6 ก.ค. 2020 เวลา 03:10 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.1 : มุกจีบสาว
[ Part 2 – Degas’s Dancers ]
“มีใครเคยบอกมั้ยว่า…คุณมีใบหน้าที่งดงามราวกับภาพวาดของบอตตีเชลลี แถมรูปร่างยังถอดแบบมาจากงานของเดอกาส์”
ในพาร์ทสองของการแกะรอยความงาม จากประโยคจีบสาวในภาพยนตร์ The Pick-up Artist นี้ ผมจะพาทุกท่านเดินทางย้อนเวลาไปสู่กรุงปารีสในปี 1880 เพื่อพบกับชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศิลปินผู้เชี่ยวชาญในการวาดเรือนร่างของอิสตรี
พร้อมแล้วขึ้นไทม์แมชชีนมากับผมเลยครับ
[ สนทนากับเดอกาส์ ]
Café Guérbois, บ่ายวันอาทิตย์
แหล่งข่าวของผมบอกว่าบนถนน เดอ คลิชี (Avenue de Clichy) เป็นที่ตั้งของคาเฟ่แห่งหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่เรากำลังตามหาอยู่ รวมถึงเหล่าสหายของเขาที่ถูกขนานนามว่าเป็นศิลปินกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสต์ อย่าง เรอนัวร์, ปิซาร์โร, หรือแม้กระทั่งโมเนต์ มักจะไปที่นั่นเป็นประจำ
เพียงนึกถึงชื่อเหล่านี้ ก็ทำให้เลือดในกายของผมสูบฉีดด้วยความตื่นเต้น แต่วันนี้แม้ได้พบกับเขาเพียงคนเดียว การเดินทางย้อนเวลาของผมเที่ยวนี้ก็คงจะมีความหมายสุดประมาณ
ในที่สุดเวลาที่รอคอยก็มาถึง ไม่ผิดแน่…นั่นคือเขา ชายวัยสี่สิบกว่า ๆ ที่มีดวงตาเศร้าหม่น ใบหน้าที่ปกคลุมไปด้วยหนวดเครานั้น ดูเคร่งขรึมไม่ต่างจากชุดที่สวมอยู่
เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas)
[ นักเต้นรำ ]
The Dance Class (La Classe de Danse), 1873–1876
หลังจากการแนะนำตัวสั้น ๆ ผ่านล่ามที่จ้างมา ผมก็ได้เอ่ยคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจ
“ภาพของคุณมักจะมีนักบัลเล่ต์เป็นตัวเอกเสมอ สิ่งที่คุณสนใจมากที่สุดในตัวพวกเธอเหล่านั้น คืออะไรครับ”
รอยยิ้มที่มุมปากของเขาชวนให้รู้สึกอึดอัด บางทีผมอาจจะตั้งคำถามผิดไป
“สนใจงั้นเหรอ…ผมไม่ได้สนใจพวกเธอสักนิด ผมเพียงแต่สนใจการเคลื่อนไหวที่มันเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ”
“และภาพพวกนั้นก็ดันขายดีซะด้วย ดีจนพวกเขาไม่คิดจะซื้อภาพแบบอื่นบ้างเลย”
1
เสียงหัวเราะแค่น ๆ ของเขาทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาว่าเดอกาส์นั้นเกลียดการถูกนิยามว่าเป็นหนึ่งในศิลปินแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ และมักจะมองตนเองว่าเป็นพวกสัจนิยม (Realism) มากกว่า
หากจะมีอะไรที่เขาเห็นตรงกันกับเหล่าอิมเพรสชั่นนิสต์ นั่นก็คือความเชื่อที่ว่าภาพวาดนั้นควรสะท้อนถึงมุมมองและเรื่องราวในสังคมปัจจุบัน
Stage Rehearsal, 1878–1879
ภาพของเขามักจะจับเหตุการณ์ในชีวิตของคนธรรมดาที่ค่อนไปทางชนชั้นล่างของสังคม เช่น หญิงที่กำลังประกอบอาชีพช่างทำหมวก ทำงานซักรีด หรือแม้แต่นักเต้นบัลเล่ต์ในยุคนั้นก็ไม่ใช่อาชีพที่น่าชื่นชมนัก
“หากคุณอยากรู้ความจริง
ก็ไปที่ห้องหลังเวทีโอเปร่าสิ”
นั่นคือประโยคที่เขาทิ้งท้ายไว้ก่อนจะจากไป
และที่นั่น ผมก็ได้พบกับเธอ…เด็กสาวที่อายุสิบสี่ตลอดกาล
[ หลังเวทีโอเปร่า ]
Ballet Rehearsal, 1873
‘พวกหนูตัวเล็ก ๆ’ หรือ ‘Petit Rats’ คือชื่อที่พวกเขาเรียกบรรดาเด็กฝึกหัดในโรงเรียนปารีสโอเปร่า (Paris Opera Dance School)
ว่ากันว่าชื่อนี้มีที่มาจากเสียงปลายเท้าของพวกเธอในยามฝึกซ้อมบนห้องใต้หลังคาของโรงโอเปร่า
ในยุคสมัยของเรา เด็ก ๆ ที่เรียนบัลเล่ต์มักจะพอคาดเดาได้ว่ามาจากครอบครัวที่พอมีอันจะกิน ด้วยค่าเล่าเรียนนั้นก็ไม่ใช่น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะ บุคลิกภาพ หรือเน้นไปที่สายอาชีพโดยตรง
แต่ในปารีสช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไม่ใช่แบบนั้น
