3 ก.ค. 2020 เวลา 05:53 • การเมือง
บันได 3 ขั้นสู่การเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแบบไทยๆ
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ณ ที่งานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้อยู่ที่การจับตาจังหวะการก้าวต่อไปของพรรคพลังประชารัฐที่เกิดความเปลี่ยนแปลงของตัวแสดง เนื่องจากการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากเดิม นายอุตตม สาวนายน เปลี่ยนเป็น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพียงรายชื่อเดียวเท่านั้นในการประชุมใหญ่พรรคครั้งนี้ [1] ซึ่งผลลัพธ์จึงไม่ยากนักที่จะคาดเดาได้ว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่นั้น “นอนมา” ตั้งแต่ก่อนถึงวันประชุมเสียด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับการที่มีคลิปเปิดตัวพลเอกประวิตรในตำแหน่งหัวหน้าพรรคเตรียมไว้ก่อนแล้ว
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นำมาสู่คำถามต่อมาว่า แล้วการขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น จะมีความยากหรือง่ายเพียงใดหากพิจารณาแต่เพียงในข้อบังคับพรรคเพียงอย่างเดียว แล้วในอีกทางหนึ่งพรรคการเมืองอื่นๆนอกจากพรรคพลังประชารัฐจะมีการกำหนดขั้นตอนหรือคุณสมบัติในการเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคแตกต่างกันหรือไม่ เพียงใด โดยจะพิจารณาเปรียบเทียบจากพรรคที่กำลังเตรียมจัดประชุมใหญ่พร้อมกระแสข่าวการตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (5 กรกฎาคม 2563) และพรรคประชาธิปัตย์ (19 กรกฎาคม 2563)
บันไดขั้นแรก การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม การที่จะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ ต้องมาจากสองกรณี ได้แก่ กรณีแรก การสิ้นสุดลงเฉพาะตัวของความเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งสอดคล้องกันระหว่างข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐ ข้อที่ 14 และข้อบังคับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ข้อที่ 13 ทั้งคู่ระบุเงื่อนไขการสิ้นสุดความเป็นกรรมการบริหารพรรคไว้สี่ข้อดังนี้
“1) ตาย 2) ลาออก 3) ขาดสมาชิกภาพ และ 4) อื่น ๆ ตามที่กฎหมายหรือข้อบังคับพรรคการเมือง” แตกต่างกันเล็กน้อยกับในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 36 ที่เพิ่มเติมในเรื่องของ 1) ขาดการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร 2) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของผู้เข้าร่วมประชุม 3) เมื่อกรรมการบริหารพรรคตามข้อบังคับพรรคข้อ 30 (8), (9) หรือ (10) พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ นอกจากนั้นในข้อ 17 (8) ของข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ยังพบว่ามีกลไกให้สมาชิกพรรคมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคออกจากตำแหน่งได้อีกด้วย [2]
ขณะที่ความเป็นไปได้ประการที่สองที่จะนำไปสู่บันไดขั้นแรก คือ การที่กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมพ้นตำแหน่งทั้งชุด ดังเห็นได้จากข่าวว่าการเลือกหัวหน้าคนใหม่ของพรรคพลังประชารัฐจะเริ่มต้นจากกรณีที่สองนี้เป็นบันไดขั้นแรก โดยสองพรรคที่สอดคล้องกันในเงื่อนไขของการพ้นตำแหน่งของกรรมการบริหารพรรค คือ ข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐ ข้อที่ 15 กับ ข้อบังคับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ข้อที่ 14 ที่สอดคล้องในสามเรื่อง ได้แก่ “1) การครบวาระดำรงตำแหน่ง 2) การสิ้นสุดลงเฉพาะตัวของความเป็นกรรมการบริหารพรรค 3) กรรมการบริหารพรรคการเมืองว่างลงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด”
ทั้งนี้เมื่อกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ยกเว้น (2) ให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองชุดใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ในข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐจะระบุไว้ที่ 45 วัน น้อยกว่าที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย และประชาธิปัตย์ (ข้อ 37 ของข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์) กำหนดไว้ที่ 60 วัน นอกจากนั้น ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 37 (4) ยังเพิ่มเติมให้กรรมการบริหารพรรคพ้นทั้งชุดได้หากที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ขององค์ประชุมของที่ประชุมให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
