7 ก.ค. 2020 เวลา 11:55 • ประวัติศาสตร์
“รวันดา” สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ความแตกต่างและความไม่เข้าใจล้วนสร้างความเกลียดชัง...
1
ความเกลียดชังล้วนสร้างความแตกแยกและขัดแย้ง...
ความแตกแยกและขัดแย้งล้วนสร้างความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้...
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวของดินแดนที่ถูกปกคลุมไปด้วยความเกลียดชัง...
ดินแดนที่แผ่นดินลุกไหม้ด้วยไฟสงคราม...
ดินแดนที่แตกต่างจนต้องมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์...
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่สูญเสียไม่แพ้ยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2...
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายไม่แพ้ทุ่งสังหารหรือตวลสเลงในกัมพูชา...
และทุกอย่างเกิดในดินแดนแห่งนี้...
ดินแดนที่ชื่อว่า “รวันดา”
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับดินแดนที่ชื่อว่ารวันดากันก่อนนะครับ...
โดยรวันดาเป็นประเทศเล็กๆที่ตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา มีประชากรประมาณ 12,000,000 คน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
กลุ่มชาติพันธุ์ในรวันดาแบ่งอย่างหยาบๆจะมี 4 กลุ่มครับ ได้แก่...
ชาวฮูตู ประมาณ 85% ถือว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ
ชาวทุชซี่ ประมาณ 14%
และที่เหลือจะเป็นชาวปิ๊กมี่และชาวทวาซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อย
โดยตัวละครหลักของเรื่องนี้ คือ ชาวฮูตูและชาวทุชซี่นั่นเองครับ
ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ล้วนมีความเหมือนกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน แต่ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวของทั้งสองกลุ่ม คือ รูปร่างหน้าตาครับ...
โดยชาวฮูตูจะมีรูปร่างตัวสั้น หนา หน้าตาแบบนิโกร และผิวเข้มกว่าชาวทุชซี่
ส่วนชาวทุชซี่จะมีรูปร่างสูงโปร่ง ผอม และถึงแม้จะมีผิวสีเข้มแต่หน้าตาจะออกไปทางยุโรปมากกว่า (มีการจัดกลุ่มด้วยครับว่าชาวทุชซี่นั้นไม่ใช่นิโกร)
หลายท่านคงสงสัยว่าแค่รูปร่างหน้าตาต่างกัน ถึงกับต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเลยหรอ?
ใช่ครับ ประเด็นเรื่องรูปร่างหน้าตาก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่มันยังมีอะไรมากกว่านั้น...
ภาพจาก ResearchGate (ความแตกต่างระหว่างชาวฮูตูและทุชซี่)
แต่เดิมนั้นรวันดาปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยชนชั้นนำที่เป็นกษัตริย์และรวบรวมแผ่นดินรวันดาคือชาวทุชซี่ ส่วนชาวฮูตูที่เป็นคนส่วนใหญ่นั้นก็อยู่ใต้ปกครองของชาวทุชซี่ ซึ่งแน่นอนครับว่าก็มีชาวฮูตูบางกลุ่มที่พยายามจะขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ แต่พวกนี้ก็มีจำนวนน้อยมาก เพราะชาวฮูตูส่วนใหญ่ก็ยอมรับและสวามิภักดิ์ต่อชาวทุชซี่กันหมด เพราะชาวทุชซี่ก็ไม่ได้กดขี่หรือเอาเปรียบชาวฮูตูมาก
จนกระทั่งใน ค.ศ.1896 รวันดาก็เหมือนกับดินแดนอื่นๆในแอฟริกาที่ตกเป็นอาณานิคมให้ยุโรป โดยชาติแรกที่เข้ามาควบคุมรวันดา คือ เยอรมนี...
การปกครองของเยอรมนีนั้นถือได้ว่าสร้างกำไรให้รวันดาสุดๆเลยล่ะครับ เพราะเยอรมนีได้เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจของรวันดา มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ และสร้างทางรถไฟ ทำให้เศรษฐกิจของรวันดาดีวันดีคืน
แต่ทว่าเยอรมนีก็ปกครองรวันดาได้ไม่นาน เพราะใน ค.ศ.1918 เยอรมนีก็ได้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงถูกบังคับให้ถอนตัวออกไปจากรวันดา
เมื่อเยอรมนีได้ถอนตัวออกไป ก็มีชาติยุโรปชาติหนึ่งเข้ามาเสียบแทน นั่นก็คือ เบลเยียม
และเบลเยียมนี่แหละครับ ที่เป็นผู้บ่มเพาะเมล็ดแห่งความเกลียดชังในดินแดนแห่งนี้...
