10 ก.ค. 2020 เวลา 07:10 • ประวัติศาสตร์
12 ข้อกล่าวหาพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ vs ความจริง
สวัสดีครับพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเด็กดีทุกท่าน วันนี้ผมจะมาพูดเรื่องเกี่ยวกับพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ราชินีองค์สุดท้ายแห่งฝรั่งเศส ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงชั่วขายชาติ ใช้เงินฟุ่มเฟือยจนเศรษฐกิจชาติพัง แถมยังคบชู้ไปทั่ว ไม่เห็นแก่ประชาชน จนต้องถูกประหารเพื่อสาแก่ใจปวงประชา และต้องถูกประณามเกลียดชังไปชั่วประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่…ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ หรือว่าจริง ๆ ทั้งหมดเป็นแค่การหาแพะรับบาปสนองตัณหาคนหมู่มากเท่านั้นกันแน่
ก่อนอื่นเลย ว่าด้วยบทความนี้ จะเน้นอ้างอิงจาก essay หนึ่งที่ผู้เขียนได้เจอมา และผนวกข้อมูลด้านอื่น ๆ อีกเล็กน้อยให้กระจ่างชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น
1.พระนางเป็นต้นเหตุของความล่มจมของเศรษฐกิจฝรั่งเศส? เพราะไลฟ์สไตล์ที่หรูหราเกินไป
เรียกได้ว่าเป็นข้อหาหลักที่คนทั่วไปใช้กล่าวโทษพระนางให้เป็นหญิงชั่วร้ายแห่งประวัติศาสตร์ไม่ด้อยไปกว่าเอลิซาเบธ บาโธรี่ (ทั้งที่ดูแล้วข้อหาของบาโธรี่ค่อนข้างสะเทือนขวัญกว่ามากด้วยซ้ำ แต่กระนั้นก็เริ่มมีคนโต้แย้งล้างมลทินให้นางแล้ว)
4
ประชาชนฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 นั้นล้วนเชื่อกันว่า พระนางมารี อองตัวเน็ตต์เป็นต้นเหตุของความเลวร้ายทุกอย่างในความวุ่นวายของฝรั่งเศส ตั้งแต่เศรษฐกิจล่มจม ประชาชนแทบไม่มีจะกิน ในขณะที่พระนางและคนในราชวงศ์พากันอยู่อย่างสุขสบาย อยากกินเท่าไหร่ก็มีให้กิน และกล่าวหาว่าการใช้เงินท้องพระคลังของพระนางเป็นสาเหตุสำคัญ
 
ความจริงคือ….?
ในช่วงระยะแรก ๆ ที่พระนางเสด็จมาฝรั่งเศสแทบไม่เคยมีใครตำหนิหรือว่าอะไรพระนางเรื่องไลฟ์สไตล์หรูหราฟู่ฟ่าพวกนั้นเลย
 
จริงอยู่ที่อาจจะปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าใช้จ่ายของพระนางนั้นจัดว่า “สูง” มาก ๆ จริง ๆ แต่… คนมักจะทำเป็นไม่พูดกันว่า จริง ๆ แล้ว “ทุกคนในพระราชวัง ก็ใช้จ่ายเบอร์นั้นกันหมดทั้งนั้นเป็นปกติ” ไม่ว่าจะมีรองเท้าเป็นร้อยเป็นพันคู่ หรือการแต่งตัวหรูหราด้วยผ้าชั้นดี ประดับด้วยสร้อยเพชรพลอย รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ และค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ
Antonia Fraser นักเขียนผู้มีชื่อเสียงในยุคหลังระบุว่าพระญาติของพระเจ้าหลุยส์หลายคนนั่นแหละครับ บางคนใช้จ่ายหนักกว่าพระนางเยอะ
 
ในขณะที่เอาจริง ๆ เทียบกับฐานะของราชินีแล้ว พระนางถือว่าใช้จ่ายธรรมดากว่าบางคนในวังด้วยซ้ำ แม้แต่ตอนที่พระนางอยู่ในตำหนักเล็ก ก็นิยมแต่งกายด้วยผ้ามัสลิน ซึ่งถือได้ว่าไม่แพงเลยหากเทียบกับฐานะชาววังสมัยนั้น
แม้จะมีคนตำหนิเรื่องการสร้างพระตำหนักส่วนพระองค์ “Petit Trianon” แต่ในตอนนั้นก็มีบางคนช่วยพูดปกป้องว่า บางคนแค่ตกแต่งสวนใช้เงินมากกว่าพระนางซะอีก
 
ส่วนสาเหตุความล่มจมของเศรษฐกิจฝรั่งเศสนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากและซับซ้อนกว่าผู้หญิงคนเดียวจะทำให้เกิดได้ครับ เอาจริง ๆ เศรษฐกิจมันก็ง่อนแง่นมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สร้างพระราชวังแวร์ซายแล้ว (ก่อนพระนางประสูติหลายสิบปี) และสภาพก็เป็นแบบนั้นเรื่อยมา
 
จนมาระเบิดเอาเพราะ “สงครามปฏิวัติอเมริกา” ซึ่งตอนนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระสวามีก็ดันมัวแต่ให้การสนับสนุนฝ่ายอเมริกา การทำสงครามเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าค่าเสื้อผ้าเพชรพลอยของสตรีคนเดียวไม่รู้กี่เท่าแน่นอน โดยที่พระนางไม่ได้เข้ามายุ่งอะไรเลยสักนิดเดียว พระสวามีก็ไม่ยอมถอนกำลังทั้งที่มีคนเตือน จนทุกอย่างสายเกินแก้
2.พระนางไล่พวกเขาให้ไปกินเค้กแทนขนมปัง
เรียกว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและโด่งดังที่สุดที่มีต่อพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ในระดับโลกอีกข้อหนึ่งเลย เรียกได้ว่าไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย มีคนช่วยแก้ต่าง เรียกร้องความเป็นธรรมให้กี่ปีกี่ชาติ คนก็ยังเอาประโยคนี้มาเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยพาดพิงถึงพระนางไม่ว่าตรงหรืออ้อม และบางคนทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่จริงแต่ก็จะเล่นให้ได้โดยไม่รู้สึกผิดหรือเกรงใจต่อวิญญาณของพระนางเลยแม้แต่เศษเสี้ยว ราวกับเป็นตราบาปต่อพระนามของพระนางไปชั่วกาลนาน
 
