7 ก.ค. 2020 เวลา 14:29 • ไลฟ์สไตล์
ช่วงอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาที่ผ่านมา หมอหายตัวไปบวชเนกขัมมจาริณีมาค่ะ
ตอนนี้ ลาสิกขา มาเป็นคฤหัสถ์ ถือศีล ๕ ตามปกติวิสัยแล้ว ก็จะตั้งใจศึกษาธรรมต่อไปเรื่อยๆค่ะ
พอดีมีคนสอบถามหลายคน ว่า จริงๆ แล้ว “เนกขัมมจาริณี” คือ อะไร จึงอยากจะมาแชร์เป็นวิทยาทานเพิ่มเติมค่ะ
“เนกขัมมจาริณี” มาจาก คำว่า “เนกขัมมะ” + “จาริณี” ความหมายของแต่ละคำมี ดังนี้
คำว่า “เนกขัมมะ” หมายถึง การออกจากกาม ๒ อย่าง ได้แก่ กิเลสกาม และวัตถุกาม การออกจากกามมี ๒ อย่าง คือ ด้วยการบรรพชา ๑ ด้วยข้อปฏิบัติ ๑
การออกบวชของผู้ที่เห็นคุณของเนกขัมมะ การเว้นกิจของคฤหัสถ์ ถือเพศบรรพชิต เป็นผู้ไม่ครองเรือน ไม่แสวงหาทรัพย์ ไม่รับเงินและทอง เป็นต้น
ชื่อว่า ออกจากวัตถุกาม ด้วยการบรรพชา ข้อปฏิบัติคือ อุโบสถศีล สมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา สติปัฏฐาน เป็นต้น
ชื่อว่า ออกจากกิเลสกาม ด้วยข้อปฏิบัติบางนัย หมายรวมถึงกุศลธรรมทุกประเภทเป็นการออกจากกาม (เนกขัมมะ)
ฉะนั้นเนกขัมมะ โดยนัยที่ ๒ ในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ขณะใด ที่เป็นไปกับกุศลทั้งหลายคือ การให้ทาน การรักษาศีล การฟังธรรม การสนทนาธรรม การเจริญสมถะ การเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น ชื่อว่าเนกขัมมะ อีกอย่างหนึ่ง การค่อยๆ ออกจากการสะสมวัตถุกาม ด้วยการรู้จักพอ ในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่แสวงหา หรือสะสมมากจนเกินไป รู้จักยินดีในของที่ตนมีอยู่ ด้วยสันโดษ ขณะนั้น ก็เริ่มค่อยๆ ที่จะออกเริ่มสะสมเนกขัมมะ ให้ค่อยๆ มีกำลังขึ้น
ส่วนคำว่า “จาริณี” หมายถึง ผู้ประพฤติ
เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจึงได้ความหมายว่า การประพฤติปฎิบัติธรรมในแนวทางของนักบวชโดยการละเว้นการข้องเกี่ยวในกาม (กามคุณ ๕)
ถือเป็นการฝึกอบรมเพื่อสำรวมกาย วาจาและจิตใจโดยการใช้ชีวิตร่วมกันกับเหล่านักบวชท่านอื่น ในระยะการบวชนั้นๆ เนกขัมมจาริณีรักษาศีล 8
การบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี จะบวชหรือไม่บวชก็ได้ กรณีที่เราไม่มีเวลาหรือโอกาส เราสามารถทำตามนัยที่ ๒ ในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ก็ได้นะคะ
🙏ขอความสุขความเจริญ จงมีแก่ทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านค่ะ
โฆษณา