ภาพจาก Weebly (กษัตริย์ทุชซี่และผู้แทนเยอรมนี)
หลังจากที่เบลเยียมเข้ามาปกครองรวันดานั้น เบลเยียมพยายามที่จะใช้การปกครองอาณานิคมโมเดลเดียวกับอังกฤษ คือ การแบ่งแยกและปกครอง (Divide and rule)
เบลเยียมปกครองโดยยกชาวทุชซี่ให้มีสถานะทางการเมืองและสังคมสูงส่งขึ้นมาอีก (แต่เดิมก็สูงอยู่แล้ว) และกดสถานะของชาวฮูตูให้ตกต่ำลงกว่าเดิม มีการปลดผู้นำชุมชนที่เป็นชาวฮูตูออก หรือแม้กระทั่งสนับสนุนให้เด็กทุชซี่ได้รับการศึกษา แต่กีดกันเด็กชาวฮูตูไม่ให้เข้าโรงเรียน อีกทั้งยังมีการทำบัตรประชาชนแยกเพื่อระบุว่าเป็นชาวฮูตูหรือทุชซี่ และอื่นๆอีกมากมาย...
ชาวฮูตูที่แต่ก่อนถึงแม้จะอยู่ใต้ปกครองของทุชซี่แต่ก็ยังได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ แต่ในตอนนี้กลับโดนกดหนักเข้าๆ ก็เริ่มน้อยเนื้อต่ำใจแล้วโทษชาวทุชซี่ว่า “ที่พวกตูเป็นแบบนี้ก็เพราะพวกเอ็ง!”
แทนที่ความเกลียดชังของชาวฮูตูจะมุ่งเป้าไปที่เบลเยียม แต่มันกลับมุ่งไปที่ชาวทุชซี่แทน
และความโกรธแค้นนั้นก็ได้ระเบิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1962 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รวันดาได้รับเอกราช...
ภาพจาก Quora (บัตรประชาชนที่มีการบอกว่าเป็นชาติพันธุ์อะไร)
หลังได้รับเอกราชจากเบลเยียมใน ค.ศ.1962 ก็มีการพยายามจัดการเลือกตั้งเพื่อปกครองโดยใช้ประชาธิปไตย ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการเลือกตั้ง รัฐบาลต้องเป็นชาวฮูตูแน่นอน เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ
แต่ชาวฮูตูไม่รีรอผลการเลือกตั้งครับ ได้นำกำลังทหารเข้ารัฐประหารยึดอำนาจซะเลย ชัวร์กว่า! แล้วให้เกรอกรัว คาบิยานดา เป็นผู้นำประเทศ
และแล้วมหากาพย์การล้างแค้นของชาวฮูตูก็ได้เริ่มขึ้น...
เรื่องราวที่เป็นชนวนความรุนแรง คือ มีทหารหนุ่มชาวทุชซี่คนหนึ่งได้ลอบสังหารหนึ่งในผู้นำของชาวฮูตู โดยข่าวการสังหารนี้ได้มีถูกปลุกปั่นให้รุนแรงยิ่งขึ้นในหมู่ชาวฮูตู ทำให้ชาวฮูตูจากที่แค้นอยู่แล้วก็ยิ่งแค้นมากขึ้นไปอีก!
ชาวฮูตูกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวแล้วพากันไปรุมทำลายชาวทุชซี่อย่างทารุณ!
ดูเหมือนว่าเรื่องราวจะเลยเถิดจนกู่ไม่กลับซะแล้วล่ะครับ เมื่อรัฐบาลฮูตูได้เข้ามาผสมโรงด้วยโดยสั่งให้มีการลอบสังหารชาวทุชซี่กว่า 100,000 คน!
คราวนี้ชาวทุชซี่ก็อยู่ไม่ได้สิครับ พากันอพยพหนีออกนอกประเทศกันเป็นจำนวนมาก บ้างก็หนีรอด บ้างก็หนีไม่รอดต้องติดอยู่ในประเทศแล้วถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม
ชาวฮูตูที่แต่ก่อนเป็นเพียงชนชั้นที่อยู่ใต้ปกครอง แต่บัดนี้ได้ผงาดขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในประเทศ แล้วระบายความแค้นที่สะสมมานานกับชาวทุชซี่อย่างหนำใจ
แต่เหตุการณ์นี้ยังถือว่าเป็นเพียงแค่อาหารเรียกน้ำย่อยเท่านั้น...