บัลเลต์มักจะเป็นเพียงการแสดงคั่นเวลาระหว่างที่รอชมโอเปร่า และในสายตาของผู้ชมเพศชายนั้นแทบจะไม่ต่างจากการดูคาบาเรต์ ที่สามารถจ้องมองท่อนขาอันเปลือยเปล่าของพวกเธอได้อย่างสบายอารมณ์
Musicians in the Orchestra, 1872
หลังเวทีโอเปร่าที่เดอกาส์กล่าวถึง คือห้องที่ตกแต่งไว้อย่างดี ซึ่งนอกจากจะเป็นที่สำหรับใช้ฝึกซ้อมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนขึ้นแสดงแล้ว มันยังเป็นเสมือนคลับที่บรรดา ‘สุภาพบุรุษ’ ที่ร่ำรวยมาหย่อนใจและสังสรรค์กับเหล่านักเต้นสาว ๆ
ภาพนักเต้นของเดอกาส์มักจะแสดงให้เห็นถึงมุมมองของเขาที่มีต่อสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเล่าเรื่องราวผ่านท่วงท่าที่พลิ้วไหว และฉากหน้าที่ดูสวยงามของพวกเธอ
ความจริงที่น่าเศร้าคือ ในยุคที่ผู้หญิงไม่มีทางเลือกในอาชีพมากนัก การเป็นนักเต้นบัลเลต์คือหนทางที่จะสร้างรายได้อย่างงาม และการโปรยเสน่ห์ให้กับบรรดาบุรุษที่มาเยือนโรงละครนั้นแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพ
หากพวกเธอโชคดีก็อาจจะได้รับการเลี้ยงดูและความช่วยเหลือด้านการเงินจากสุภาพบุรุษผู้ร่ำรวยเหล่านี้
Dancer with a Bouquet of Flowers (Star of the Ballet), 1878
มารี ฟาน โกเธ่ม (Marie van Goethem) คือหนึ่งใน ‘พวกหนูตัวเล็ก ๆ’ จากครอบครัวชั้นแรงงานที่ยากจน เธอก็เหมือนเด็กหญิงคนอื่น ๆ ที่มาฝึกหัดเรียนบัลเลต์เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว
เธอคือเด็กสาวที่อยู่ในภาพมากมายของเดอกาส์ ในระหว่างที่เธออายุ 13 – 16 ปี
โดยงานชิ้นที่ทำให้โลกรู้จักเธอในฐานะ ‘นักเต้น’ กลับไม่ใช่ภาพวาด แต่เป็นงานปั้นที่เดอกาส์สร้างขึ้นจากขี้ผึ้งอันมีชื่อว่า “Little Dancer of Fourteen Years” และเป็นงานปั้นเพียงชิ้นเดียวที่ได้รับการจัดแสดงในช่วงชีวิตของเขา
Little Dancer of Fourteen Years คือหนึ่งในงานศิลปะที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด
สีหน้าที่แสดงถึงความดื้อดึงปนเศร้าหมองของเด็กสาววัยสิบสี่ที่ดูราวกับถูกบังคับ บอกเล่าเรื่องราวของความเป็นจริงของสังคมที่อยู่เบื้องหลังภาพอันสวยงามของนักเต้นบัลเลต์ในยุคนั้น
Little Dancer of Fourteen Years Cast posthumously in 1922 from a mixed-media sculpture modeled c. 1879–1880
[ บทสรุป : จากบอตตีเชลลี ถึงเดอกาส์ ]
การขึ้นไทม์แมชชีนเพื่อแกะรอยครั้งนี้ ทำให้ผมค้นพบเรื่องราวที่ลึกซึ้งมากกว่าที่คิด
ภาพวาดนักเต้นบัลเล่ต์ในชุดกระโปรงพองฟูภาพแล้วภาพเล่าของเดอกาส์ ล้วนจับช่วงเวลาการเคลื่อนไหว และรูปร่างท่วงท่าที่งดงาม แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ไม่จีรัง รวมถึงความจริงเบื้องหลังนั้นอาจจะไม่สวยงามอย่างที่คิด
เช่นเดียวกับความงามแบบอุดมคติของบอตตีเชลลี ที่สุดท้ายแล้วอาจจะเป็นเพียงความเชื่อในแบบโรแมนติกของผู้คนในยุคนั้น
รูปลักษณ์ภายนอกล้วนมีวันโรยรา
แต่คุณค่าของการกระทำในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่นั้นคงอยู่นิรันดร์
"Do you realize
that you have the most beautiful face
Do you realize we're floating in space,
Do you realize that happiness makes you cry
Do you realize that everyone you know someday will die"
"And instead of saying
all of your goodbyes, let them know
You realize that life goes fast
It's hard to make the good things last
You realize the sun doesn't go down
It's just an illusion caused by the world spinning round"
🎵 ฟังเพลง "Do You Realize??" (2002)
โดย The Flaming Lips ได้ที่นี่ 👇
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้เป็นข้อมูลจริงผสมส่วนที่แต่งขึ้นเพื่ออรรถรสในการนำเสนอ
แล้วพบกันใหม่ในชมรมศิลปะนอกเวลาครั้งหน้าครับ
photo : Wikimedia commons

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา