6 ก.ค. 2020 เวลา 08:01 • ประวัติศาสตร์
“มารี อองตัวเน็ตต์” ราชินีผู้เลวร้ายจริงหรือ? หรือแค่แพะรับบาปของกระแสความเกลียดชังที่โดนปลุกปั่น!?
ขอกราบสวัสดีพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกท่าน วันนี้กระผมมีเรื่องราวของสตรีคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากความรู้เท่าที่ทุกท่านได้ยินเพียงผ่าน ๆ นั่นก็คือ “พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ราชินีคนสุดท้ายแห่งฝรั่งเศส”ในสายตาของหลายคนอาจจะคิดว่าพระนางเป็นราชินีนิสัยไม่ดี ผู้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายไม่เห็นแก่ประชาชนที่ยากจน ถึงขนาดเมื่อไม่มีขนมปังก็ไล่ให้พวกเขาไปกินเค้กแทน และยังมีข่าวอื้อฉาวอีกมากมาย บ้างก็ว่าพระนางเป็นเพียงหญิงโง่ที่ทำตัวไม่ถูกทั้งที่มีตำแหน่งหน้าที่อันยิ่งใหญ่ จนต้องพบจุดจบ แต่ก็มีอีกกระแสหนึ่งแย้งว่าพระนางเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองไร้ซึ่งทางออก และพระนางไม่สมควรจะพบจุดจบเช่นนั้นแต่แรกแล้ว
 
แล้วความจริงเป็นเช่นไร
 
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับตัวพระนางกันก่อน
เนื่องจากประวัติของพระนางนั้นยาวมากและบางเวอร์ชั่นอาจจะเล่าแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ก็พอจะสรุปได้ดังนี้
พระนางในช่วงวัยเยาว์
- พระนางประสูติวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 ในฐานะธิดาของจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งทัสกานี (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระราชินีนาถแห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก) ง่าย ๆ คือพระนางเกิดในฐานะคนออสเตรีย มิใช่คนฝรั่งเศสโดยกำเนิด
- พระนามประสูติของพระนางคือ Maria Antonia Josepha Johanna
 
- พอพระนางมีพระชนมายุได้ 14 ชันษา พระนางได้ถูกสู่ขอให้ไปอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส (พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในเวลาต่อมา)
ทว่าฝ่ายฝรั่งเศสบางส่วนที่คัดค้านการอภิเษกสมรสครั้งนี้ได้ริเริ่มคำเรียกพระนางว่า “ผู้หญิงออสเตรีย” ในฐานะคำสบประสาท (เนื่องจากแต่เดิมฝรั่งเศสและออสเตรียเป็นปฏิปักษ์กัน การแต่งงานนี้จึงมีขึ้นหมายจะสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ)
 
-ทางฝรั่งเศส จัดขบวนต้อนรับเจ้าสาวโดยมี “คาร์ดินัล เดอ โรออง” (Louis René Édouard de Rohan known as Cardinal de Rohan)เป็นหัวหน้าคณะ ขณะกล่าวต้อนรับ โรอังได้ใช้ภาษาเยอรมัน (ภาษทางการของออสเตรีย) แต่เจ้าหญิงทรงตรัสตอบว่า
“ใช้ภาษาฝรั่งเศสกับเราก็ได้ เพราะเราพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดีเท่าพวกท่าน”
นั่นเป็นเสน่ห์แรกที่ทำให้ประชาชนฝรั่งเศสประทับใจในตัวเจ้าหญิง
 
- เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) เจ้าหญิงได้ประกาศสละสิทธิ์ในการเป็นอาร์ชดัชเชสของราชสำนักออสเตรียอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ที่พระราชวังแวร์ซาย ได้รับพระนามใหม่คือ Marie Antoinette
 
- หลังจากนั้นชีวิตของพระนางมิได้ราบรื่นเท่าที่ควร มีการปรับตัวหลายอย่างเนื่องจากความแตกต่างระหว่างธรรมเนียมออสเตรียกับฝรั่งเศส พระนางต้องเผชิญปัญหาดราม่ามากมายนับต่อจากนี้ พระนางต้องทนทุกข์กับการปรับตัวเข้ากับพระราชพิธี และขนบประเพณีแบบฝรั่งเศส ทำให้แท้ที่จริงพระนางทรงไม่สบายใจกับการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้าง ไหนจะพระสวามีอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ถูกสอนให้รังเกียจออสเตรียเช่นกันก็ไม่แคล้วตีตนออกห่างจากพระนาง โดยการหนีไปออกป่าล่าสัตว์แต่เช้าตรู่ (ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2316)
 
นอกจากนี้ยังต้องเผชิญปัญหามากมายที่หญิงชนชั้นสูงคนนึงจะได้ประสบพบเจอ ไม่ว่าจะเรื่องข่าวลืออื้อฉาว การแบ่งพรรคแบ่งพวกและดึงตัวเข้ากลุ่ม
 
- หนึ่งในเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ มาดามดู บาร์รี (Jeanne Bécu, comtesse du Barry) พระสนมเอกคนสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ว่ากันว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ว่ากันว่าต้นเหตุความบาดหมางมาจากการยุแยงตะแคงรั่วโดยพระขนิษฐาทั้งสามของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่ไม่ชอบหน้ามาดามดู บาร์รีเนื่องจากเป็นโสเภณีมาก่อน จึงยุยงให้พระนางมารี อองตัวเน็ตต์เกลียดพระสนมพระองค์นี้ไปด้วย จนถึงขั้นพระนางมาเรีย เทเรซ่า แห่งออสเตรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ต้องส่งสาล์นมาตำหนิให้พระธิดาทำดีกับมาดามดู บาร์รีบ้าง
 
- อย่างไรก็ตาม แม้พระนางจะได้ชื่อว่ารักสนุก รักอิสระ และวัน ๆ อยู่แต่กับเรื่องไร้สาระอย่างการเที่ยวใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ชอบเล่นการพนันขันต่อ แต่งตัวแฟชั่นใหม่ ๆ และจัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะพระนางต้องการระบายความเครียดจากเรื่องราวต่าง ๆ ในพระราชวัง ไม่ว่าจะเรื่องการที่พระสวามีไม่ค่อยสนใจตนเองเท่าที่ควร เรื่องอื้อฉาวในราชสำนัก และข่าวลือไม่มีมูลต่าง ๆ มากมาย หลายครั้งพระนางทรงเบื่อหน่ายจนถึงขั้นอยากเป็นสามัญชนมากกว่าชนชั้นสูงเสียอีก
ในภาพนี้ พระนางทรงแต่งกายแบบสามัญชนที่ยากจน จะเห็นได้ว่าพระนางทรงเทิดทูนดอกกุหลาบมากกว่าเครื่องเพชร พระรูปนี้พระนางมิได้ใส่ฉลองพระศอเลยแม้แต่เส้นเดียว ทรงฉลองเพียงพระมาลา(หมวก)เท่านั้น แต่ก็มิได้เป็นพระมาลาที่หรูหราเท่าใดเลยสำหรับตำแหน่งพระราชินี
- ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่แท้ที่จริง ลักษณะนิสัยส่วนพระองค์ของพระนางนั้นแทบจะคนละเรื่องกับที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ พระนางเป็นสตรีที่นิสัยใจคอค่อนไปทางดี และแท้ที่จริงพระนางก็เห็นแก่ประชาชน มีบันทึกว่าเมื่อมีประชาชนบาดเจ็บขวางทางราชรถ พระนางสั่งให้ราชรถหยุดและให้ตามหมอมา พระนางทรงไม่ยอมเคลื่อนย้ายราชรถไปไหนจนกว่าจะแน่ใจว่าประชาชนคนนั้นได้รับการรักษาแล้ว และนอกจากนี้พอผู้คนร้องเรียนเรื่องเหยี่ยวของพวกชาววังเข้าไปทำลายพืชสวนไร่นาของประชาชน พระนางก็ได้สั่งให้ดำเนินการจัดการเหยี่ยวพวกนั้น (น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครทำตาม เพราะแต่เดิมราชสำนักฝรั่งเศสอัญเชิญพระนางมาเพียงเพื่อต้องการให้กำเนิดรัชทายาทเท่านั้น)
- เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2317 (ค.ศ. 1774) พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสเสด็จสวรรคต และพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ได้ทรงขึ้นเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศส ทว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2320 (ค.ศ. 1777) เป็นต้นมา กระแสต่อต้านพระนางเริ่มแพร่สะพัด พระนางถูกรายล้อมด้วยพระสหายสนิทจำนวนหนึ่ง (เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ บารอนแห่งเบอซองวาล ดยุกแห่งควงยี รวมถึงโยลองด์ เดอ โปลาสตรง กับเคาน์เตสแห่งโปลินยัก) ซึ่งสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่นางสนมคนอื่น ๆ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าพระนางได้สั่งแต่งตั้ง โยกย้าย และปลดขุนนางตามอำเภอใจเป็นว่าเล่น ทว่าในข้อมูลบางแหล่งกลับบอกว่า บทบาททางการเมืองของพระนางค่อนข้างจำกัดมาก และแทบไม่มีอำนาจใด ๆ มากนัก
- คดีเรื่องสร้อยพระศอ ถือเป็นเรื่องที่รู้กันมากที่สุดว่าทำลายชื่อเสียงของพระนางได้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2328 (ค.ศ. 1785) ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวในคดีสร้อยพระศอของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ เมื่อนายโบห์แมร์ ช่างเพชรได้เรียกร้องเงินจำนวน 2,000,000 livres (ตีเป็นประมาณ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 แต่แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุจำนวนเงินไม่เท่ากัน) จากองค์ราชินี เป็นค่าสร้อยคอเพชรที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของราชินี มารี อองตัวเน็ตต์ ทว่าพระนางมิได้ทรงรู้เรื่องมาก่อน และพระนางก็ปฏิเสธไม่ยอมซื้อมันเสียด้วย
 
เรื่องของเรื่องก็คือ แต่เดิมมาดามดู บาร์รี ได้อ้อนวอนขอ “เครื่องเพชรที่แพงที่สุด” ในโลกจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระองค์จึงสั่งให้มีการรวบรวมเพชรเม็ดโต ๆ มาให้ช่างฝีมือด้านเพชรนาม “โบห์แมร์” เป็นคนทำสร้อยคอขึ้นมา ทว่าพอสร้อยคอเสร็จ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ก็ดันสวรรคตไปเสียก่อน แถมมาดามดู บาร์รี ก็ยังลี้ภัยออกจากราชสำนักไปเนื่องจากไม่เป็นที่ชื่นชอบ (เพราะเป็นโสเภณีเก่า)
 
พอคนจ้างกับคนขอไม่อยู่แล้ว ทีนี้นายโบห์แมร์ก็เป็นหนี้ก้อนโตสิ เล่นลงทุนทำไปตั้งเยอะ เขาก็เลยคิดหาทางออกโดยการขายมันให้กับพระราชาและพระราชินีองค์ใหม่แทน แต่แม้จะถูกปฏิเสธ มันก็ดันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องที่แย่กว่านั้น
 
เนื่องจากมีคนต้องการสร้อยเส้นดังกล่าวมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ มาดาม ยีน เดอ ลาม็อตต์ (Jeanne de Valois-Saint-Rémy, comtesse de La Motte) ภรรยาของ Nicholas de la Motte ซึ่งแท้ที่จริงเป็นพวกนักต้มตุ๋นแฝงตัวในหมู่ชนชั้นสูง
 
มาดามเดอ ลาม็อตต์รู้จุดอ่อนของพระคาร์ดินัล เดอ โรออง ว่าแอบหลงรักพระนางมารี อังตัวเน็ตต์มาตั้งแต่ตอนร่วมขบวนส่งตัวพระนางแล้ว แต่พระนางดันไม่เล่นด้วย (เนื่องจากพระคาร์ดินัลเคยพยายามจะขัดขวางการแต่งงานของพระนาง และยังเป็นที่รู้กันว่าคาร์ดินัลองค์นี้ชอบใช้ชีวิตเสเพลไม่สมกับเป็นนักบวช) มาดามเดอ ลาม็อตต์จึงไปหลอกพระคาร์ดินัลว่า จริง ๆ พระนางมารี อังตัวเน็ตต์อยากได้สร้อยเส้นนั้นแต่ไม่กล้าซื้อเพราะมันแพง
 
ไม่ใช่แค่หลอกธรรมดา ๆ แต่มาดามเดอ ลาม็อตต์ยังถึงขั้นให้คนช่วยปลอมจดหมาย ปลอมลายเซ็นของพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ หรือแม้กระทั่งให้ Nicole le Guay d'Oliva โสเภนีที่มีหน้าตาคล้ายองค์ราชินีมาหลอกนัดพบกับโรอองในตอนกลางคืนอีกด้วย และแล้วก็สำเร็จ พระคาร์ดินัลยอมจ่ายเงินซื้อสร้อยนั้นเต็มที่โดยกะว่าเดี๋ยวไปทวงกับพระนาง(ตัวจริง) ทีหลัง
 
พอถึงเวลา เรื่องก็แดงสิครับ เรื่องถึงขั้นการพิจารณาคดี โรอองเองก็ยังดีที่รอดตัวเพราะตกเป็นเหยื่อผู้เสียหายจากการหลอกลวงก็เลยยังได้ถูกปล่อยตัวแต่ก็อยู่แถววังต่อไปอีกไม่ได้ เนื่องจากทำให้พระนางโกรธแล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงเนรเทศเขาไปยังที่พักส่วนตัวทางตอนใต้ แต่ก็นับว่ายังโชคดี เช่นเดียวกับโสเภนีที่พ้นผิด แต่สามีของมาดามเดอ ลาม็อตต์นั้นถูกตัดสินว่าผิดจริงและถูกเนรเทศ ตัวนางเองก็ถูกตัดสินว่าผิดเต็มประตู ถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน ตีตราตัว V บนอก (มาจาก voleuse ที่แปลว่า “โจร” และถูกส่งตัวเข้าคุกตลอดชีวิต (แต่สุดท้ายมาดามลาม็อตต์ก็แหกคุกหนีไปอยู่ลอนดอน และเขียนบันทึกให้ร้ายพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ไม่เลิก จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อพลัดตกจากหน้าต่างขณะหลบหน้าเจ้าหนี้)
 
กลับมาที่ตัวพระนางมารี อองตัวเน็ตต์เอง แน่นอนว่าความจริงพระนางต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และผู้เสียหายในคดีนี้ ซึ่งการดำเนินคดีและเปิดโปงความจริงทั้งหมดก็ชัดเจน แต่ทว่า….. ดันกลายเป็น “ประชาชนทั้งหลายของพระนางกลับไม่ยอมเชื่อ” เสียนี่ พวกเขายังคงหลงเชื่อว่าคู่สามีภรรยาเดอ ลาม็อตต์เป็นคนดีและบริสุทธิ์แต่ถูกพระนางกลั่นแกล้งเสียอย่างนั้น….
 
จากเรื่องนี้ พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ได้ทราบถึงชื่อเสียงที่เสื่อมเสียของตนเองในที่สุด จึงได้พยายามตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าปรับปรุงพระตำหนักของพระนาง ทว่านั่นกลับก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวระลอกใหม่ขึ้นในพระราชวัง พระนางทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ พระนางยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป และได้รับการขนานพระนามว่า "มาดามหนี้ท่วมหัว" (Madame Deficit) ทั้งพระนางยังคงถูกกล่าวหาอีกหลายเรื่องไม่รู้จบ
- ด้วยการที่พระนางถูกมองในฐานะ "ผู้หญิงออสเตรีย" มาแต่แรก จึงทำให้มีผู้ไม่หวังดีคอยปลุกปั่นให้ผู้คนทุกระดับเกลียดชังพระนาง เรียกได้ว่าแค่การเกิดเป็นคนจากชาติศัตรูเก่า และโหมกระแสสักหน่อย ไม่ว่าจะกล่าวหาว่าพระนางเป็นแม่มด ผีห่าซาตานชอบกินเนื้อเด็กก็ดี หรือเป็นชู้กับใคร เป็นพวกรักร่วมเพศ ฯลฯ ทุกคนในฝรั่งเศสก็พร้อมจะเชื่อโดยไม่พินิจพิจารณาข้อเท็จจริงใด ๆ แล้ว
การปฏิวัติอเมริกา
-สาเหตุสำคัญที่แท้จริงของการล่มสลายทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างแท้จริงนั้น ที่จริงหาใช่การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของพระนางคนเดียวแต่อย่างใดไม่ (นักประวัติศาสตร์ยุคหลัง ๆ แย้งว่า เชื้อพระวงศ์ฝรั่งเศสคนอื่นใช้จ่ายเยอะกว่าพระนางเสียอีก) แต่สุดท้ายแล้ว ก็หาเทียบได้กับ "สงครามปฏิวัติอเมริกา" ไม่ สงครามครั้งนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระสวามีของพระนาง ได้ส่งคนเข้าไปช่วยอเมริกาที่เป็นพันธมิตร แถมดื้อด้านไม่ยอมถอนกำลังกลับสักที (ทั้งที่ประเทศตัวเองยังจะเอาตัวไม่รอด)
- ซึ่งพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ที่ทรงลี้ภัยไปหาความสงบสุขกับโอรสธิดาในตำหนักเล็ก( (Petit Trianon) ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวหรือรู้เรื่องอะไรด้วยเลย เพราะหน้าที่การเมืองการปกครองในสมัยนั้นเป็นของผู้ชาย
- พอการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้น มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่การทลายคุกาสติลล์ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงขาดความสามารถในการจัดการเรื่องต่าง ๆ พระนางจึงต้องออกว่าราชการแทน พระนางได้พยายามเต็มที่ที่จะปกป้องครอบครัวของพระนางและสถาบันกษัตริย์
- สังเกตว่าพระนางในช่วงนี้มีความคิดอ่านเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เข้าใจปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ใช้เงินฟุ่มเฟือยน้อยลง ข้อมูลเพิ่มเติมทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยใหม่ระบุว่า พระนางได้เก็บเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้อุทิศให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ และยังคอยรับอุปการะเด็กกำพร้ามากมาย(ซึ่งจริง ๆ พระนางเริ่มทำตั้งแต่ก่อนมีพระธิดาองค์แรกแล้วด้วยซ้ำ และยังคงทำต่อไป) และยังใช้เงินท้องพระคลังช่วยเหลือเหล่าผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ที่เหยียบกันตายสมัยพระนางเปิดตัวใหม่ ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย
นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า พระนางจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดีกว่าพระสวามีด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็ไม่แคล้วถูกรังเกียจขึ้นไปอีก เพียงเพราะการเป็นสตรีที่เข้ามายุ่งกับงานของพวกผู้ชาย
- คงจะมีเพียงราชรถของพระนางกับพระสวามีเท่านั้นที่พยายามจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ทับไร่นาของประชาชน ในขณะที่ขุนนางและราชวงศ์คนอื่น ๆ มิค่อยใส่ใจนัก และมีคนกล่าวว่า พระนางเป็นผู้ริเริ่มการจ่ายค่าตอบแทนแก่ประชาชนที่ทำงานในวัง (จากเดิมถูกใช้งานฟรีตลอด)
- แต่น่าเสียดายไม่ว่าจะพยายามทำดียังไง ก็มิอาจสู้กระแสความเกลียดชังที่พวกปฏิวัติพยายามกรอกหูประชาชนทุกวี่ทุกวันได้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เองก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ชาววังจำนวนมากหลบหนี แต่พระนางและพระสวามีรวมถึงลูก ๆ ทั้งสองหนีช้ากว่าที่ควร ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดและถูกคณะปฏิวัติจับตัวได้ในที่สุด
 
- เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม สภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสได้ลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม "มักซีมีเลียง รอแบสปีแยร์" ผู้นำกลุ่มหัวรุนแรงยื่นร้องให้จัดการกับราชินีอีกพระองค์ด้วย
 
วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมาร (พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 ในอนาคตแต่ก็เป็นเพียงแค่ในนาม)ก็ถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า และในวันที่ 2 สิงหาคม ก็ถึงคราวที่พระนางมารี อ็องตัวเน็ตต์ถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิงและนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส การไต่สวนพระนางจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น
ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า พระนางพยายามขอร้องไม่ให้พรากบุตรชายของพระนาง จนสาเหตุที่ทำให้พระนางยอมปล่อยมือก็คือ พวกปฏิวัติขู่ว่าจะฆ่าพระธิดาองค์โตของพระนางอีกคนถ้าไม่ยอม
 
- ในระหว่างการไต่สวน มีข้อมูลหลายแหล่งบันทึกไว้มากมาย แต่ส่วนมากหลัก ๆ คือข้อหากบฏ กล่าวหาว่าพระนางและพระสวามีต้องการขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นเพื่อกลับมาโจมตีฝรั่งเศส นอกจากนี้เนื้อหาที่อดไม่ได้ที่จะพูดถึงคือ ในระหว่างนั้น พวกคณะปฏิวัติพยายามใส่ร้ายพระนางว่ามีอะไรกับพระราชโอรสของพระนางเอง แถมยังใช้การทรมานบังคับให้ราชโอรสกล่าวหาพระนางเช่นนั้นอีกด้วย
แต่แน่นอนพระนางให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา กระนั้นก็ไม่ช่วยอะไร เพราะพวกเขาเองก็กะจะกำจัดพระนางอยู่แล้วด้วย ไม่ว่ายังไงพระนางก็ไม่มีวันหนีรอดไปได้
มีหลายคนพยายามช่วยพาพระนางหนีแต่สุดท้ายก็ล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ในคืนสุดท้ายพระนางได้เขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงพระขนิษฐภคินี(น้องสะใภ้)คือ พระนางเอลิซาเบธแห่งฝรั่งเศส ใจความสรุปโดยย่อคือพระนางให้อภัยทุกคนที่กระทำเรื่องเลวร้ายต่อพระองค์ และไม่ต้องการให้ลูก ๆ ของพระนางแก้แค้นให้ตนเองหรือพระสวามีแต่อย่างใด และฝากถึงเหล่ามิตรสหายว่าจะระลึกถึงพวกเขาเสมอแม้ในวินาทีสุดท้าย
(แต่แล้วจดหมายนั้นก็ถูกเก็บไว้ในห้องทำงานของรอแบสปิแยร์ ไม่มีโอกาสถึงมือทั้งโอรสและน้องสะใภ้ จนกระทั่งถูกค้นพบทีหลังเมื่อรอแบสปิแยร์ถูกโค่น)
- ในวาระสุดท้ายที่พระนางกำลังเดินขึ้นสู่แท่นประหาร พระนางเผลอสะดุดเท้าของเพชฌฆาต (อองรี แซนสัน บุตรชายของเพชฌฆาตชื่อก้องอย่างชาร์ล-อองรี แซนสัน ผู้ที่เป็นคนลงดาบพระเจ้าหลุยส์และรอแบ็สปีแยร์กับพวกคณะปฏิวัติในภายหลัง) และประโยคสุดท้ายของพระนางที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า
“"Pardon me, sir, I meant not to do it",” (ขอโทษด้วย ฉันไม่ได้ตั้งใจ)
พระนางเสด็จขึ้นแท่นประหาร พระนางปฏิเสธที่จะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่ทางคณะปฏิวัติจัดหาให้ และทรงน้อมรับวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างมิเกรงกลัว
 
- พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ สวรรคตด้วยเครื่องประหารกิโยติน ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 ในข้อกล่าวหาว่ากบฏต่อประเทศชาติ ทรงมีพระชมน์มายุได้เพียง 38 ชันษาเท่านั้น
ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีอย่างสะใจของประชาชนและพวกปฏิวัติ
โดยหารู้ไม่ว่าพวกเขาจะต้องชดใช้แก่พระนางและครอบครัวหลังจากนั้น
- กล่าวกันว่าทั้งศีรษะและพระศพของพระนางถูกนำไปทิ้งไว้ในป่าทั้งอย่างนั้น จนกระทั่งมีชาวบ้านคนนึงที่ใจดีมองพระนางเป็น “เหยื่อ” ของทุกสิ่งทุกอย่างจึงได้ทำหลุมฝังให้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ผู้เป็นพระญาติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องการฟื้นฟูราชวงศ์ ได้ค้นหาหลุมศพของพระนางและพระสวามีจนพบและย้ายไปฝังในวิหารเซนต์เดนิส ในขณะที่ซากศพของกษัตริย์ฝรั่งเศสและเชื้อพระวงศ์อีกจำนวนมากถูกขุดมาโยนทิ้งในหลุมจนแยกไม่ออกใครเป็นใคร
- พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ มีบุตรและธิดาร่วมกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทั้งหมดสี่พระองค์ ได้แก่
· Marie-Thérèse-Charlotte หรือ Madame Royale (19 December 1778 – 19 October 1851) เป็นราชธิดาพระองค์แรก และเป็นเพียงพระองค์เดียวที่รอดชีวิตได้ในยุคปฏิวัติ ไม่ว่าสังคมจะเล่าอย่างไร พระนางยืนยันว่าพระมารดาทรงเป็นแม่ที่ดี สอนให้พระนางรู้จักเห็นแก่ความทุกข์ยากของผู้อื่น ถึงขนาดเชิญให้เด็กสามัญชนที่ยากจนเข้ามาร่วมโต๊ะอาหารกับพระนางอย่างไม่รังเกียจ ทั้งยังขอให้พระนางแบ่งของเล่นให้พวกเขาอีกด้วย ในวันที่พระนางรู้ว่าพระมารดาสิ้นพระชนม์ ถึงกับเศร้าโศกและอธิษฐานต่อพระเจ้าให้เมตตาวิญญาณของพ่อกับแม่ และให้อภัยแก่ทุกคนที่ทำร้ายและฆ่าพวกเขา
· Louis-Joseph-Xavier-François (22 October 1781 – 4 June 1789) พระบุตรองค์แรกสิ้นพระชมน์ด้วยวัณโรค (tuberculosis)
· Louis-Charles (27 March 1785 – 8 June 1795),พระบุตรองค์ที่สอง ถูกพรากจากอกพระมารดาและถูกบังคับให้ใส่ร้ายพระนางในช่วงพิจารณาคดี ต่อมาได้ขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แต่ก็เป็นเพียงในนามเท่านั้น การสิ้นพระชมน์เพียงช่วงอายุ 10 ชันษานั้นถูกอ้างว่าเพราะวัณโรค แต่จากการตรวจพระศพพบว่ามีบาดแผลมากมายจากการถูกทารุณในช่วงที่ถูกพรากจากผู้เป็นแม่
· Sophie-Hélène-Béatrix, พระธิดาองค์สุดท้ายตายตั้งแต่ยังเป็นทารก (9 July 1786 – 19 June 1787)
แม้จะมีเสียงอื้อฉาวขึ้นมาอีกว่าจริง ๆ บุตรและธิดาของพระนางอาจจะไม่ได้ประสูติกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระสวามี แต่มาจากผู้ที่ถูกเล่าลือว่าเป็นชู้รักอย่างท่านเคาท์แอคเซล ฟอน เฟอเซน แทน เป็นหนึ่งในเรื่องอื้อฉาวที่หลายคนเคยได้ยิน แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง (แม้ว่าเคาท์แอคเซลจะเป็นหนึ่งในสหายที่พระนางทรงรักมากก็ตาม)
มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ Maximilien François Marie Isidore de Robespierre
เหตุการณ์หลังจากนั้น
- เมื่อสิ้นกษัตริย์แล้ว พวกปฏิวัติก็เริ่มเปิดเผยธาตุแท้ของตน มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ หนึ่งในแกนนำของพวกคณะปฏิวัติในการทลายคุกบาสติลล์ และเป็นผู้เรียกร้องให้ประหารพระราชาและพระราชินี หลังจากนั้นเขาได้ฉวยโอกาสที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปประณามฝรั่งเศสในการกระทำดังกล่าว อาศัยจังหวะความวุ่นวายเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม
- ทว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของ “ยุคสมัยที่น่ากลัวที่สุดของฝรั่งเศส” เขาได้กลายเป็นจอมเผด็จการอย่างแท้จริง เขาคอยกำจัดผู้ต่อต้าน ไม่ว่าจะชนชั้นสูง หรือแม้แต่ชาวบ้านประชาชนที่ยังเอากษัตริย์และต่อต้านการปฏิวัติ เอะอะก็สั่งประหารหมดแม้แต่คดีเล็กน้อย ว่ากันว่าพลเมืองที่ถูกศาลปฏิวัติตัดสินประหารมีจำนวนกว่า 1,600 คน ในจำนวนนั้นมีสตรีถูกข่มขืนอย่างทารุณจำนวนมาก เขาเชื่อว่าความสงบสุขอยู่เคียงคู่กับความกลัว และนั่นคือความถูกต้อง ฝรั่งเศสตกอยู่ในยุคที่มืดมนเลวร้ายยิ่งกว่าสมัยมีกษัตริย์ปกครองเสียอีก
- จนกระทั่งวีรบุรุษคือ “นโปเลียน” ได้ปรากฏตัวขึ้นมากอบกู้สถานการณ์ หนึ่งในนั้นคือการจับกุมพวกคณะปฏิวัติรวมถึงรอแบ็สปิแยร์ด้วย จอมเผด็จการคิดจะชิงฆ่าตัวตายหนีความผิดแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดเขาได้ถูกคุมขังในสถานที่เดียวกับที่เคยใช้ขังพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ และคนที่ประหารเขาก็คือ ชาร์ล-เฮนรี แซนสัน คนเดียวกับที่ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั่นเอง เครื่องประหารก็หนีไม่พ้น “กิโยติน” ที่เขาใช้ประหารคนจำนวนมากนั่นเอง
ฌ็อง-ปอล มารา (Jean-Paul Marat)
- อีกบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มิกล่าวถึงคงมิได้คือ ฌ็อง-ปอล มารา เขาเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่สังกัดอยู่กับกลุ่มจาคอแบ็งเช่นเดียวกับพวกรอแบ็สปิแยร์ และงานเขียนของเขาส่วนมากเน้นโจมตีกษัตริย์และชนชั้นสูงอย่างรุนแรง เขาพึงพอใจมากที่มีคนถูกประหารด้วยกิโยตินเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างยุคสมัยใหม่ จนสุดท้ายเขาก็ถูกชาร์ล็อต กอร์แดร์ สตรีสำคัญอีกคนหนึ่งลอบสังหารเนื่องจากเธอมองว่าชายคนนี้เป็นภัยต่อผู้คนจำนวนมากอย่างแท้จริง
- บางคนเชื่อกันว่า นายมาราคนนี้นี่เองที่อาจจะเป็นคนริเริ่มการใส่ร้ายพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ด้วยคำว่า "Let them eat cake" อันโด่งดัง
ชาร์ล็อต กอร์แด (Marie-Anne Charlotte de Corday d'Armont) ผู้ลอบสังหารมารา
แล้วสุดท้าย "ไม่มีขนมปังก็ไปกินเค้กแทนสิ" มันอยู่ตรงไหน?
ต้องบอกว่า แม้มันจะเป็นคดีหลักที่คนเชื่อและกล่าวโทษพระนางจนถึงทุกวันนี้ แต่อันที่จริงคือไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ เลยจะบ่งบอกว่าพระนางตรัสประโยคนี้จริง นักประวัติศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าพิจารณาจากนิสัยส่วนพระองค์แล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่พระนางจะตรัสประโยคนี้ (แต่มีบันทึกตอนที่มีคนรายงานพระนางเรื่องประชาชนขาดแคลนขนมปัง พระนางได้ให้ไปแจ้งกษัตริย์เผื่อจะทำอะไรสักอย่าง แน่นอนตอนนั้นพระนางยังมิรู้ว่าพระสวามีล้มเหลวเพียงใด)
1
แต่ประโยคนี้กลับมีที่มาของมันจริง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพระนางตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำ
ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau)
แท้ที่จริงแล้วประโยคนี้เป็นประโยคเสียดสีของฌ็อง-ฌัก รูโซ นักเขียนชื่อดังในสมัยนั้นอีกคน ซึ่งบันทึกไว้ในคำสารภาพของเขาเล่มที่หกว่า