ส่วนอาหารจานหลักได้เริ่มขึ้นใน ค.ศ.1994
ภาพจาก NewTimes (การอพยพของชาวทุชซี่)
ตั้งแต่ได้รับเอกราช ชาวฮูตูก็ได้ปกครองรวันดา มีการกดขี่ชาวทุชซี่ในทุกๆด้าน ทั้งยังมีการลอบสังหารชาวทุชซี่อยู่เป็นระยะๆ (ไม่รู้ไปแค้นอะไรกันขนาดนั้น) ชาวทุชซี่ที่หนีออกนอกประเทศไม่ได้ก็ต้องทนอยู่ด้วยความหวาดกลัวและความหวาดระแวง...
ชาวทุชซี่เมื่อโดนกดขี่มากเข้าๆ ก็เริ่มไม่มีอะไรจะเสีย จึงรวมกันแล้วตั้งกลุ่ม RPF ในค.ศ.1990 เพื่อยึดอำนาจจากชาวฮูตูคืน เกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นมา ซึ่ง RPF ก็โดนรัฐบาลฮูตูถล่มจนเละ!
แต่แล้ว UN ก็ได้เข้ามาใน ค.ศ.1992 เพื่อสร้างสันติภาพในรวันดา มีการกดดันให้มีการลงนามในสัญญาอารูชา (Arusha Accord)
ซึ่งรัฐบาลฮูตูก็ไม่ได้สนใจที่จะสงบศึกครับ เพราะพวกเขายังมีแผนการที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นที่จะต้องทำให้สำเร็จ...
รัฐบาลฮูตูได้มีการฝึกทหารหัวรุนแรง และมีการใช้โฆษณาชวนเชื่อทางวิทยุ คือ รายการ RTLMC โดยพูดถึงความโหดร้ายต่างๆนานาที่ชาวทุชซี่ได้ทำต่อชาวฮูตู (ห๊ะ!) มีการสนับสนุนการฆ่าชาวทุชซี่ได้โดยไม่มีความผิดหรือไม่บาป มีการเปรียบชาวทุชซี่ว่าเป็นเพียงแค่แมลงสาบที่น่ารังเกียจ สมควรโดนบดขยี้!
ชาวฮูตูทั่วประเทศก็ได้รับฟังจากวิทยุนี้ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารหลัก (เพราะรัฐบาลปิดกั้นสื่อจากนอกประเทศ)
แน่นอนครับเมื่อฟังกรอกหูไปทุกวันๆ ความเกลียดชังก็เพิ่มมากขึ้นๆ แต่ความรุนแรงก็ยังไม่ปรากฏอย่างเด่นชัดหรือออกหน้าออกตาจนเกินไป
จนกระทั่งใน ค.ศ.1994 เครื่องบินของประธานาธิบดีฮาบยาริมานาซึ่งเป็นชาวฮูตู ก็ถูกสอยจนตก ซึ่งยังไม่รู้ว่าใครหรือฝ่ายไหนเป็นคนยิง
1
และอย่างที่ทุกท่านคิดครับ ชาวฮูตูไม่รอหลักฐาน แล้วได้เพ่งเล็งไปที่คนกลุ่มเดียวพร้อมบอก “เป็นฝีมือพวกทุชซี่แน่นอน!”
แล้วข่าวที่ว่าเป็นฝีมือพวกทุชซี่ก็โหมกระพือและถูกปั่นให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปทั่วประเทศ
และแล้วเหตุการณ์นี้ก็เปรียบเสมือนการถอดสลักของลูกระเบิดที่ชื่อว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ภาพจาก TheNew York Times (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา)
หลังเหตุการณ์เครื่องบินของประธานาธิบดีตก ชาวฮูตูก็ได้ออกมาไล่ฆ่าชาวทุชซี่อย่างเปิดเผย มีการปิดถนนโดยทหารของรัฐบาลเพื่อให้การฆ่าชาวทุชซี่สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น! อีกทั้งยังเป็นการเช็คว่าจะไม่มีทุชซี่คนไหนหนีรอดออกไปได้...
มีการไล่ฆ่าชาวทุชซี่อยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ชาวทุชซี่บางส่วนหนีตายเข้าไปในโบสถ์ซึ่ง “เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวฮูตูคงไม่กล้าทำอะไรแน่นอน”
แต่ชาวทุชซี่ก็คิดผิดครับ เมื่อความบ้าคลั่งนี้ยากที่จะหยุดได้แล้ว ชาวฮูตูได้จัดการฆ่าชาวทุชซี่อย่างโหดเหี้ยมนับพันคนภายในโบสถ์!