เรื่องมาจากข่าวลือที่ว่ากันว่า ตอนประชาชนเข้าเฝ้าเพื่อร้องเรียนพระนางว่า ประชาชนไม่มีขนมปังจะกินแล้ว พระนางก็ตรัสว่า “ไม่มีขนมปังก็ไปกินเค้กแทนสิ” จนทำให้ประชาชนระเบิดความโกรธต่อพระนางที่จริง ๆ เยอะอยู่แล้วขึ้นไปอีก นำไปสู่จุดจบของพระนางในที่สุด
1
ความจริงคือ….?
อย่างแรกเลยคือ ไม่มีหลักฐานว่าพระนางทรงตรัสเช่นนี้จริงสักครั้งในชีวิต และนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ศึกษานิสัยส่วนพระองค์อย่างดีจะไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ที่พระนางจะตรัสอะไรเช่นนี้ออกมาได้
ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau)
อย่างไรก็ตาม ที่มาของประโยคนี้มีอยู่จริง แต่มิได้มาจากพระนาง แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นประโยคเสียดสีจากในหนังสือของ ฌ็อง-ฌัก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักเขียนชื่อดังในสมัยนั้น โดยประโยคเต็มของมันแปลเป็นอังกฤษได้ว่า
“At length I remembered the last resort of a great princess who, when told that the peasants had no bread, replied: "Then let them eat brioches.”
และประเด็นคือ หนังสือของเขาตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1782 แต่จริง ๆ ตอนเขียน คือปี 1765 ในขณะที่พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ พระชนมายุเพียบ 9 ชันษา และยังอยู่ในออสเตรียดี ๆ ดังนั้นมันจะเป็นคำพูดของพระนางได้อย่างไร (เชื่อกันว่า great princess น่าจะหมายถึงเจ้าหญิงเมืองจีนสักพระองค์ หรือไม่ก็มารี เทเรซ่า ผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือรูโซอาจจะแค่ปั้นเรื่องแต่งขึ้นมาด้วยซ้ำ)
 
กระนั้น ไม่ว่าคนจะรู้เรื่องนี้หรือไม่ พวกเขาก็ยังคงใช้เรื่องนี้ล้อเลียนและเหยียบย่ำพระศพของพระนางต่อไปให้ได้
3.พระนางเป็นหญิงเห็นแก่ตัว ไม่ใส่ใจประชาชน
หนึ่งในเทรดมาร์คหลักเวลาผู้คนอ้างอิงถึงลักษณะนิสัยของพระนาง มักจะสะท้อนภาพของหญิงสูงศักดิ์ผู้เป็นถึงราชินี แต่เห็นแก่ตัว อีโก้จัด เรื่องมาก สนใจแต่ความหรูหรา ไม่สนว่าประชาชนจะอดอยากปากแห้งอย่างไร และมันถูกเล่าขานมาตลอดเป็นร้อย ๆ ปี ปลูกฝังให้เกลียดพระนางกันแม้แต่ในหนังสืออ่านสำหรับเด็ก
 
ความจริงคือ….?
จริงอยู่ ที่พระนางเป็นเชื้อพระวงศ์ นิยมอะไรสวย ๆ งาม ๆ ดูดีมีราคา แต่งพระองค์ออกงานอย่างหรูทุกวันคืน แต่นั่นต่างอะไรกับผู้หญิงทั่วไปที่นิยมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเอง? และจริงที่พระนางชอบทำเป็นเล่น ชอบเที่ยว หรือแม้แต่เล่นการพนัน ทำให้ค่าใช้จ่ายของพระนางสูงจนเป็นที่ครหา แต่แทบทั้งหมดนั้นอยู่ในช่วงวัยรุ่น และเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่ย่อมจะหาความสนุกให้แก่ชีวิต
 
แม้พระนางจะยังติดนิสัยมาตอนเพิ่งขึ้นครองราชย์กับพระสวามี แต่พระนางก็ทำลงไปเพื่อเยียวยาจิตใจจากความเครียดที่ต้องเผชิญในวัง ที่เต็มไปด้วยเรื่องซุบซิบนินทา อิจฉาริษยา ว่าร้ายหาเรื่องจ้องทำลายกันไม่เว้นแต่ละวัน ผิดหรือที่พระนางอยากจะหาอะไรทำ อยากมีชีวิตเป็นของพระนางเองบ้าง
 
แต่โดยนิสัยแท้แล้วนั้น เหล่าคนใกล้ชิดของพระนางจะรู้กันดี บางคนที่รอดชีวิตจากการปฏิวัติมาได้ เช่น มาดาม-ปัน (Jeanne-Louise-Henriette) หญิงรับใช้คนสนิทกล่าวถึงพระนางว่า "พระนางเป็นสตรีที่ทรงยินดีเมื่อได้กระทำสิ่งดี และรู้สึกเสียพระทัยถ้าหากมิได้ทรงทำ"
 
Antonia Fraser กล่าวไว้ในหนังสือของเธอว่า ครั้งหนึ่งพระนางทรงนั่งราชรถไปพบประชาชนที่บาดเจ็บสาหัส พระนางได้สั่งให้ข้าราชบริพารไปตามหมอมาช่วย และพระนางมิยอมเคลื่อนราชรถไปไหนต่อจนกว่าจะเห็นว่าคน ๆ นั้นถูกช่วยเหลือแล้ว และประชาชนได้ร้องเรียนพระนางเรื่องที่เหยี่ยวที่พวกขุนนางเลี้ยงไว้เพื่อการล่าสัตว์นั้นชอบหลุดไปจิกกินทำลายพืชผล พระนางทรงรับสั่งให้มีการจัดการกับเหยี่ยวพวกนั้น (แต่โชคร้ายที่สุดท้ายไม่มีคนไหนยอมทำตามราชินีผู้ทรงพระเยาว์)
 
ตอนที่เกิดวิกฤติขนมปังขึ้น พระนางซึ่งมิได้ทรงทราบเรื่องนี้มาก่อน พอได้ยินเข้าก็แสดงความเห็นใจแก่พวกเขา แต่เพราะพระนางยังคงมั่นใจในพระสวามี จึงให้พวกเขาบอกแก่กษัตริย์ พระองค์คงจะทำอะไรสักอย่างแน่ (หารู้ไม่ว่าพระสวามีตัวดีเอาแต่สนเรื่องทำสงคราม) และยังกล่าวแก่ข้าราชบริพารให้งดซื้อเพชรพลอยมาให้ได้แล้ว
 
นอกจากนี้ พระนางยังทรงขึ้นชื่อในเรื่องของความใจบุญ การให้ทานแก่คนยากจน พระนางทรงกระทำอยู่เสมอ แม้การแจกเงินหรืออาหารให้ประชาชนอาจมิใช่ทางออกที่ดีที่สุดในสายตาของพวกนักวิจารณ์ด้านการเมือง แต่มันก็เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่าที่พระนางจะทำได้ พระนางและพระสวามียังเป็นชาววังส่วนน้อยมากที่พยายามมิให้ราชรถทับไร่สวนของชาวไร่
 
พระนางตรัสสอนพระธิดาองค์โต คือมารี เทเรซ ชาลอตเต้ (Marie-Thérèse-Charlotte หรือ Madame Royale) ให้เห็นแก่ผู้อื่นเสมอ ขนาดเชิญให้เด็กสามัญชนมาร่วมโต๊ะอาหารด้วยกัน และยังให้พระธิดาแบ่งของเล่นแก่พวกเขาด้วย พระนางยังถึงกับขอโทษพระธิดาเมื่อไม่มีเงินจะซื้อของขวัญให้ในฤดูหนาว เพราะให้เงินแก่คนยากจนไปหมดแล้ว
( Campan, Madame (1823). Mémoires sur la vie de Marie-Antoinette. Paris: Nelson Éditeurs. p. 184.)
ทว่าเรื่องเศร้าสะเทือนใจกลับเกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งพระนางพยายามแจกจ่ายอาหารแก่ประชาชนของพระนาง แต่ค่าตอบแทนกลับเป็นเสียงตะโกนดังขึ้นจากในหมู่ฝูงชนว่า “อย่ากิน มันมีพิษ!”
(อ้างอิงจาก Marie Antoinette, the Journey โดย Antonia Fraser)
 
นอกจากนี้พระนางยังเป็นสตรีที่กล้าหาญ พระนางทำหน้าที่ปกป้องครอบครัวและสถาบันกษัตริย์สุดความสามารถแม้จะต้องเจ็บปวดพระทัย แม้ทุกอย่างจะเลวร้ายจนทำให้พระนางกลัวจนพระเกศากลายเป็นสีขาวหมด แต่หลังจากคืนสุดท้ายผ่านพ้นไป พระนางได้เสด็จสู่กิโยตินด้วยท่าทางสงบนิ่ง
และจุดที่โดดเด่นที่สุดคือ การให้อภัย จดหมายที่ว่ากันว่าเป็น “ฉบับสุดท้าย” ที่พระนางเขียนถึงน้องสะใภ้ สื่อว่าพระนางให้อภัยทุกคนที่ใส่ร้ายพระนาง และขอบุตรชายมิให้แก้แค้นแทนพระนาง ซึ่งนิสัยนี้ได้ส่งต่อไปยังพระธิดาด้วย (จดหมายถูกค้นพบในลิ้นชักของโรแบสปิแยร์ ตอนที่พวกของนโปเลียนจับกุมเขา)
และในช่วงวินาทีสุดท้ายก่อนถูกประหาร พระนางได้เดินสะดุดเท้าของเฮนรี แซนสัน เพชฌฆาตที่กำลังจะเป็นผู้บั่นพระเศียรของพระนาง นำมาซึ่งประโยคสุดท้ายในชีวิต นั่นคือ
“ฉันขอโทษ ฉันไม่ได้ตั้งใจ”
ใครเล่ายังจะมีกะใจกล่าวประโยคนั้นขึ้นมาในเวลาแบบนั้นได้ หากเป็นคนแบบที่ถูกกล่าวหาจริง
4.พระนางคิดมีอำนาจเหนือกษัตริย์ ทำตัวควบคุมด้านการเมืองจนวุ่นวาย
นี่ก็อีกข้อกล่าวหาว่าพระนางคิดทำตัวเหนือพระสวามี คิดยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และออกว่าราชการจนบ้านเมืองเละเทะ เรียกได้ว่าเป็นข้อกล่าวหา “สุดจะเบสิค” ต่อสตรีคนใดก็ตามที่ข้องแวะกับกษัตริย์และราชวงศ์ในฐานะคนโปรด
(แม้แต่ทางเอเชีย ก็มีเรื่องทำนองนี้เยอะ ส่วนหนึ่งก็ตำนานจิ้งจอกเก้าหาง ทั้งเวอร์ชั่นของจีนและญี่ปุ่น จนกลายเป็นมุขสามัญ)
 
