลายวิชาที่ล้าสมัยไม่สามารถเอามาใช้ได้จริง ทั้งยังเรียกร้องให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
เรียกได้ว่า เริ่มมีแนวคิดต่อต้านกฎเกณฑ์แบบเดิมๆขึ้นมาแล้วนั่นเองครับ
ในตอนแรกนั้นคนหนุ่มสาวเหล่านี้แค่เรียกร้องในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น...
แต่แล้ว ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นที่ทำให้เหล่าคนหนุ่มสาวได้เริ่มมาเล่นประเด็นนอกรั้วมหาวิทยาลัยจนก่อกำเนิดเป็นแนวคิดซ้ายใหม่ขึ้นมา
เหตุการณ์ที่ว่าคือ การลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ ใน ค.ศ.1963...
ภาพจาก The New York Times (จอห์น เอฟ เคเนดี้ก่อนถูกลอบสังหาร)
จอห์น เอฟ เคเนดี้เนี่ยถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ป๊อปปูลาร์ในหมู่คนหนุ่มสาวพอสมควรเลยล่ะครับ อาจจะเพราะเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุด มีแนวคิดหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะแนวคิดการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมของสีผิวในประเทศ ซึ่งถูกใจคนหนุ่มสาวอเมริกันแบบสุดๆ เพราะพวกเขาต่างก็มองว่าการแบ่งแยกสีผิวถือเป็นมะเร็งร้ายในสังคมอเมริกัน...
ดังนั้น ในช่วงที่จอห์น เอฟ เคเนดี้เป็นประธานาธิบดี เหล่านักศึกษาหรือคนหนุ่มสาวก็เต็มใจร่วมมือ เห็นดีเห็นงามกับรัฐบาล ไม่ได้ออกมาเรียกร้องหรือต่อสู้อะไรมากนัก
แต่เมื่อพ่อหนุ่มเคเนดี้ของเหล่าคนหนุ่มสาวถูกลอบสังหารใน ค.ศ.1963 แล้วรองประธานาธิบดีอย่างลินดอน บี จอห์นสัน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน นโยบายหลายๆอย่างก็ได้เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องสงครามเวียดนาม
ลินดอน ได้มีนโยบายการทำสงครามในเวียดนามที่เข้มข้นขึ้น มีการสั่งให้โหมทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือ เกณฑ์คนหนุ่มออกไปรบที่เวียดนามมากกว่าเดิม
4
เมื่อเหล่าคนหนุ่มสาวได้เห็นภาพของสงครามเวียดนามและความสูญเสียของคนอเมริกัน พวกเขาก็เริ่มตั้งคำถามครับว่า “อเมริกาได้อะไรจากการรบในสงครามเวียดนาม?”
แต่รัฐบาลก็ปกปิดเรื่องราวในสงครามกับคนในประเทศต่อไปและไม่สนใจเสียงนกเสียงกา ทำให้ความคิดของคนหนุ่มสาวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากประเด็นของสงครามเวียดนามนี่แหละครับ...
เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นใน ค.ศ.1964 เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ปิดประกาศเตือนกันเองว่า “อย่าไว้ใจคนอายุเกิน 30 ปี!” เพราะพวกเขามองว่าสงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ห้ำหั่นชีวิตมนุษย์อย่างโหดร้าย เรื่องนี้พวกเขายอมไม่ได้! และต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดก็คือพวกผู้ใหญ่ที่เป็นที่มาของความเสื่อมโทรมทางสังคม โดยเฉพาะวงการธุรกิจและการเมือง
แล้วในที่สุด ความคิดนี้ก็ได้กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว เกิดการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามและคนผู้ใหญ่ ขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา รัฐบาลก็ได้มีการส่งตำรวจเข้าปราบปราม แต่ก็ยิ่งทำให้นักศึกษาหัวรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก!
เมื่อยิ่งประท้วงยิ่งอินกับเหตุการณ์ครับ ไม่ใช่แค่ประท้วงในประเด็นสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่ยังประท้วงไปถึงโครงสร้างของสังคมโลกอีกด้วย
พวกเขาต่อต้านทุนนิยมและสังคมแบบอเมริกัน แต่ก็ไม่อยากหันหน้าเข้าสู่โลกของคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต
พวกเขาจึงสร้างแนวความคิดแบบใหม่ที่อยู่ตรงกลางขึ้นมา คือ ซ้ายใหม่ (New left) นั่นเองครับ...