อีกทั้งรายการวิทยุ RTLMC ก็ได้ปั่นข่าวส่งเสริมยุยงให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก!
“ผู้ใหญ่ คนแก่ ผู้ชาย ผู้หญิง หรือแม้กระทั่งเด็ก หากว่าเป็นชาวทุชซี่ อย่าหวังว่าจะมีชีวิตรอด!”
ภายในเวลา 3 อาทิตย์ มีการฆ่าชาวทุชซี่ในรวันดากว่า 1,000,000 คน!
และสิ่งที่โหดร้ายกว่านั้นคือ ชายชาวฮูตูได้มีการข่มขืนหญิงชาวทุชซี่อย่างกว้างขวาง โดย UN ได้มีการประมาณจำนวนผู้หญิงทุชซี่ที่ถูกข่มขืนอยู่ที่ 500,000 คนเลยทีเดียว!
ซึ่งการข่มขืนนี้ได้มีการทำอย่างเป็นระบบ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในรูปแบบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เพราะวิธีการนี้ชาวฮูตูถือว่าเป็นการสร้างความต่ำต้อยใ้ห้กับชาวทุชซี่ เพราะในอดีตที่ชาวทุชซี่เป็นชนชั้นปกครอง ทำให้ชาวฮูตูมองว่าผู้หญิงทุชซี่นั้นหยิ่ง
เหมือนคำพูดของชาวฮูตูที่ว่า “เราต้องการที่จะรู้ว่าผู้หญิงทุชซี่มีความงามน่าเชยชมแค่ไหน และดีเกินไปสำหรับพวกเราตรงไหน เราต้องการให้เห็นว่าผู้หญิงทุชซี่ก็เหมือนผู้หญิงฮูตู และถ้าอยู่ในช่วงสันติภาพ ไม่มีทางที่ผู้หญิงทุชซี่จะยอมรับเราแน่นอน!”
1
ดังนั้นชายชาวฮูตูจึงพากันเกิดความฮึกเหิม (หรือความหื่น) ในการเด็ดดอกฟ้าอย่างหญิงชาวทุชซี่มาย่ำยีให้จมดิน!
1
และที่ดาร์กยิ่งกว่านั้น คือ การข่มขืนนี้ยังมีการตั้งใจแพร่เชื้อHIV เพื่อให้หญิงชาวทุชซี่ต้องอยู่และตายอย่างทรมาน ซึ่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ในรวันดาเป็นจำนวนมากเช่นกัน!
1
นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยมและย่ำยีความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุดจริงๆครับ...
1
ภาพจาก Global Research (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา)
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดานั้น UN ไม่สามารถเข้ามายับยั้งหรือช่วยได้ เพราะพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาไม่อยากเข้ามายุ่ง (เพราะเข็ดกับเหตุการณ์ Black Hawk Down ในโซมาเลีย)  จึงทำให้ UN ไม่มีกองกำลังทหารที่มากพอในการยับยั้ง...
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ดำเนินไป จน RPF ของชาวทุชซี่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาเพราะชาวทุชซี่ที่อยู่นอกประเทศทนไม่ได้กับความป่าเถื่อนนี้ กลุ่ม RPF จึงได้เปิดฉากทำสงครามกับชาวฮูตูอย่างเต็มรูปแบบ
จนในที่สุดใน ค.ศ.1995 RPF ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลฮูตูได้สำเร็จ แล้วตั้งรัฐบาลทุชซี่ขึ้นในรวันดา คราวนี้ชาวฮูตูจึงพากันอุทานเป็นเสียงเดียวสิครับว่า “Shipหายล่ะ!”
