3 ก.ค. 2020 เวลา 09:16 • ศิลปะ & ออกแบบ
ปัจจัย 4 คือปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์
ในอดีต เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ครบทั้งหมด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรามีเทคโนโลยีมากขึ้น เรากลับพึ่งพาตัวเองได้น้อยลง
โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมากมาย ก็เพราะเรื่องนี้
วันนี้ ผมจะพาไปรู้จักการพึ่งพาตนเองในเรื่องที่อยู่อาศัยในรูปแบบของ บ้านดิน
บ้านดินซึ่งเริ่มเป็นที่พูดถึงกันในเทรนด์วิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์นั้น จริงๆมีมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยโบราณ แสดงให้เห็นถึงความง่ายในการก่อสร้าง
Cr. : wazzadu
ข้อดีของบ้านดินก็คือ
เป็นบ้านที่ระดับอุณหภูมิในตัวบ้านนั้นค่อนข้างคงที่ คือ ป้องกันความร้อนหรือความหนาวเย็นจากภายนอกได้ดี (อุณหภูมิเฉลี่ยภายในจะอยู่ที่ 25-27 องศาเซลเซียส)
เป็นวัสดุพื้นฐานที่หาได้ทั่วไป เน้นการพึ่งพาตนเอง ลดการขนส่ง ลดความสิ้นเปลือง และช่วยรักษาสภาพแวดล้อม
รูปแบบเทคนิคการสร้างบ้านดินที่นิยมทำมี 5 รูปแบบ
1.แบบปั้น (cob) ใช้ดินเหนียวผสมกับฟางข้าว ปั้นหรือก่อเป็นผนังขึ้นเรื่อยๆ
2.แบบอิฐดิบ (adobe brick) ใช้ดินผสมกับเส้นใย เช่น แกลบ เศษหญ้า หรือฟางข้าว นำมาผสมกับโคลน ปั้นและตากแดดทิ้งไว้ 5-7 วัน กลายเป็นอิฐดิน นำมาก่อเป็นฝาผนังบ้าน โดยใช้โคลนเป็นตัวประสาน
3.แบบโครงไม้(wattle & daub) ทำโครงสร้างเป็นไม้ สานกันเป็นตาราง และนำฟางชุบด้วยโคลนโปะเป็นฝาผนัง
4.แบบใช้ดินอัด (rammed earth) ก่อสร้างผนัง โดยทำเป็นคล้ายไม้แบบงานคอนกรีต แล้วนำดินเหนียวเทอัดเป็นฝาผนัง (ไม่ค่อยเห็นวิธีนี้ในเมืองไทย)
5.แบบใช้ท่อนไม้หรือหิน (cord wood & stones) สร้างฝาผนังโดยการนำเศษไม้หรือหินมาก่อเป็น ฝาผนังบ้าน ใช้ดินเป็นตัวประสาน และฉาบด้วยดิน อีกชั้นหนึ่ง
ขั้นตอนวิธีการก่อสร้าง ก็คล้ายบ้านก่ออิฐทั่วไป
เริ่มจากตัวฐาน ควรเป็นฐานที่ยกพ้นระดับน้ำหลากหรือท่วมถึง เช่น ฐานหิน หรือ ฐานคอนกรีต
ตัวผนังเกิดจากการใช้ดินเหนียวมาอัดหรือก่อขึ้นรูปเป็นผนัง สามารถเดินท่อไฟท่อน้ำได้ตามเหมือนบ้านทั่วไป
ประตูหรือหน้าต่าง สามารถทำตามรูปแบบปกติได้ทั้งประตูหน้าต่างไม้ หรือ เหล็ก  เพียงแต่ว่า เหนือช่องเปิดพวกนี้ เราต้องทำเป็นคานทับหลังช่วยรับน้ำหนักผนังดินที่ก่อลอยอยู่เหนือช่อง
ถ้าจะทำเป็นบ้านสองชั้น โครงของพื้นที่รับน้ำหนักจะเป็นโครงไม้ไผ่ที่วางเรียงเป็นตับพาดอยู่บนขอบผนังชั้นล่าง (ดังนั้น ห้องจะต้องมีขนาดไม่กว้างเกินระยะพาดของไม้ไผ่)
จากนั้นจะเอาดินเทเกลี่ยบนโครงไม้เป็นพื้นชั้นสอง
หลังคา ก็สามารถทำเหมือนหลังคาทั่วไป โดยวางโครงสร้างหลังคาบนขอบผนัง
การฉาบผนัง จะใช้ดินเหลวที่เตรียมไว้ ฉาบเก็บความเรียบร้อย
Cr. : myhome
จากนั้นก็ทาสี ซึ่งสีก็มาจากดินชนิดต่างๆหรือแหล่งดินต่างๆ มีหลากสีสัน ตั้งแต่สีขาวของดินเกาลิน สีแดงจากธาตุเหล็ก สีเหลืองจากน้ำพอง ซึ่งการทาสีนี้จะช่วยให้ผนังผิวเรียบเนียนขึ้น ฝุ่นไม่เกาะ และเป็นการเคลือบผิวช่วยกันน้ำอีกชั้น
เท่านี้ก็จะได้บ้านพักอาศัยขนาดย่อมที่มีขนาดพอเหมาะด้วยงบประมาณที่จับต้องได้ (บ้านดินขนาดพื้นที่ประมาณ 40 ตารางเมตร ใช้งบประมาณประมาณ 3-5 หมื่นบาท)
Cr. : myhome
เบสิกพื้นฐานของบ้านดิน หลักจำง่ายๆ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และ คน
ดิน คือวัสดุส่วนสำคัญ  ต้องเป็นดินเหนียวที่มีความเหนียวหนืดพอประมาณ ถ้ามีทรายผสมมากจะร่วนไม่เกาะตัว ถ้าเหนียวมากเมื่อแห้ง ผิวจะแห้งแข็งและแตกร้าว
เราควรผสมใยธรรมชาติ(ฟาง แกลบ ) เพื่อช่วยยึดผิวผนังให้ความแข็งแรง
น้ำ คือตัวประสานยามเริ่มต้น ช่วยให้ดินกลมกล่อมและอ่อนโยน
แต่หลังจากนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุด บ้านดินเมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่ควรโดนน้ำโดยตรง ดังนั้นตัวฐานของบ้านดินควรยกระดับให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง
หลังคาต้องป้องกันการรั่วหยดที่จะเซาะทำลายความแข็งแรงของดิน
(การทำห้องน้ำ ควรฉาบพื้นที่โดนน้ำด้วยปูนซีเมนต์)
ลม จะช่วยระบายความชื้นออกจากผนังเราจะไม่ฉาบผนังทั้งสองด้านเพื่อให้ผนังดินระบายอากาศได้  เปรียบคล้ายให้ผนังหายใจได้
ไฟ คือ การผึ่งแดดของอิฐดินที่ต้องแห้งสนิทซึ่งจะมีผลต่อความแข็งแรง
(บ้านดินสามารถอยู่ทนได้เป็นเวลานับ 100 ปี ถ้ามีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี)
คน คือความสัมพันธ์ระหว่างกัน คือแรงงานที่ช่วยเหลือกัน และคือจิตวิญญาณของบ้านที่จะบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับตัวเรา
ชีวิตที่สามารถดำรงอยู่ได้ โดยมีข้อแม้ให้น้อยที่สุดก็คืออิสรภาพอันหาได้จริง
การสร้างบ้านดินจึงถือเป็นปลดพันธนาการที่ผูกมัดเราจากวิถีชีวิตเดิมๆ การพึ่งพาตนเองได้ การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ให้กับตัวเรา
คุณโจน จันได ผู้บุกเบิกความรู้บ้านดินในเมืองไทยเคยกล่าวไว้ว่า
"การเผชิญสิ่งต่างๆในชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพาเงิน คือ อิสรภาพอันแท้จริง"
ขอให้ทุกท่านค้นพบนะครับ
รูปและข้อมูลบางส่วนมาจากหนังสือ "บ้านดิน แนะนำการสร้างบ้านดินเบื้องต้น " ใครสนใจลองหามาอ่านดูนะครับ จะมีรายละเอียดปลีกย่อยทั้งเทคนิควิธีการก่อสร้างและอารมณ์ความรู้สึกจากการร่วมแรงร่วมใจในการพึ่งพาตนเองและการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา