8 ก.ค. 2020 เวลา 04:16 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Big Wedding กับมุมมองการเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกัน
คราวที่แล้วพูดถึง Crash ซึ่งเป็นหนังดราม่าที่ประสบความสําเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์
คราวนี้มาดูหนังเบาสมอง ตลกร้าย อย่างเรื่อง Big Wedding ที่พูดถึงกลุ่มคนขาวที่เป็นชนชั้นกลางที่ฐานะรำ่รวย ที่สรุปแบบนี้เพราะตัวละครทุกคนโปรไฟล์ดีฐานะดี พ่อคือ Robert De Niro เป็นศิลปิน ลูก 3 คน มีโปรไฟล์ระดับท็อปตามมาตรฐานอเมริกันชน โดยลูกสาวคนโตเป็นทนายความ คนรองเป็นหมอ ลูกบุญธรรมคนเล็กจบจากฮาร์วาร์ด และเป็นพระเอกของเรื่อง มีเชื้อสายฮิสแปนิก
มุกตลกของหนังวนเวียนจิกกัดเหน็บแนมค่านิยม และการเหมารวมคนแต่ละเชื้อชาติในอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่น่ารำคาญสำหรับคนที่ไม่ใช่คนขาว เช่น การตั้งคำถามกับคนฮิสแปนิกว่าพูดอังกฤษได้มั้ยในตอนเริ่มเรื่อง ซึ่งนางเอกก็สวนกลับไปว่าคู่หมั้นของเธอน่ะจบจากฮาร์วาร์ดและพูดได้ 5 ภาษา หรือความคิดที่ว่าผู้หญิงชาติอื่นที่ไม่ใช่อเมริกันจะง่าย และอยากได้กรีนการ์ดด้วยการแต่งงานกับคนอเมริกันสักคน น่าแปลกที่ stereotype ดังกล่าวก็ถูกคนชาติอื่นเหมารวมผู้หญิงอเมริกันไว้ไม่ต่างกัน
ในทางกลับกัน หนังก็เหน็บคนฮิสแปนิกว่าชอบพูดด่าคนอื่นต่อหน้าเป็นภาษาสเปน แล้วคิดว่าคนอื่นจะฟังไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ทั้งที่ภาษามันคล้ายกันมาก ไม่ตั้งใจฟังยังฟังออกเลยด้วยซ้ำ
แม้แต่ตอนจบของเรื่อง ตัวละครสาวผมบลอนด์หัวเก่าอย่างแม่นางเอกยังกังวลอยู่ว่าหลานที่จะเกิดมาจะมีผิวสีอะไร เรื่องนี้ฟังดูตลกสำหรับคนไทยที่ค่อนข้างเปิดกว้างทางเชื้อชาติ จะลูกจีน ลูกแขก ลูกฝรั่ง เรามองเขาเป็นคนไทยหมด หรือชาติที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย เห็นเด็กลูกครึ่งลูกผสมกันเป็นปกติ แต่ในอเมริกา ประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุด ใครจะเชื่อว่ามีกลุ่มคนที่คิดแบบนี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว คือมองว่าคนขาวนั้นดีที่สุด หรือกลุ่ม white supremacist
ดูเรื่องนี้แล้วจะสรุปได้อีกอย่างนึง คือท้ายสุดแล้วทุกมนุษย์ทุกชนชาติก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่เพียงแต่บริบททางสังคมอาจจะทำให้แสดงออกมาไม่เหมือนกัน ยังไงคนเราก็มีช่วงเวลาที่ทั้งโง่ เห็นแก่ตัว และกิเลสหนาด้วยกันทั้งนั้นสิน่า แต่สิ่งที่จะทำให้เราผ่านมันไปได้คือความรักและการให้อภัย
โฆษณา