5 ก.ค. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
มิติใหม่ของแฟนบอลขอบสนาม
หนึ่งเดือนผ่านไปแล้วกับการกลับมาฟาดแข้งเต็มตัวของลีกอาชีพในยุโรป
เราได้เห็นหลายอย่างที่เป็นมิติใหม่ในการแข่งขัน เมื่อสนามต้องไร้ผู้ชม เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด
คงเป็นเรื่องเศร้าสุดๆ สำหรับแฟนพันธุ์แท้ที่ต้องการเกาะขอบสนามตะโกนเชียร์ทีมรัก
เพราะแม้แต่พวกเราผู้ชมผ่านจอถ่ายทอดสด ยังรู้สึกเสียอรรถรสไปมากทีเดียวเมื่อเห็นความเงียบเหงาบนอัฒจรรย์
ฟุตบอลในยุคโควิด ทำให้เราได้เห็นความสร้างสรรค์ในการใส่แฟนบอลลงไปเป็นส่วนนึงของแมตช์แข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ
บนอัฒจรรย์ขอบสนาม บางทีมก็เอาคัทเอาท์สีและตราสโมสรรวมถึงโลโก้ต่างๆมาขึงใส่
บางทีมใส่ภาพถ่ายแฟน ๆ บนผ้าใบ บางทีมก็เอาคัทเอาท์แฟน ๆ วางลงไปตรงที่นั่งทีละตำแหน่งให้ทั่วสนามเลย อย่างในเกมลาลิก้า สเปน
หรือในพรีเมียร์ลีก เราจะเห็นจอภาพตั้งบนอัฒจรรย์ข้างสนาม เป็นวิดีโอแฟนๆ นั่งดูบอลจากทางบ้านกันสด ๆ
หรือบางทีมก็ใส่วิดีโอแฟน ๆ ลงไปขอบสนามจริง ๆ ตรงป้ายโฆษณาข้าง ๆ พื้นสนามนั่นแหละ
ซึ่งเรื่องพวกนี้นอกเหนือจากเป็นการสร้างสีสันในสนามและการถ่ายทอดสดแล้ว ยังอาจจะเป็นส่วนนึงของการเสริมสภาพจิตใจนักเตะในสนามด้วย
จากสถิติเก่า ๆ ของ 5 ลีกใหญ่ในยุโรป ประกอบด้วย พรีเมียร์ลีกอังกฤษ บุนเดสลีกาเยอรมัน ซีเรียอาอิตาลี ลาลีกาสเปน และ ลีกเอิงฝรั่งเศส
พบว่าทีมเจ้าบ้านมักได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ด้วยค่าเฉลี่ยราว 60% โดยอธิบายจากปัจจัยหลายด้าน หลักๆ อาจจะมาจากกรรมการซึ่งโดนกดดันจากแฟนเจ้าบ้าน และเสียงจากแฟน ๆ ก็จะส่งผลต่อการเล่นของนักเตะในสนามด้วยเช่นกัน
งานวิจัยบอกว่า เสียงจากแฟนบอลในสนามส่งผลถึงโอกาสเป่าเอียงข้างเจ้าบ้านได้ราว 15%
ส่วนกับนักเตะนั้น เสียงเชียร์จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน เทสโทสเตอโรน และ คอร์ติซอล ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังการเล่นให้กับผู้เล่นเจ้าบ้านสูงกว่าทีมเยือน
ผลวิเคราะห์เกมที่เล่นในสนามปิด หลังปี 2002 (ยังไม่รวมช่วงโควิด) เป็นจำนวน 191 เกม พบว่า
- ทีมเจ้าบ้านที่ปกติจะชนะ 46% ลดลงเหลือ 36%
- ทีมเยือนมีสถิติชนะเพิ่มสูงขึ้นจาก 26% เป็น 34%
- และยังลดจำนวนค่าเฉลี่ยใบเหลืองที่ถูกแจกให้กับทีมเยือนลงด้วย
ซึ่งผลกระทบพวกนี้อาจเห็นในทีมเล็ก ๆ ชัดกว่าทีมใหญ่ เพราะบรรดาบิ๊กเนมมักจะมีผลงานคงเส้นคงว่าทั้งเกมเหย้าและเกมเยือนมากกว่า หรืออีกมุมนึง ทีมเล็กก็จะมีกลุ่มแฟนบอลที่เข้าชมเกมที่ใกล้ชิดและผูกพันธ์กับทีมมากกว่า เมื่อเล่นในบ้านก็จะมีความฮีกเหิมได้ชัดเจนกว่า
ส่วนสถิติฟุตบอลยุคโควิด ก็มีการวิเคราะห์คร่าว ๆ ของบุนเดสลิก้า ซึ่งเป็นลีกใหญ่ในยุโรปลีกแรกที่เปิดทำการ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภา
ข้อมูล 6 สัปดาห์วิเคราะห์ว่า
- แต้มทีมเหย้าลดลง 10% เมื่อเตะในสนามเปล่าๆ จากที่เคยเก็บแต้มได้ 43%
- จำนวนประตูเฉลี่ยของเจ้าบ้านก็ยิงได้ลดลงจาก 1.74 เหลือ 1.43 ลูกต่อเกม
- หรือแม้แต่โอกาสทำประตูก็ลดลงราว 10 % เช่นกัน
- ส่วนสถิติอันที่ดีขึ้นก็คือ ผู้รักษาประตูมีประสิทธิภาพการเซฟในเกมเยือนดีขึ้น
ที่น่าสนใจคือ สถิติบอกว่านักเตะไม่ได้มีทีท่าว่าจะไม่ตั้งใจเล่น แม้จะเตะกันเองดูกันเอง
เพราะบุนเดสลิก้าได้ส่งสถิติเหล่านี้กลับไปให้กับสโมสร โดยพบว่านักเตะยังมีอัตราการวิ่งหรือการสปรินท์ในเกมใกล้เคียงก่อนหน้าพักเบรก
เพียงแต่ว่าสิ่งที่ขาดไปคือ การเลี้ยง การยิง ที่ลดลง ซึ่งมันก็พอจะอธิบายได้ว่า การโชว์พวกนี้จะขาดหายไปเมื่อไม่มีแรงตอบสนองจากแฟนบอลที่คอยส่งเสียงฮือฮา ในแต่ละช็อตที่นักเตะโชว์ออฟในสนามนั่นเอง
นั่นหมายความว่านักเตะยังเป็นคนเดิมกับเมื่อตอนเดือนมีนา เพียงแต่การไม่มีแฟนบอลคอยตอบสนองในสนาม ทำให้ขาดสิ่งกระตุ้นให้พวกเค้าเค้นทักษะความเทพเพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกมาโชว์
การใส่จอแฟน ๆ ที่มีการตอบสนองจริงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมลงไปข้างสนามให้นักเตะได้เห็น แม้จะเป็นในรูปแบบของจอสกรีน มันก็อาจจะส่งผลต่อเกมการแข่งขันที่เอนเตอร์เทนมากขึ้นก็เป็นได้
เพราะนี่คือฟุตบอลที่ยกระดับเป็นเกมกีฬาอาชีพ เป็นมากกว่าการแข่งขันกีฬาทั่วๆไป
ฟุตบอลปัจจุบันที่สิ่งต่างๆในระหว่างเกมการแข่งขัน สร้างสีสันได้มากพอ ๆ กับผลสกอร์
Tech half-time
เพจ อัพเดทเทคโนโลยีที่เอามาใช้ในฟุตบอล
เพื่อให้คุณได้เข้าถึงรสชาดของฟุตบอลที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า
เนื้อหาสั้นๆ อ่านฆ่าเวลาตอนพักครึ่ง
ชอบโปรดแชร์เป็นกำลังใจนะครับ
โฆษณา