รัฐบาลทุชซี่ก็ได้เข้าจับกุมชาวฮูตูที่มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ก็ต้องหยุดจับไปช่วงหนึ่งเพราะว่าคุกไม่พอขัง! เนื่องจากมีนักโทษชาวฮูตูกว่า 120,000 คน
และคราวนี้ชาวฮูตูจึงเป็นฝ่ายต้องพากันอพยพออกไปนอกประเทศบ้าง แล้วไปตั้งกองกำลัง FAR เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทุชซี่ (เหมือนจะวนลูปกลับมาที่เดิม)
1
ซึ่งชาวฮูตูก็ได้รับการสนับสนุนจากคองโก อีกทั้งรัฐบาลคองโกก็ได้ไล่ชาวทุชซี่ที่อยู่ในคองโกออกไปจากประเทศ
3
ทำให้รัฐบาลทุชซี่ในรวันดาจึงเดือดขึ้นมา แล้วยกทัพไปตีคองโก ซึ่งทัพของทุชซี่ได้รับการสนับสนุนจากอูกันดาและแองโกลา เกิดเป็นสงครามคองโกขึ้นใน ค.ศ.1996 (ไปๆมาๆกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศไปซะงั้น!)
ซึ่งสงครามคองโกได้ยืดเยื้อไปถึง 8 ปี มีหลายฝ่ายได้เข้ามาตะลุมบอนในคองโก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทุชซี่ในรวันดา กองกำลังฮูตู รัฐบาลคองโก กลุ่มต่อต้านรัฐบาลคองโก อูกันดา บูรุนดี แองโกลา นามิเบีย และซิมบับเว เรียกได้ว่ามั่วไปหมดเลยละครับ ซึ่งถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000,000 คน! ซึ่งสาเหตุก็มาจากความขัดแย้งระหว่างฮูตูและทุชซี่ในรวันดานั่นเอง...
2
ภาพจาก Intercontinental Cry (สงครามคองโก)
ความขัดแย้งและความวุ่นวายดำเนินไปจนถึง ค.ศ.2003  ที่รัฐบาลทุชซี่ของรวันดาต้องการที่จะหยุดความขัดแย้งระหว่างทุชซี่และฮูตู
จึงมีการพยายามเจรจาตกลงกับชาวฮูตูว่า “เราจบแค่นี้เถอะ หากยังฆ่ากันต่อไปก็คงวนลูปอยู่ในความแค้นและความสูญเสียไม่จบไม่สิ้น” ด้านชาวฮูตูที่ต่างก็เข็ดและเบื่อหน่ายกับสงครามจึงยอมเจรจาในที่สุด
ดังนั้น ชาวฮูตูจึงยอมให้มีการนำผู้กระทำผิดทั้งหมดในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เข้ากระบวนการยุติธรรม และมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ จากนั้นก็ให้มีการเลือกตั้ง...
ซึ่งพอล คากาเม่ ที่เป็นผู้นำชาวทุชซี่ก็ได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย (แต่ก็มีการตั้งคำถามถึงตัวเลขนี้) จึงทำให้พอล คากาเม่ เป็นประธานาธิบดีของรวันดา
และใน ค.ศ.2010 พอล คากาเม่ ก็ได้รับเลือกอีกในสมัยที่ 2 (คะแนนเสียงถล่มทลายเช่นเดิม)
รัฐบาลของพอล คากาเม่ ได้พยายามเข้ามาหยุดยั้งความเกลียดชังระหว่างชาวฮูตูและทุชซี่ และพัฒนาประเทศไปในแนวทางแห่งสันติภาพ
จนรวันดาที่อดีตเคยเป็นประเทศที่ป่าเถื่อน ยุ่งเหยิง ยากจน และมีแต่สงคราม
แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศที่สงบเรียบร้อย มีความปลอดภัยสูง ก้าวพ้นความยากจนไปเป็นประเทศชนชั้นกลาง กลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของแอฟริกากลาง และเป็นประเทศที่ทันสมัยที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกาเลยล่ะครับ!
แต่ก็ไม่มีใครเคยลืมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่แสนโหดร้ายในอดีต...
ยังคงมีการรำลึกถึงความสูญเสียในเหตุการณ์นี้อย่างสม่ำเสมอ...
เพื่อเป็นบทเรียนว่ารวันดาจะไม่กลับไปอยู่ในจุดเดิม...
ความแตกต่างและไม่เข้าใจได้สร้างความเกลียดชัง...
แต่หากเรามองข้ามความแตกต่างและพยายามสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันเหมือนชาวรวันดา...
ความเกลียดชังและความสูญเสียคงจะไม่เกิดขึ้น
และนี่ คือเรื่องราว “รวันดา” สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ภาพจาก NewsTime
อ้างอิง
อรไท โสภารัตน์. สหประชาชาติกับการแก้ไขปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา (ค.ศ.1993-1994).วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2546.
Prunier, G. The Rwanda Crisis 1993-1994 : A History of a Genocide. London : C. Hurst&Company, 1995.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา