2 ก.ค. 2020 เวลา 11:30 • สุขภาพ
รู้ไหม ? ทำไมต้องใช้ "หนู" ทดลอง
ภาพหนูทดลอง
สถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ทั่วโลกยังพุ่งขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางความพยายามผลิตวัคซีน และยารักษาจากทั่วทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยก็กำลังทดลองวัคซีนอยู่ด้วยเช่นกัน หลายประเทศเริ่มมีการทดสอบในมนุษย์กันแล้ว  แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนทดสอบในมนุษย์นั้น เราจะต้องทำการทดลองกับ "สัตว์ทดลอง" เป็นการพิสูจน์ว่าใช้ได้ ปลอดภัย รักษาหายได้โดยไม่มีผลข้างเคียงเสียก่อน โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ "หนู" เป็นหลัก เจ้าตัวเล็กจึงต้องรับหน้าที่นี้ไปอย่างไม่เต็มใจนัก
ทำไมต้องเป็นหนู?
ความจริงการทดลองในสัตว์นั้นสามารถใช้สัตว์ได้หลายชนิด ทั้ง ลิง กบ หมา แมว เป็นต้น แต่ทำไมเราถึงต้องใช้ "หนู" สัตว์ที่ดูน่ารังเกียจ สกปรก เป็นพาหะของโรคหลายชนิดด้วย สาเหตุนั่นก็เพราะว่า หนูนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีจำนวนยีนส์ใกล้เคียงกับมนุษย์ ดังนั้นถ้านำมาทดลองแล้วก็จะได้ผลออกมาใกล้เคียงกับมนุษย์นั่นเอง นอกจากนี้หนูเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสไวมาก มีขนาดเล็ก วงจรชีวิตสั้น เพาะพันธุ์ได้ง่าย โตไว และให้ลูกในปริมาณมาก ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ "หนู" จึงเป็นตัวเลือกที่ถูกนำมาใช้ในการทดลองอยู่บ่อยๆ นั่นเอง โดยชนิดของหนูที่นิยมนำมาใช้ทดลองหรือวิจัยก็มีหลายพันธุ์ เช่น หนูเมาส์ หนูตะเภา เป็นต้น "หนู" ถูกนำมาใช้ในการทดลองตั้งแต่ปี พ.ศ.2164 โดยนักสรีรวิทยาชาวอีตาเลียนสองคน ใช้เพื่อศึกษาอวัยวะภายในของหนู และเริ่มมีนักชีววิทยาชาวตะวันตกนำหนูมาเลี้ยงในห้องทดลองเพื่อศึกษาเรื่องการขาดอาหารและออกซิเจน หลังจากนั้นได้มีการทดลองโดยใช้หนูมากขึ้น เช่น ทดลองเพื่อศึกษาพฤติกรรม ทดลองหาสาเหตุมะเร็ง จนกระทั่งเริ่มใช้ "หนู" เป็นสัตว์ทดลองยา ในการศึกษาสาเหตุและรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคความดัน โรคเยื่อสมองอักเสบ โรคผิวหนัง โรคตับ โรคไขข้อกระดูก การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้เอง "หนู" จึงนับว่ามีส่วนช่วยมนุษย์อย่างเราอย่างมากมายมหาศาล  ถึงมันจะเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็ก ๆ แต่ทุกชีวิตก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง ชวนให้นึกถึงนิทานอีสปเรื่อง ราชสีห์กับหนู  ว่าแม้ราชสีห์เจ้าป่าจะเก่งกล้าเพียงใด แต่ในบางครั้งก็ต้องพึ่งพาเจ้าหนูตัวกระจ้อยร่อยเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะนำมันมาทดลองแบบไหนก็ได้นะครับ การใช้สัตว์ทดลองทุกประเภท จะต้องใช้จรรยาบรรณของผู้ทดลองอย่างสูง ได้แก่
1. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์  ผู้ใช้สัตว์ต้องใช้สัตว์เฉพาะกรณีที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นสูงสุด
2. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักในความแม่นยำของผลงาน โดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด และได้รับผลงานที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด
3. การใช้สัตว์ป่า ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า
4. ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์  ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่า สัตว์มีความรู้สึกเจ็บปวดและมีความรู้สึกตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับมนุษย์ จึงต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การขนส่ง การใช้วัสดุอุปกรณ์โดยไม่ให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวด ความเครียด หรือความทุกข์ทรมาน
5. ผู้ใช้สัตว์ต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วนพร้อมที่จะเปิดเผยหรือชี้แจงได้ทุกโอกาส
ส่วนความคืบหน้าในการผลิตวัคซีน "โควิด-19" นั้น ในหลายประเทศเริ่มที่จะทดลองกับมนุษย์แล้ว ส่วนบ้านเราที่ผ่านมา การทดสอบวัคซีนชนิดนี้ในหนูถูกระบุว่า "ประสบความสำเร็จในระดับดี" ผู้วิจัยจึงเริ่มการทดสอบในลิง โดยใช้ลิงแสมทั้งหมด 13 ตัว เพศเมีย อายุระหว่าง 4-6 ปี หรือเทียบได้กับคนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะทดสอบวัคซีนในลิง 3 ครั้ง ซึ่งหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 จะทำให้เห็นผลการป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว ทั้งนี้ลิงถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับไวรัสได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ซึ่งการทดสอบในลิงจะดูเรื่องความปลอดภัย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนองคือสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนนำวัคซีนไปทดสอบในมนุษย์ในเดือน ส.ค.นี้  พวกเราคงต้องร่วมกันส่งแรงใจให้กับทีมวิจัยทั่วโลกให้ประสบความสำเร็จ ในการผลิตวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดยั้งความสูญเสียของเพื่อนร่วมโลกใบนี้ แล้วอย่าลืมขอบคุณเหล่า "สัตว์ทดลอง"ทุกตัวด้วยนะครับ
เครดิตภาพปก pixabay/pixabay
เครดิตภาพที่ 1 pixabay
เครดิตภาพที่ 2 pixabay
เครดิตภาพที่ 3 pixabay
โฆษณา