ความจริงล่ะ?
เอาจริง ๆ พระนางมารี อองตัวเน็ตต์ แทบไม่มีอำนาจใด ๆ ในทางปฏิบัติเลย เอาง่าย ๆ พระนางถูกชวนจากออสเตรียบ้านเกิด มาเพียงเพื่อ “ให้กำเนิดรัชทายาท” แก่ราชวงศ์บูบองส์เท่านั้น เรียกว่าเป็นจุดประสงค์หลักของพวกเขา ไม่ต่างจากสตรีอื่น ๆ ในฐานะเดียวกัน บทบาทของราชินีไม่มีอะไรมากไปกว่าให้กำเนิดรัชทายาท และคอยสนับสนุนกษัตริย์ แต่การสนับสนุนที่ว่าก็มักจะถูกทำให้ไม่เหนือไปกว่าพวกขุนนางรอบข้างทั้งหลายที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกษัตริย์มากกว่า
 
อย่างที่กล่าวไป ขนาดสั่งให้จัดการเรื่องเหยี่ยวยังไม่มีคนทำให้เลย
 
Antonia Fraser ระบุในหนังสือของเธอว่า ข่าวลือให้ร้ายนี้เริ่มต้นมาจากการที่พระนางพยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างพระสวามีกับพี่น้องของพระนาง
 
อย่างไรก็ตาม พระนางเริ่มมีบทบาททางการเมืองจริงจังก็ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพราะว่าพระนางพบแล้วว่าพระสวามีมิได้เรื่องเพียงใด จัดการอะไรที่ตามมาจากการกระทำของตัวเองไม่ได้เลย จนพระนางต้องออกมาช่วยว่าราชการ ทุกคนต่างยอมรับว่าพระนางจัดการได้ดีกว่าพระสวามีเสียด้วยซ้ำ แต่โชคร้ายที่ในสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่แปลกที่พระนางจะถูกเพ่งเล็งจากการออกตัวเช่นนี้ จึงไม่แคล้วการปั้นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีพระนางหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม
 
นักวิชาการบางท่านระบุว่า สาเหตุเป็นเพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไม่มีพระสนมเหมือนกษัตริย์องค์อื่นๆ ในสมัยโบราณ (ส่วนหนึ่งก็อาจจะคำสอนรักเดียวใจเดียวของคริสต์ศาสนา และท้าวเธอไม่เก่งเรื่องผู้หญิง) ซึ่งถ้าลองสังเกตดี ๆ ไม่ว่าสมัยไหน เวลาเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น เป้าโทษหลักก็ไม่พ้น “ผู้หญิง” และกรณีของเรื่องในวัง “นางสนมเอก” ย่อมเป็นเป้าหมายแรก ๆ (ใครมันจะกล้าโทษพระมเหสี) แต่ในเมื่อไม่มีนางสนมอยู่เลยสักคน และคนกล้าวิจารณ์มากขึ้น สุดท้ายหวยเลยตกที่พระมเหสีเพียงคนเดียวที่เป็นผู้หญิงจากชาติศัตรูนั่นเอง ไม่ยุติธรรมเลยจริง ๆ
ภาพจำลอง สร้อยคล้องพระศอที่เป็นต้นตอของคดี
5.คดีสร้อยพระศอ (Affair of Diamond Necklace)
เรื่องดังอีกเรื่องที่เกี่ยวกับตัวพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ก็คงจะหนีไม่พ้นคดีสร้อยพระศอ ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีอื้อฉาวสุดวุ่นวายที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ฝรั่งเศส และทำลายชื่อเสียงของพระนางมากที่สุด
 
ทั้งที่พระนางมิได้ทำอะไรผิดเลย ไม่แม้แต่จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ
(รายละเอียดหากลงในกระทู้จะทำให้ตัวหนังสือมากเกินไป ผมเคยเขียนแล้วในกระทู้เก่า ๆ )
 
ที่แย่ก็คือ ทั้งที่จับตัวคนร้ายได้ ศาลตัดสินดีแล้ว แต่ประชาชนดันไม่เชื่อ พวกเขากลับมองว่าพระนางมารีเป็นราชินีชั่วร้ายกลั่นแกล้งมาดามลาม็อตต์ที่พวกเขาคิดว่าเป็น “คนดี” เรียกว่าเหตุการณ์นี้พระนางถึงขั้นเสียชื่อเสียงรับกรรมไปเต็ม ๆ อย่างไม่รู้ตัว
6.พระนางเอาแต่หลบอยู่ในพระตำหนักเล็ก คุยเล่นกับเพื่อน ๆ ไม่ออกมาสนใจใยดีประชาชน และยังแต่งกายเป็นสามัญชนเพื่อ “ล้อเลียน” พวกเขา
อีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่คนมักจะครหาพระนาง ว่าพระนางเอาแต่คุยเล่นหยอกล้อกับพระสหายใน Petit Trianon ไม่มาออกว่าราชการจริง ๆ จัง ๆ และยังหาว่าการที่พระนางแต่งกายเยี่ยงสามัญชนทั้งที่ใช้เงินมากมายสร้างพระตำหนักนั้นเท่ากับเหยียดหยามพวกเขา
แล้วการมีที่ส่วนตัวมันผิดตรงไหน….?
อย่างที่บอกว่าพระนางแทบไม่มีอำนาจใด ๆ ในทางปฏิบัติ อยู่ในวังก็มีแต่เรื่องวุ่นวาย ใส่สีตีไข่ ดราม่าตลอดศก เป็นใครก็อยากมีที่ส่วนตัวบ้าง และพระนางเองก็คงอยากเข้าใจสามัญชนมากขึ้นเพื่อผลดีในวันข้างหน้า แต่อย่างว่าแหละ ถ้าจะผิด คงเป็นเพราะพระนางไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้จริง ๆ เลยว่าประชาชนเขาอยู่กันจริง ๆ ยังไง
 