ภาพจาก SocialistWorker (การประท้วงของนักศึกษาอเมริกัน)
การก่อกำเนิดของซ้ายใหม่อย่างที่ผมเล่าไปแล้วครับว่ามาจากการทำตัวเป็นตำรวจโลกของรัฐบาลอเมริกาในการเข้าไปยุ่งในสงครามเวียดนาม ทำให้คนหนุ่มสาวเบื่อหน่ายกับสถาบันแบบอเมริกันมากขึ้นๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากหันหน้าเข้าหาคอมมิวนิสต์โซเวียตแบบโหดๆอย่างสตาลิน
พวกเขาจึงแสวงหาทางออกใหม่ที่เป็นแนวทางของตัวเองนั่นคือ ซ้ายใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับอุดมคติ มนุษยธรรม เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์
ซ้ายใหม่มองว่าทุนนิยมเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ ด้วยการบีบคั้นให้มนุษย์ต้องต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุ ทำให้มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักรและทาสของวัตถุ
แล้วพวกเขาได้เชื่อมโยงทุนนิยมกับสงครามเวียดนามเข้าด้วยกัน คือ การที่อเมริกาเข้าไปทำสงครามในเวียดนามก็เพื่อแค่ปกป้องผลประโยชน์การลงทุนของตัวเองเท่านั้น! ทุนนิยมทำให้บริษัทใหญ่ๆในอเมริกามีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศด้วย
ไม่ใช่เพียงต่อต้านทางการเมืองเท่านั้น แต่ซ้ายใหม่ยังไปเล่นประเด็นทางวัฒนธรรมอีกด้วยแหละครับ...
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ค่านิยมของบรรพบุรุษอเมริกันที่ถือว่าการทำงานหนัก ความก้าวหน้าในชีวิต ความร่ำรวยเป็นหัวใจของการใช้ชีวิต
คนหนุ่มสาวอเมริกันก็ออกมาต่อต้านว่าการใช้ชีวิตแบบนี้มันไม่ใช่! พวกเขาจึงได้ออกตามหาความเชื่อใหม่ๆให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา เช่น พุทธศาสนา เซน ฮินดู ก็มาบูมและฮิตในหมู่คนหนุ่มสาวอเมริกันยุคนี้
หรือแม้กระทั่งเรื่องของเซ็กซ์ ก็ยังใช้ค่านิยมแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นชายหญิงมีสิทธิหาคู่ที่เหมาะกับตัวเองผ่านเซ็กซ์ได้ หรือจะเป็นเรื่องการ “อยู่ก่อนแต่ง” เป็นวิธีที่ตอบโจทย์ในการเลือกคู่แต่งงานมากกว่า “แต่งก่อนอยู่” ที่เป็นความคิดโบราณคร่ำครึของผู้ใหญ่
หรือแม้กระทั่งประเด็นความเท่าเทียมทางเพศก็เกิดขึ้นในแนวคิดซ้ายใหม่ โดยเหล่าคนหนุ่มสาวมองว่าการรักหรือมีเซ็กซ์กับเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่ไม่ผิดและสามารถทำได้ ซึ่งประเด็นนี้ผู้ใหญ่ในตอนนั้นต่างมองว่าเป็นเรื่องที่วิปริตผิดผี!
แต่เหล่าหนุ่มสาวที่ต่อต้านในประเด็นทางวัฒนธรรมก็มีพวกที่สุดโต่งอยู่ครับ ซึ่งจะมีการเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ฮิปปี้...
ภาพจากWashington Monthly (การต่อต้านสงครามเวียดนาม)
ฮิปปี้ไม่ใช่ซ้ายใหม่ เพราะฮิปปี้ไม่สนใจการเมือง เรียกง่ายๆคือ พวกอินดี้นั่นแหละครับ...
ฮิปปี้ถือว่าเป็นพวกที่ต่อต้านวัฒนธรรมแบบสุดโต่ง โดยเป็นคนหนุ่มสาวที่เบื่อหน่ายสังคม จึงพากันปลีกตัวออกจากสังคม มีการแต่งกายเซอร์ๆ ไว้หนวดเครา ผมยาว ห้อยลูกประคำ สวมรองเท้าแตะ เดินทางไปทั่วประเทศ สูบกัญชาและเล่นสารเสพติดอื่นๆ
ซึ่งฮิปปี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่นิยมมากในเหล่าคนหนุ่มสาวยุค 1960 (แต่พอยุค 1970 ก็ค่อยๆเริ่มหายไป)
กลับมาที่ซ้ายใหม่ครับ อีกสิ่งหนึ่งที่กำเนิดขึ้นและมีอิทธิพลให้คนหนุ่มสาวด้วยก็คือ เพลงร็อค
โดยผู้ที่จุดประกายเริ่มต้นคือชายที่ชื่อว่า บ๊อบ ดีแลน
บ๊อบ ดีแลน ได้ผงาดขึ้นมาและกลายเป็นขวัญใจร็อคเกอร์ของหนุ่มสาวซ้ายใหม่จากเพลง Blowin in the wind ที่มีความหมายเหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองในตอนนั้น
อีกทั้งดีแลนยังเป็นศิลปินที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม จึงได้ใจคนหนุ่มสาวมากยิ่งขึ้นไปอีก...
ตั้งแต่ตอนนั้น จึงเกิดศิลปินที่เริ่มต่อต้านสงครามและกลายเป็นขวัญใจคนหนุ่มสาวเกิดขึ้นมามากมายแม้กระทั่งวงจากอังกฤษอย่าง Rolling Stone และ The Beatle ก็ดังถล่มทลายในหมู่คนหนุ่มสาวอเมริกัน
โดยเพลงร็อคในยุคนั้นไม่ใช่แค่ความบันเทิงเท่านั้นครับ แต่ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมใหม่ ที่คนหนุ่มสาวโหยหา (อารมณ์คงคล้ายๆเพลงเพื่อชีวิตบ้านเรา)
และสิ่งที่พิสูจน์แรงขับเคลื่อนและความสำคัญของเพลงร็อคต่อคนหนุ่มสาวคือมหกรรมดนตรีร็อค Woodstock ในค.ศ.1969 ที่มีคนหนุ่มสาวเข้าชมกว่า 400,000 คน! โดยประเด็นหลักๆของงานคือเรื่องของสันติภาพนั่นเอง (ก็โยงเข้าเรื่องการเมืองอเมริกันยุคนั้นอยู่ดี)
ภาพจาก Hollywood Reporter (มหกรรมดนตรีร็อค Woodstock 1969)
นอกจากนั้น เหล่านักศึกษาหรือคนหนุ่มสาวที่ยึดแนวคิดซ้ายใหม่ ต่างก็มีบุคคลที่พวกเขาเรียกว่า “ศาสดาซ้ายใหม่” เกิดขึ้นมาด้วยไม่ว่าจะเป็น...
ฟรานทซ์ ฟานอน ปัญญาชนผิวดำที่เป็นกระบอกเสียงให้ประเทศโลกที่สาม...
แองเจลา เดวิส นักปฏิวัติสังคมและสิทธิสตรี...
ฟิเดล คัสโตร ผู้นำปฏิวัติคิวบา...
โฮจิมินห์ ผู้นำที่ปลดแอกเวียดนาม...
และอีกหลายๆคนที่ผมไม่ได้กล่าวถึง
แต่ทว่า มีชายอีกคนที่ผมจะกล่าวถึงเป็นพิเศษ เพราะเรื่องราวของเขาเป็นทั้งแรงผลักดันและแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวทั่วโลกเลยล่ะครับ และเหล่าคนหนุ่มสาวต่างยกให้ชายคนนี้เป็นฮีโร่ซ้ายใหม่ตลอดกาล
ชายคนที่ว่า คือ เช กูเวรา...