At length I remembered the last resort of a great princess who, when told that the peasants had no bread, replied: "Then let them eat brioches."
(แล้วมาเพี้ยนเป็น cake ทีหลังเนื่องจากการแปลผิดเพี้ยน ซึ่ง brioche เป็นขนมปังอีกชนิดนหนึ่ง)
แม้หนังสือจะตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1782 แต่ประเด็นคือตอนที่เขาเขียนนั้น เป็นปี ค.ศ.1765 ซึ่งพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ยังคงมีพระชนมายุเพียง 9-10 ขวบเท่านั้น และยังไม่ได้มาฝรั่งเศสเลยด้วยซ้ำ แล้ว great princess คนนั้นจะเป็นพระนางไปได้ยังไงกัน?
เชื่อกันว่ารูโซพูดถึงสนมคนนึงของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แต่สุดท้ายก็ไม่มีข้อมูลใดยืนยันว่าเป็นใคร หรือแม้แต่ว่ามีคนพูดขึ้นมาจริง ๆ ไหม นายรูโซไม่ได้มโนขึ้นมาเองแน่นะ?
ที่ตลกร้ายกว่าคือ ไม่มีเอกสารใด ๆ ในยุคสมัยนั้นจะมีประโยคนี้อยู่จนกระทั่งพระนางถูกประหารแล้วถึงเพิ่งมาบูม
สุดท้ายเราได้อะไรจากเรื่องนี้?
- พระนางเป็นหญิงเลวหรือ? เหล่าผู้แก้ต่างให้พระนางจำนวนมากล้วนกล่าวว่า พระนางอาจจะไม่ได้ดีเด่ถึงขั้นนักบุญหญิง แต่ก็ไม่ใช่คนเลวร้าย เป็นสตรีที่เข้มแข็ง และมุ่งมั่นจะทำหน้าที่ของตนเองในสภาพแวดล้อมที่จำกัดมาก ๆ (คนรอบข้างไม่บอกเรื่องประชาชนลำบากแต่แรก และเป็นยุคที่สตรีแทบไม่มีบทบาททางการเมือง) แล้วสุดท้ายพระนางทำอะไรผิด ความผิดของพระนางคือความไม่รู้? หรือว่า แค่เป็นผู้หญิงจากประเทศศัตรูก็ผิดแล้ว?
- อะไรทำให้ประโยคเฟคนิวส์ยุคโบราณอย่างเรื่องขนมปังกับเค้กอยู่ยงคงกระพันมายันทุกวันนี้โดยพระนางไม่มีโอกาสมาแก้ต่าง? ทำไมบางคนรู้ว่าไม่จริงแต่ก็ยังคงสนุกที่ได้เผยแพร่ความเชื่อผิด ๆ อย่างไร้ความรับผิดชอบ แม้นักประวัติศาสตร์หรือผู้รู้จริงจำนวนมากพยายามแก้ไข แต่นักเขียนสื่อบันเทิงจำนวนมากที่เข้าถึงคนได้ง่ายกว่ายังคงให้พระนางเป็นหญิงชั่วหรือหญิงโง่ มีตราบาปติดตัวไปตลอดหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้อย่างหน้าตาเฉย
1
- แล้วทำไมพระนางจึงต้องตาย? ทำไมบางคนแม้จะรู้เรื่องพระนางแต่ก็ยังคงสมน้ำหน้าและยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องถูกต้องสมควร เพียงแค่อ้างว่าประชาชนไม่มีจะกินลูกเดียว ก็มีความชอบธรรมพอจะเปลี่ยนคนดีให้เป็นคนเลวยังไงก็ได้โดยไม่ต้องสนเหตุผลแล้ว? แค่คนเกลียดเยอะ ๆ ก็ถือว่าถูกต้อง? ทั้งที่ทั้งหมดมาจากข่าวลือที่ไม่มีการพิสูจน์หรือแม้แต่วินิจฉัย และการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น?
- หากจะว่าการหนีไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ผิด แล้วคนในยุคนั้น มีทางอื่นให้พระนางเลือกหรือไม่? ถ้าพระนางและครอบครัวยังคงอยู่ในฝรั่งเศสต่อไปจะเป็นอย่างไร?
- การตัดสินใครสักคนว่าดีหรือไม่ดี โดยใช้แต่มุมมองและบรรทัดฐานของเราไปตัดสิน โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อม ความเป็นไปได้ของบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่ดีแล้วจริง ๆ งั้นหรือ?
- สังคมเราในทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน หรือทุกวันนี้เราแค่พยายามหาแพะรับบาป กำลังต้องการ "มารี อองตัวเน็ตต์" คนต่อไปเพื่อสนองตัณหาความชอบธรรมของผู้คน ด้วยเฟคนิวส์ และการได้มาซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองอย่างผิด ๆ
- ทุกวันนี้ โลกเรามีคำตอบที่เพียงพอจะตอบคำถามถึงสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง?
1
โฆษณา