คงไม่มีชาววังคนไหนอยากให้ราชินีคนสวยของพวกเขาไปคลุกฝุ่นเปื้อนดินโคลน หรือไปลำบากตากน้ำเหงื่อเป็นแน่ พวกเขาเลยทำเป็นปั้นแต่งสภาพแวดล้อมที่ทำให้พระนาง “หลงเชื่อ” ว่านี่คือวิถีสามัญชนจริง ๆ
 
อีกเรื่องก็คงเป็นเพราะพระนางจิตใจซื่อบริสุทธิ์ และไว้ใจคนผิดไปหน่อย เพราะหาใช่พระสหายทุกคนจะเป็นคนดี เช่นอย่างมาดามโพลิแนค ที่นางและตระกูลคอยประจบประแจงขอเงินภาษีไปใช้ทำอะไรที่ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเลย เรียกว่าตัวปอกลอกของแท้ ตลกร้ายที่คนพวกนี้ถูกพูดถึงน้อยมาก ๆ
 
ส่วนเรื่องล้อเลียนสามัญชนนี่ บอกตรง ๆ ผมว่ามันต้องใช้จินตนาการสูงมากเลยนะถึงจะคิดได้ ถ้าพระนางจะดูถูกพวกเขาจริง ๆ มีอีกหลายวิธีง่ายและลงทุนน้อยกว่านี้เยอะ
และมีตลกร้ายอีกเรื่องคือ ชุดผ้ามัสลินตัวโปรดของพระนางที่แทบไม่ได้แพงสมฐานะราชินีเลยนี้ กลับกลายเป็นเสื้อผ้ายอดนิยมสามัญของสตรีชนชั้นล่างในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ที่ฮิตกันมาก ถึงขนาดใส่เป็นปกติไม่ใช่แค่ตอนเดินขบวนเท่านั้น ดูย้อนแยงกับกระแสความเกลียดชังเสียจริง
7.พระนางคบชู้มากมาย รวมถึงท่านเคาท์แฟร์ซอง + ให้กำเนิดรัชทายาทช้า
เรียกว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การซุบซิบนินทาต่อพระนางมากมายทั้งในและนอกวังเลยทีเดียว นั่นคือพระนางมิได้ให้กำเนิดรัชทายาทเสียที จนกระทั่งหลายปีถึงเพิ่งมามีลูก จนเป็นที่มาของคำกล่าวหาเรื่องเป็นชู้กับเคาท์แอกเซล ฟอน แฟร์ซอง พระสหายคนหนึ่ง จนเรื่องราวของสองคนนี้ถูกนักเขียนบทรุ่นหลัง ๆ นำมาเล่นมากมายทั้งในเชิงดีและร้าย
 
พระนางถูกกล่าวขวัญว่าทั้งที่มีพระเจ้าหลุยส์เป็นพระสวามี แต่ก็ยังแอบคบชู้กับเคาท์แฟร์ซอง หรือแม้กระทั่งผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งแม้แต่ในหนังยุคหลัง ๆ ก็ยังเล่นประเด็นนี้ (แต่อาจจะโชคยังดีที่สมัยนี้ มองความรักที่ว่าในแง่ลบน้อยลงมากหากเทียบกับสมัยนั้น เพราะมีการให้ความสำคัญกับจิตใจผู้หญิง หรือรักร่วมเพศมากยิ่งขึ้น)
แล้วความจริงล่ะ?
ว่าด้วยเรื่องความรักอื้อฉาวมากมายของพระนางก่อน ซึ่งเอาจริง ๆ ทั้งหมด “สรุปได้ค่อนข้างกำกวม และไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอจะเอาผิดพระนางเรื่องนี้ได้เลย”
 
ความรักกับท่านเคาท์แฟร์ซองนั้น หากมองในแง่ดี คือพระนางต้องจากบ้านเกิดเพราะการแต่งงานทางการเมือง ซึ่งอาจมิใช่รักแท้จริง ๆ และพระนางอาจยังไม่รู้จักมันด้วยซ้ำ และเพราะพระเจ้าหลุยส์ซึ่งอคติกับคนออสเตรียอย่างพระนางในช่วงแรก ๆ ไม่ยอมมีอะไรด้วยสักที พระนางเองก็อาจจะเหงาใจมาก เรื่องราวการได้พบกับเคาท์แฟร์ซองจึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีของพวกนักเขียนนิยายโรแมนติคทั้งหลาย และเช่นเดียวกับพวกผู้ชายที่ชอบโจมตีผู้หญิงในเรื่องพวกนี้เพื่อดิสเครดิตพวกนาง แม้แต่ในหนังของ Sophia Coppola ที่แสดงโดย Kirsten Dunst ก็เอาประเด็นนี้มาเล่นจนฮือฮาและเป็นที่ถกเถียงกัน (ทั้งที่ตัวหนังโดยรวมช่วยพระนางค่อนข้างมากนะนั่น)
 