ภาพจาก France Inter (เช กูเวรา)
เช กูเวรา เป็นแพทย์หนุ่มชาวอาร์เจนตินาที่ได้เดินทางไปทั่วอเมริกาใต้และได้ไปเห็นชีวิตความลำบากของประเทศต่างๆ จึงเกิดอุดมการณ์ที่อยากจะช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น เชเลยตัดสินใจละทิ้งชีวิตสบายๆในอาร์เจนตินา ไปเป็นนักปฏิวัติเพื่อสังคมที่ประเทศต่างๆในอเมริกาใต้
จนสามารถช่วยฟิเดล คัสโตรปฏิวัติในคิวบาได้สำเร็จ แต่สุดท้ายก็โดน CIA และรัฐบาลโบลิเวียที่เชพยายามปฏิวัติตามเก็บใน ค.ศ.1967
พูดได้เลยว่า เชตอนที่ตายไปแล้วนั้น มีอิทธิพลต่อโลกมากกว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่หลายเท่าเลยล่ะครับ (เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เชยังไม่ตาย”)
นั่นก็เพราะว่า ข่าวการตายของเชได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เหล่าคนหนุ่มสาวอเมริกันต่างก็ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตและวาระสุดท้ายของชายคนนี้และพวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พี่เนี่ย ไอดอลเลยว่ะ!”
แล้วเรื่องราวของเชกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของเหล่าคนหนุ่มสาวซ้ายใหม่ ภาพของเชปรากฏตามฝาผนัง กำแพง และถนนในที่ที่มีการประท้วงของคนหนุ่มสาวอเมริกัน หรือแม้กระทั่งภาพลักษณ์ภายนอกของเชที่ไว้ผมยาว ไว้หนวดเครา สวมหมวกเบเรต์ดาวแดง ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านวัฒนธรรมเก่าในสังคม การไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ และความมุ่งมั่นในการปฏิวัติ
คนหนุ่มสาวซ้ายใหม่อเมริกันก็ได้ยกเชเป็นฮีโร่สูงสุดของพวกเขาเลยทีเดียวล่ะครับ...
และไม่ใช่เพียงแค่นั้น ซ้ายใหม่ในอเมริกาและเรื่องราวของเชได้ผสานรวมกันแพร่กระจายไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน อิตาลี เชโกสโลวาเกีย
แล้วลามไปถึงเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
ประเทศเหล่านี้ล้วนเกิดปรากฏการณ์ที่เหล่าคนหนุ่มสาวได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง วัฒนธรรม และความอยุติธรรม
พวกเขาต่างได้รับอิทธิพลจากแนวคิดซ้ายใหม่ของคนหนุ่มสาวอเมริกันและยกเช กูเวราเป็นไอดอลในการต่อสู้...
คนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ในประเทศหนึ่ง ก็กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวอีกประเทศหนึ่ง...
พวกเขาเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงทิศทางของประเทศในยุคนั้นเลยทีเดียว...
ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวในอเมริกาที่สามารถกดดันให้รัฐบาลถอนตัวจากสงครามเวียดนาม...
การประท้วงที่ใหญ่โตของนักศึกษาในฝรั่งเศสเพื่อปฏิวัติทางสังคม...
การเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลซูฮาร์โตในอินโดนีเซียของนักศึกษา...
การปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเรดการ์ดในจีน...
หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลา ของไทย...
พวกเขาเหล่านี้ต่างมีความเชื่อว่าพลังของพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ (ซึ่งอาจดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้)
พวกเขาเหล่านี้ได้เป็นผู้สร้างสิ่งใหม่ๆให้กับสังคม และขณะเดียวกันก็ได้ทำลายสิ่งเก่าๆออกไปด้วย...
กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความเคลื่อนไหวและสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลกในยุคนั้น...
และนี่ คือเรื่องราว“ซ้ายใหม่ (New left)” พลังของคนหนุ่มสาวยุค 1960s
ภาพจาก Teen Vogue
อ้างอิง
Norton, Katzman. A People and a Nation : A History of the United States. Boston : Houghton Mifflin Company, 1982.
O’Neille, William L. American Society Since 1945. Chicago : Quadrangle Books, Inc, 1969.
Shaplen, Robert. The Road from War : Vietnam 1965-1970. New York : Harper and Row, Publishers, 1970.
โฆษณา