6 ก.ค. 2020 เวลา 07:06
จริงหรือไม่ที่มะพร้าวไทยใช้งานลิงปีนเก็บทั้งหมด?
หลังอังกฤษ สหรัฐฯ ดัตช์ แบนกะทิไทย อ้างทรมานลิง
กลายเป็นประเด็นกระทบอุตสาหกรรมส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยไปเสียแล้ว เมื่อห้างค้าปลีกในอังกฤษ สั่งแบนผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยซึ่งรวมไปถึงกะทิ ที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่สัดส่วนการส่งออกสูงที่สุด เพราะประเทศเหล่านี้เชื่อว่า ประเทศไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวต่อวันเป็นพัน ๆ ลูก ถือเป็นการใช้แรงงานสัตว์ และทรมานสัตว์ ซึ่งล่าสุดไม่ใช่แค่อังกฤษประเทศเดียวที่แบน เพราะเริ่มลามไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ก็เอาด้วยเช่นกันอย่าง สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์
จริง ๆ แล้วเรื่องลิงเก็บมะพร้าวกับการโดนต่างชาติจ้องหาเรื่องแบนสินค้าจากไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มันมีข่าวออกมาแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป็นกระแสอยู่พักหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป พอผ่านเวลาไปก็มีคนจุดกระแสนี้ขึ้นมาอีกเหมือนคราวนี้ ซึ่งเบื้องต้นที่ประเทศออกโรงจะมีการแบนสินค้าไทยก็มักจะยิบยกเรื่องทำนองนี้มาเป็นข้ออ้าง แต่ลึก ๆ แล้วไม่มีใครรู้ว่าการกดดันนี้มีเหตุผลอื่นใดแอบแฝงแทนหรือไม่?
ย้อนกลับมาที่อุตสาหกรรมการผลิตจากมะพร้าวของไทยว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงอย่างที่ต่างชาติโจมตีหรือไม่ ในตรงส่วนนี้จะขออธิบายอย่างละเอียดแต่เข้าใจง่ายที่สุด ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีการส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกถึง 1.01 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกมากถึง 15,000 ล้านบาท (ปี 2018) โดยผู้ส่งออกรายใหญ่ประเทศอื่น ๆ ที่เรียงตามลำดับได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย บราซิล ศรีลังกา เวียดนาม ปาปัวนิวกินี ไทย และมาเลเซีย
แต่ในทางกลับกันแม้ไทยจะส่งออกมะพร้าวเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวอย่างกะทิ ถือว่ามีสัดส่วนการส่งออกมาที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดของกะทิทั่วโลกถึง 40% และ 75% ของผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ส่งออกคือกะทิ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 12,000 ล้านบาท สหรับตลาดส่งออกของไทยที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และจีน
ในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าจากมะพร้าวประเทศไทยต้องใช้ปริมาณมะพร้าวสูงถึงวันละ 1 ล้านลูก โดยข้อมูลจากผู้ผลิตกะทิรายใหญ่ของประเทศระบุว่า จำนวนของมะพร้ามที่ได้จากสวนมะพร้าวในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตในระบบ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้ามะพร้าวจากทั้งอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนราว 30 – 40% ของมะพร้าวทั้งหมด ดังนั้นการที่จะใช้ลิงเก็บมะพร้าวทั่วประเทศให้ได้เฉลี่ย 600,000 ลูกต่อวัน อาจฟังดูเกินจริงมากเกินไป และคงไม่มีทางเก็บได้ทันต่อการป้อนสายพานการผลิตอย่างแน่นอน
อีกทั้งในปัจจุบันจึงมีการพัฒนามะพร้าวสายพันธุ์เตี้ยขึ้นมาเพื่อให้คนงานหรือเครื่องจักรสามารถเก็บมะพร้าวได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องใช้ลิงปีนขึ้นไปบนต้นมะพร้าวสูงๆ ซึ่งใช้เวลานานกว่าเพียงอย่างเดียว