แต่ก็ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ระบุชัดเจนได้ว่า ทั้งสองคนคบชู้กันจริง หรือเป็นแค่เพื่อนกัน หรืออย่างมากก็อาจมีใจให้กันจริง แต่ไม่ได้ถึงขั้นมีอะไรกันก็ได้
แม้ Antonia Fraser จะระบุแค่ว่า “อาจเป็นไปได้” เฉย ๆ แต่ก็ไม่ได้ชี้ชัดลงไป นอกจากนี้ยังมีความพยายามจะพิสูจน์ DNA ขององค์รัชทายาท ว่าตกลงใครเป็นพ่อกันแน่ แต่ทว่า DNA กลับเก่ามากเสียจนไม่สามารถยืนยันอะไรได้
เรียกได้ว่าไม่มีหลักฐานเอาผิดเป็นจริงเป็นจังโดยสิ้นเชิง นอกจากจดหมายของทั้งสองที่อาจจะดูหวานเลี่ยนเกินจนชวนให้คิดเท่านั้น (และจริง ๆ ควรจะสงสัยด้วยนะว่า พระสวามีปล่อยให้แฟร์ซองอยู่ในวังได้ไงตั้งนานทั้งที่มีเรื่องแบบนั้น)
 
ส่วนเรื่องรักร่วมเพศกับผู้หญิงด้วยกันนั้น ก็อย่างว่า บางทีอาจจะกำกวมกับ “มิตรภาพระหว่างลูกผู้หญิง” ด้วยกันที่พบเห็นได้ทั่วไป ที่เหลือก็แค่ข่าวลือและนิยายอิงปวศ.ที่ถือเป็นเรื่องแต่ง ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อเท็จจริงใด ๆ ได้
 
เรื่องให้กำเนิดบุตรธิดาช้าก็หาใช่ความผิดของพระนางไม่ อย่างที่บอกแม้พระนางแทบจะเป็นไอด้อลที่สวยที่สุดแห่งยุค แต่ท้าวเธอพระเจ้าหลุยส์ก็ดันทำเป็นเมินไม่ยอมมีอะไรด้วยกันสักทีเสียอย่างนั้น ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีปัญหาที่องคชาติไม่เปิดจนต้องผ่าตัด ในขณะที่บางแหล่งระบุว่าจริง ๆ ไม่ได้มีอะไร เจ้าตัวอุปาทานไปเองทั้งนั้น (…) แต่สุดท้ายแม้จะช้าไปหน่อย ทั้งสองก็ให้กำเนิดโอรสธิดารวมถึงสี่พระองค์
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือ ทั้งที่มีโอกาสหนีไปก่อนได้ตั้งมากมาย แต่พระนางได้เลือกที่จะยืนหยัดอยู่เคียงข้างพระสวามีและลูก ๆ ทำหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดีจนวินาทีสุดท้ายเท่าที่ทำได้ แม้ในช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุด นั่นคือความจริง
พระนางในขณะที่ถูกกักบริเวณอยู่ในอารามพร้อมกับโอรสธิดา แต่ก็ยังคงถามหาข่าวคราวของเหล่าเด็ก ๆ ที่พระนางอุปการะอยู่ตลอด
8.พระนางชอบกินเนื้อเด็ก เกลียดเด็ก และไม่เอาใจใส่ลูก ๆ ของพระนางเองเลย
แม้จะไม่ค่อยได้ยินกัน แต่บอกตรง ๆ ว่านี่ก็ทำร้ายพระนางเกินคนมาก เพราะที่ว่ามานั่นก็ไม่จริงเลยสักนิด
ความจริงแล้ว “พระนางทรงรักเด็ก ๆ มาก” ซึ่งอาจจะเพราะพระนางไม่สามารถให้ประสูติรัชทายาทได้ในช่วงต้นของการมาอยู่ในฝรั่งเศส ความเหงาทำให้พระนางนิยมเล่นกับพวกเด็กสาวชาววังรุ่นเดียวกัน และชอบเล่นกับพวกเด็ก ๆ และแสดงให้เห็นว่าพระนางเป็นสตรีมีความเป็นแม่เหนือกว่าใคร พระนางไม่ทรงแบ่งแยกพวกเด็ก ๆ ไม่ว่าชนชั้นขุนนางหรือสามัญชน และมักจะคอยรับอุปการะเลี้ยงดูพวกเด็กกำพร้าหลายคน รวมถึงออกค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแก่พวกเขาด้วย แม้พระนางจะให้ประสูติพระธิดาและพระโอรสได้แล้วก็ยังทรงทำเช่นนี้ต่อไป และพระนางเลี้ยงดูพวกเขาอย่างดีที่สุดเท่าที่โอกาสของพระนางอำนวยจะให้กระทำได้
มีครั้งหนึ่ง อัศวินนายหนึ่งได้ถวายของกำนัลเป็นเหยี่ยวล่าเนื้อ และเด็กทาสเชื้อสายแอฟริกาคนหนึ่ง แต่พระนางกลับตัดสินใจปลดปล่อยเด็กคนนั้นและพาเขาเข้ารับบัพติศมา และยังอุปการะเขาอีกคนด้วย (รายละเอียดผมเคยเขียนในกระทู้เก่า ๆ แล้ว)
 