บันไดขั้นที่สองสู่การเป็นหัวหน้าพรรค ต้องผ่านเงื่อนไขคุณสมบัติในการเป็นกรรมการบริหารพรรค อย่างไรก็ตาม ข้อ 12 ของข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ และข้อ 11 ของข้อบังคับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้กำหนดเงื่อนไขไว้เพียงสามข้อ ได้แก่ “เป็นสมาชิกพรรค และอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี” ขณะที่วาระการเป็นกรรมการบริหารของพลังประชารัฐจะระบุที่ 4 ปี ส่วนรวมพลังประชาชาติไทยจะอยู่ที่ 2 ปีเท่านั้น ความแตกต่างอย่างชัดเจนจึงอยู่ที่ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 31 ที่เน้นเงื่อนไขคุณสมบัติด้านประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือต้องเป็นสมาชิกซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจึงเห็นภาพความยาก-ง่ายในการเข้าเป็นกรรมการบริหารพรรคอย่างชัดเจนของสองพรรคแรกหากพิจารณาเพียงในข้อบังคับพรรคโดยไม่พิจารณาถึงมิติความสัมพันธ์ทางอำนาจที่สะท้อนอยู่จริงภายในพรรค
เมื่อเข้าสู่ในส่วนของบันไดขั้นที่สามของการขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค จึงว่าด้วยเรื่องของการลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยหากอธิบายอย่างสรุปแล้ว ทั้งข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 11, ข้อบังคับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ข้อ 10 และข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 32 ข้อบังคับดังกล่าวของทั้งสามพรรคมีความสอดคล้องกันในเรื่องของการเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ขณะที่จำนวนชื่อผู้รับรองการเสนอชื่อของแต่ละพรรคกำหนดไว้ต่างกันที่ไม่น้อยกว่า 10 คน (พลังประชารัฐ), 50 คน (รวมพลังประชาชาติไทย) และไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุม (ประชาธิปัตย์)
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกสองประการ คือ ประการแรก ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 31 (3) ต้องเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือสามารถปรับใช้ข้อ 31 (6) สมาชิกที่ประชุมใหญ่มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกที่ประชุมทั้งหมด ทั้งยังระบุในข้อ 32 วรรคสองด้วยว่า ให้คำนึงถึงการหยั่งเสียงเบื้องต้นในการเลือกหัวหน้าพรรคอีกด้วย
ท้ายที่สุดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปว่าการประชุมใหญ่สามัญของพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะมีทิศทางเป็นเช่นไรในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์จะมีการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หรือไม่ นอกจากนั้นจะมีการเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนเลือกหัวหน้าพรรคดังเช่นในกรณีการเปิดหยั่งเสียงสมาชิกพรรคที่เคยทำมาหรือไม่ ติดตามกันต่อไปได้ในวันที่ 5 กรกฎาคม และ 19 กรกฎาคม 2563 ที่กำลังจะถึงนี้
อ้างอิง
[1] "ตามคาด "พล.อ.ประวิตร" นั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ". (27 มิถุนายน 2563). Thai PBS News. เข้าถึงเมื่อ 29 มิถุนายน 2563, เว็บไซต์: https://news.thaipbs.or.th/content/294052?read_meta=%7B%22label%22%3A%22articlepage_number2%22%2C%22group%22%3A%22NA%22%7D.
[2] "โควิดไม่ทันหาย "18 กก.บห.พลังประชารัฐ" ตบเท้าลาออก ทั้งคณะพ้นตําแหน่งทันที," (1 มิถุนายน 2563). ไทยรัฐออนไลน์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563, เว็บไซต์: https://www.thairath.co.th/news/politic/1858589.
บทความโดย: ทีมวิชาการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
ติดตามสาระความรู้เพิ่มเติมได้ที่: https://democracyxinnovation.com
โฆษณา