ที่สำคัญคือข้อมูลที่หน่วยงานอย่าง องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม ‘People of the Ethical Treatment of Animals’ หรือ PETA ที่ออกมาอ้างว่าได้มีการลงพื้นที่ไปยังสวนมะพร้าว 4 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงลิง 8 แห่ง แล้วบอกว่ามีการบังคับให้ลิงเก็บมะพร้าววันละ 1,000 ลูกนั้น ก็อาจจะฟังดูเกินจริงไปหรือไม่ เพราะสวนมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว ส่วนใหญ่ก็คงเป็นสวนของชาวบ้านรายย่อยธรรมดาที่ไม่ได้มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวได้มากขนาดนั้น และจากประสบการณ์ที่ตัวผู้เขียนเคยสัมผัสชีวิตของชาวสวนมะพร้าวที่มีลิงเก็บมะพร้าวนั้น ตามธรรมชาติของสัตว์ก็ต้องมีเหนื่อยมีพัก มีงอแง มีเล่น เป็นธรรมดา เมื่อสัตว์ทำงานไปสักระยะก็ต้องมีการพัก พอหายเหนื่อยก็ทำงานต่อ เหมือนกับมนุษย์
ส่วนคลิปวีดีโอที่ PETA นำมาเผยแพร่ว่ามีการกักขังลิง มีการล่ามโซ่ มันอาจไม่สามารถตอบได้ทั้งหมดว่ามันคือภาพสะท้อนของทั้งประเทศได้ เพราะภาพที่ PETA สื่อนั้นก็มีความตั้งใจที่จะ “ขายดราม่า” เพื่อเรียกร้องให้คนสนใจรับชม ซึ่งเป็นวิธีการนำเสนอตามหลักการผลิตสื่ออยู่แล้ว ที่ต้องทำให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมให้ได้ โดยก่อนหน้านี้ PETA เองก็เคยโดนแหกอกฉีกหน้า มาหลายต่อหลายครั้งเพราะการไปกล่าวหาแบบเหมารวมเรื่องของวัฒนธรรมระหว่างคนกับสัตว์ในท้องถิ่นของประเทศอื่น ๆ แบบไม่เข้าใจถึงวิถีชีวิตอย่างแท้จริงมาแล้ว
1
อีกอย่างวีรกรรมของ PETA เองก็สร้างเอาไว้มากมาย ถ้าสนใจลองคนหาคำว่า PETA scandals เพราะองค์กรนี้มักผลิตสื่อออกมาเพื่อสร้างกระแสบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการเล่นงานในประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา แต่กับเรื่องใหญ่ ๆ อย่างอุตสาหกรรมวัวนมที่ต้องบังคับทำให้แม่วัวท้องคลอดลูกทั้งปีทั้งชาติ เพื่อจะได้มีน้ำนมให้รีดตลอดเวลา หรืออุตสาหกรรมเพาะพันธุ์สุนัขและแมวที่ต้องกำจัดลูกขอสัตว์เหล่านี้ที่ขายไม่ออกทิ้งไป PETA กลับเงียบเฉย
ตัวอย่างที่ PETA โดนเปิดโปงเช่น มีเจ้าหน้าที่ของ PETA ได้สังหารสุนัขและแมวไปกว่า 14,000 ตัว ระหว่างปี 1998 - 2005 ในสหรัฐฯ และมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งผู้กระทำอ้างว่าเป็นการทำการุณฆาตทั้งที่ตนเองเปิดขอบริจาคเงินเพื่อดูแลสัตว์ที่ป่วยเหล่านี้
กลับไปดูที่สถานการณ์ในอังกฤษกันบ้าง จริง ๆ แล้วเรื่องดังกล่าวนี้ก็ใช้ว่าจะมีผู้ประกอบการค้าปลีกเห็นด้วยไปหมดเสียทุกราย เพราะแม้ว่าห้างค้าปลีก 4 แห่งจะเห็นด้วยในการไม่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย แต่ว่าห้างค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Tesco ก็ยังไม่ได้มีการนำสินค้าจากมะพร้าวของไทยลงจากชั้นวาง ตามที่ แคร์รี ไซมอนด์ส คู่หมั้นนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันแห่งอังกฤษ เรียกร้องผ่านทวีตเตอร์ให้ทำตามที่ขอเพราะ Tesco เองก็มีเหตุผลว่า
“ผลิตภัณฑ์น้ำกะทิและน้ำมะพร้าวยี่ห้อที่บริษัทวางขายอยู่ ไม่ได้ใช้แรงงานลิงในการผลิต”
ประกอบกับมุมมองที่น่าสนใจของนักวิชาการอย่าง Leslie Sponsel ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาย และภรรยาคือ ดร. Poranee Natadecha-Sponsel ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับลิงในประเทศไทยและตีพิมพ์บทความในหัวข้อนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับ NPR ว่า ในช่วงเวลาที่เราอยู่ที่ภาคใต้ของไทย เราไม่เคยสังเกตหรือได้ยินเรื่องความโหดร้ายหรือการใช้ลิงในทางที่ผิด แน่นอนว่าลิงนั้นมีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงในครอบครัว และในบางครอบมันเป็นเหมือนกับสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวในระดับหนึ่ง มันได้รับการดูแลฝึกฝนเหมือนกับเด็ก ๆ มีการอาบน้ำเป็นอย่างดี พวกเขามักพามันนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์หรือรถเข็นพ่วงข้างเพื่อไปยังสวนมะพร้าว
ดังนั้นชาวตะวันตกจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องลิงเก็บมะพร้าวเสียใหม่ อย่างแรกต้องเลิกคิดว่าคนไทยไปขโมยลิงจากป่ามาอย่างเดียวเพราะยังมีลิงใกล้ ๆ ชุมชนมากมายให้เลือกใช้ อย่างที่สองต้องเข้าใจว่าการใช้งานลิงก็เหมือนกับที่ชาวตะวันตกใช้งานสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ถึงขั้นทารุณด้วยซ้ำ เช่น สุนัขเลี้ยงแกะ การเลี้ยงโคนมในอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติต่อวัวอย่างโหดร้าย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็มีการเชื่อมโยงมุมมองได้หลากหลายมุม หลายคนมองว่าการที่จู่ ๆ อังกฤษออกมาแบนมะพร้าวไทยนั้น อาจจะเป็นการพยายามโชว์ว่าตัวเองมีอำนาจในฐานะมหาอำนาจเก่าแก่ ที่ต้องการมีบทบาทหลังเพิ่งเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดที่เข้าร่วมกับ CPTPP เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และพยายามทำให้ตัวเองดูเป็นผู้มีบารมีในการแสดงออกเพื่อกดดันประเทศต่าง ๆ เหมือนญี่ปุ่นที่ออกมากดดันไทยให้เข้าร่วม CPTPP มิฉะนั้นจะขู่ย้ายฐานการลงทุนออกจากไทยไปประเทศอื่น ๆ แทน ทั้ง ๆ ที่หลายบริษัทของญี่ปุ่นเพิ่งเลือกโยกฐานการผลิตกลับมาไทย เพราะก็หนีตายจากประเทศอื่นที่เคยไปลงทุน
อีกอย่างอังกฤษเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 21 ของไทย (อันดับที่ 2 ในอียู รองจากเยอรมนี) มีมูลค่าการค้ากับไทยปี 2562 อยู่ที่ 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 194,413 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าอังกฤษที่ 1,426 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 44,286 ล้านบาท
และหากชาติตะวันตกคิดจะแบนมะพร้าวของไทยเพราะกล่าวหาว่าใช้ลิงปีนเก็บมะพร้าวเป็นการทรมานสัตว์ ถ้าจะทำในมาตรฐานเดียวกันก็ต้องเลิกใช้ฝูงสุนัขไล่เลี้ยงต้อนปศุสัตว์ในฟาร์ม เลิกขี่ม้าในกีฬาโปโล เลิกนำสุนัขมาใช้ลากเลื่อนในเขตทุ่งน้ำแข็ง เลิกการแข่งขันมาธาดอร์สู้วัวกระทิง หรือเลิกทำฟาร์มตับห่านที่ต้องกรอกอาหารใส่ปากพวกมันอย่างทรมานเพื่อให้ได้ตับห่านรสเลิศอย่างที่มนุษย์ต้องการจนมันไขมันพอกตับ หรือท้องแตกตาย ซึ่งดูแล้วก็ทรมานสัตว์ยิ่งกว่าเป็นไหน ๆ
แต่เอาเป็นว่าล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์จะมีการให้ทูตไทยในประเทศที่มีข้อครหาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องมะพร้าวไทย รวมทั้งถ้าข้องใจกระบวนการเก็บมะพร้าวก็จะเชิญทูตแต่ละประเทศมาดูกระบวนการเก็บมะพร้าวที่สวนให้เห็นกับตาเลย จะได้ไม่ “มโน” ว่าการแสดงละครลิงเก็บมะพร้าวหรือลิงขี่จักรยานโชว์นั้นเป็นภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจากมะพร้าวไปเสียทั้งหมดนั่นเอง
1
แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้ก็เป็นเพียงแค่การแสดงออกของภาคเอกชนอังกฤษที่ตอบสนองการทวีตข้อความของแคร์รี ไซมอนด์ส ไม่ได้เป็นนโนบายที่ประกาศออกมาจากทางรัฐบาลโดยตรง ก็อาจจะยังไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด
สุดท้ายขอตั้งคำถามไปยัง คู่หมั้นนายกรัฐมนตรีอังกฤษด้วยว่า มีโลกทัศน์กว้างไกลเพียงพอที่จะเห็นข้อมูลด้านอื่น ๆ อย่างแท้จริงหรือไม่ จริงอยู่ที่เธอเองก็เป็นนักอนุรักษ์ และออกมาทวีตของความเชิญชวนให้ห้างร้านค้าปลีกในอังกฤษแบนสินค้าจากมะพร้าวของไทย เพียงเพราะดูคลิปของ PETA
หรือจะเป็นเหมือนกับประชาชนชาวอังกฤษที่ทำแบบสอบถามล่าสุดของมหาวิทยาลัย Kings College ในลอนดอน พบว่าคนที่รับข่าวสารส่วนใหญ่เชื่อว่า ไวรัสโควิด – 19 ไม่มีจริง และเครือข่ายโทรคมนาคม 5G คือสาเหตุของการระบาดของไวรัส เพราะเชื่อมาจากจากโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter และ Youtube นั่นเอง
โฆษณา