แม้ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก่อนที่จะโดนประหาร ระหว่างที่ถูกคุมขัง ไม่เพียงแต่ลูก ๆ ของพระนาง แต่พระนางยังคอยถามหาเหล่าเด็ก ๆ พวกนั้นอยู่เสมอว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง เรียกว่า “ความเป็นแม่คน” ของพระนางถือว่าน่านับถือที่สุดที่สตรีคนหนึ่งจะเป็นได้เลยทีเดียว
9.พระนางมีเซ็กซ์กับหลุยส์ ชาร์ล พระโอรสของพระนางเอง
อีกหนึ่งข้อกล่าวหาที่เลวร้ายที่สุดที่พระนางได้รับในช่วงการใต่สวนคดี เพื่อทำลายเกียรติของพระนาง พวกเขากล่าวหาด้วยข้อหาที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่สมัยนั้นสามารถจะคิดให้กับแม่คนคนหนึ่งได้
ความจริงคือ?
นอกจากไม่มีหลักฐานเอาผิดแล้ว พระนางยังยืนกรานในการไต่สวนจนวินาทีสุดท้ายถึงความบริสุทธิ์ในฐานะคนเป็นแม่คน ทว่าโชคร้ายที่พวกคณะปฏิวัตินั้น มองพระนางเป็นขวากหนามทางการเมืองที่ต้องกำจัดต่อจากพระสวามี และไม่ยอมให้พระนางพ้นผิดใด ๆ ที่พวกเขายัดให้อยู่แล้ว
Antonia Fraser ระบุว่า ที่มาของข่าวลือให้ร้ายนั้น แท้ที่จริงคือเพราะพระโอรสนอนป่วย พระนางจึงต้องคอยเฝ้าดูแลลูกชายอย่างใกล้ชิดต่างหาก!
เรื่องแค่นี้ก็ยังใส่ความกันให้ได้อีก...
10.พระนางสั่งให้ทหารฆ่าประชาชน และเขียนจดหมายให้ชาติอื่นบุกโจมตีฝรั่งเศส
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสโกรธแค้นพระนาง คือการที่พระนางให้ทหารคุ้มกันพระราชวัง พอประชาชนบุกเข้าไป พวกทหารก็สู้รบกับประชาชน กลายเป็นสุมไฟแค้นให้มากขึ้น และการที่พระนางพยายามเขียนจดหมายหาพี่น้องในต่างประเทศให้นำทหารเข้ามานั้นก็เป็นคดีที่พวกเขาใช้ตัดสินพระนางข้อหาขายชาติอีกด้วย
ความจริงคือ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นได้เกิดขึ้นจริง แต่ข้อมูลแทบทั้งหมดไม่ได้ระบุตรง ๆว่าพระนางสั่งให้ฆ่าประชาชน มีแค่ว่าต้องการให้มาช่วยควบคุมสถานการณ์เท่านั้น ซึ่งพระนางเลือกได้คงไม่หวังให้ประชาชนตาย แต่อย่างว่าสำหรับทหารในแนวหน้า ประชาชนพุ่งเข้ามาอย่างบ้าคลั่งไม่ฟังอะไร จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะสลายม็อบโดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อกัน เพราะถ้าไม่สู้ ก็เป็นพวกเขาที่ต้องถูกตัดหัวเสียบชูขึ้นฟ้าเสียเอง
แน่นอนว่าปัญหาทุกอย่างมันบานปลาย ความนิยมในตัวพระนางตกต่ำสุดขีด ประชาชนบ้าคลั่งเชื่อทุกอย่างที่พวกปฏิวัติพูดไปแล้ว พระสวามีก็ทำอะไรไม่ได้ พระนางซึ่งถูกสอนมาให้ยึดมั่นในระบอบกษัตริย์ มีหน้าที่ในฐานะราชินี ภรรยา และแม่ของลูก ถ้าพระนางไม่ทำอะไรเลย คนพวกนั้นก็จะฆ่าคนทั้งวัง ไม่ใช่แค่พระนาง แต่พระสวามีและลูก ๆ ก็คงจะไม่รอดแม้แต่คนเดียว พระนางได้แสดงถึงสิ่งที่ตนเองต้องทำในฐานะราชินีที่ต้องอยู่ข้างกษัตริย์ ภรรยาเคียงข้างสามี และมารดาที่ต้องปกป้องลูกน้อยอย่างที่สมควรอยู่แล้ว และการที่ต้องให้ชาติบ้านเกิดมาช่วย พระนางคงไม่มีหนทางเลือกอื่นแล้วจริง ๆ ในสถานการณ์นั้น
หากจะว่าเห็นแก่ตัว ก็คือความเห็นแก่ตัวที่ไม่ว่าใครก็คงต้องทำเหมือนกันหมด
11.พระนางเป็นตัวกาลกิณีของฝรั่งเศส
บางคนกล่าวว่า วันที่พระนางประสูติ คือ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1755 มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น และในวันที่พระนางเปิดตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ชาวฝรั่งเศสแห่กันมาชมจนเหยียบกันล้มตายกว่า 300 คน และนั่นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้คนมองพระนางว่าเป็นตัวกาลกิณี
Antonia Fraser ระบุว่า ในช่วงเวลานั้นเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจริง ๆ แต่ทว่า… วันเวลาอาจจะคลาดเคลื่อนก็ได้ เนื่องจากการสื่อสารในสมัยนั้นยังไม่เจริญเท่าสมัยนี้ ไม่แปลกอะไรหากข่าวสารจะคลาดเคลื่อนไปสักวันสองวัน
แต่ถึงจะเป็นจริง คิดว่าในวันหนึ่ง ๆ จะมีคนเกิดในโลกนี้กี่คน? และหากเป็นสมัยนี้ การโทษว่าใครสักคนเป็นตัวซวยเพียงเพราะเขาเกิดในวันเดียวกับที่มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น คงเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าคำว่าไร้สาระและไร้เหตุผลเอามาก ๆ แต่ถ้าพูดชื่อพระนางขึ้นมาล่ะ พวกเขายังจะให้ความเป็นธรรมแบบเดียวกันอยู่หรือเปล่า?
ส่วนเรื่องช่วงที่พระนางเปิดตัวต่อสาธารณชนฝรั่งเศส ที่คนมาแห่กันจนเหยียบกันตายนั่น ก็ทำตัวเองกันทั้งนั้นมิใช่หรือ? หากรู้จักต่อแถวเป็นระเบียบคงไม่เป็นแบบนี้
แต่เหตุการณ์ที่ว่า พระนางและพระสวามีก็พยายามช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องเหล่านั้นอย่างเต็มที่ น่าเสียดายที่สุดท้าย คนเราจะดีมากดีน้อย ดีกลาง ๆ และทำดียังไง ก็หาได้สู้พวกข่าวลือซุบซิบทางการเมืองที่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่พยายามสร้างผีสักตัว ใช้ความเกลียดชังเพื่อปลุกระดมมวลชนในที่สุด
และการที่พวกเขาประหารพระนางไป ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติดีขึ้นเลยสักนิดเดีย
แมกซิมิลัง โรแบสปิแยร์
ความจริงคือ มันวุ่นวายต่อไม่รู้จบ แมกซิมิลัง โรแบสปิแยร์ที่ขอให้ประหารราชาและราชินี ก็ได้ขึ้นเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ส่งคนขึ้นกิโยตินไปเป็นพัน ๆ เพื่อสนองอุดมการณ์และผลประโยชน์ของพรรค ไหนจะประเทศเพื่อนบ้านที่รับไม่ได้กับการกระทำอุกฉกรรจ์ของฝรั่งเศสจนส่งกองทัพมาโจมตี
นโปเลียน โบนาปาร์ต
ถ้าไม่มีนโปเลียนขี่ม้าขาวมาช่วยและขึ้นเป็นจักรพรรดิ ฝรั่งเศสก็เละเป็นโจ๊กไปไหนต่อไหนแล้ว ไม่เหลือมาจนทุกวันนี้หรอกครับ
12.พระนางเป็นคนออสเตรีย
ความจริงนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้คนฝรั่งเศสพากันอคติและรังเกียจพระนาง
ก่อนหน้านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรียและฝรั่งเศสค่อนข้างระหองระแหงกันมาช้านาน และหนึ่งในวีธีการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกราชวงศ์ก็คือ “การแต่งงาน”
การแต่งงานทางการเมือง คือวิธีการที่ง่ายที่สุดในการทำให้ทั้งสองประเทศเป็นดังเครือญาติกัน เพื่อระงับความขัดแย้ง อย่างน้อยก็ในสายตาของพวกชนชั้นปกครอง
แต่ความจริงคือ ความเกลียดชังต่อออสเตรียมิได้หายไปได้ มันฝังรากลึกมานาน สำหรับพวกเขา ราชินีที่มาจากต่างชาติโดยเฉพาะชาติศัตรู ก็ย่อมเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะนำความเกลียดชังไปยัดเยียดใส่ในทุกกรณี ง่าย ๆ พระนางทำดีก็จะหาว่าเอาหน้า แต่ถ้าอะไรขัดใจนิดหน่อยก็ว่าร้ายราวกับไปฆ่าใครตาย ข่าวลือใด ๆ ก็ตัดสินไปเลยว่าจริงแน่นอนไม่ต้องพิสูจน์ หามูลเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น โทษทุกอย่างได้ขอแค่ไม่ต้องโทษตัวเอง
ความน่ากลัวของความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ แม้ทุกวันนี้ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ แค่อาจจะไม่ดังชัดเจนเท่าสมัยอดีต นอกจากถึงเวลาและจังหวะที่มันพร้อมจะระเบิดออกมา กระนั้น สัญชาติอาจเปลี่ยนได้ แต่คนเราเลือกหรือเปลี่ยนชาติกำเนิดไม่ได้
จริงอยู่ ประวัติศาสตร์อาจเล่าได้หลายแง่ คุณจะมองว่าผมถือหางเข้าข้างพระนางมากไปก็ได้ แต่อย่างน้อยผมก็อยากเตือนให้คิดว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่พวกเราเคยชื่นชมการปฏิวัติทางการเมือง ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ท้ายที่สุดอาจไม่ได้มีอะไรมากกว่า “การล้มเจ้า” ของฝรั่งเท่านั้นก็ได้ และสักวันมันอาจจะเกิดขึ้นอีก ตราบที่คนเราเลือกใช้อคติและความเกลียดชังที่เล่าต่อ ๆ กันมาและปฏิเสธความจริงใด ๆ ก็ตามที่ไม่อยากได้ยินเพียงเพราะจะรู้สึกเป็นฝ่ายผิด
เราอาจคาดหวังว่าการที่พระนางเป็นราชินีต้องทำให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าทำไม่ได้ก็สมควรที่จะถูกเกลียด แต่นั่นเป็นการเข้าข้างตัวเองมากไปหรือเปล่า? เพราะความจริงแม้แต่เราเอง ไม่มีใครสามารถทำทุกอย่างให้เป็นที่พอใจต่อทุกคนได้อยู่แล้ว
แต่ถึงกระนั้น เราได้อะไรจากเรื่องราวเหล่านี้? แล้วเมื่อไหร่เราจะคืนความเป็นธรรมแก่พระนาง
เมื่อไหร่เราจะเลิกเอาประโยคนั้นมาขยี้ซ้ำ ๆ ทั้งที่เราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย
เมื่อไหร่เราจะเลิกแสดงความเกลียดต่อพระนางเพียงแค่ได้ยินชื่อเพียงเพราะถูกเล่าผิด ๆ ต่อกันมา
เมื่อไหร่จะกล่าวถึงพระนางในแง่ของเหยื่อที่น่าสงสารมากกว่าตัวร้ายสนองตัณหาความอยากเป็นคนดีของพวกพระเอกสายกู้ชาติ
และเราจะทำเช่นไร มิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเป็นหนที่สอง
หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ไม่ทำให้ใครสักคนที่เราอาจพบเจอได้ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นพระนางมารี อองตัวเน็ตต์คนต่อไป
(จริง ๆ ก็กระทู้ผมเองครับ เขียนไว้หลายปีแล้ว แค่อยากเอามาแบ่งปันที่นี่ด้วย)
โฆษณา