11 ก.ค. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
กิโยตีน เครื่องประหารที่สร้างความเจ็บปวดน้อยที่สุด (?)
สวัสดีครับเพื่อน ๆ ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งที่เพจ “อยากเล่า” นะครับ
วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวของเครื่องประหารชนิดหนึ่ง ที่โด่งดังที่สุดชนิดหนึ่งในประวัติศาสตร์ และเรียกได้ว่าไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินแน่นอนครับ
เครื่องประหารที่ผมจะเล่าในวันนี้ก็คือ “กิโยตีน” แห่งฝรั่งเศสนั่นเอง
เรื่องราวจะเป็นไปมาอย่างไร เพราะเดี๋ยววันนี้ผมจะเล่าให้ฟัง
“กิโยตีน” (guillotine) เป็นเครื่องประหารของฝรั่งเศส มีลักษณะเป็นโครงไม้ ที่ใช้แขวนใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมู น้ำหนักประมาณ 40 กก. ใบมีดจะถูกแขวนไว้ในส่วนบนสุด ภายใต้ใบมีดจะเป็นส่วนที่ให้ผู้ถูกลงโทษวางศีรษะ เมื่อเชือกได้ถูกปล่อยหรือตัดลง ใบมีดที่หนักจะหล่นลงไม้ในระยะทางประมาณ 2.3 เมตร และใช้ตัดศีรษะผู้ถูกประหารอย่างรวดเร็วครับ
กิโยติน
เครื่องประหารกิโยตีนเป็นที่รู้จักในสายของชาวโลกในฐานะเครื่องประหารที่ใช้บั่นพระเศียรพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารี อองตัวเน็ต และเป็นสัญลักษณ์ของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว แต่รู้หรือไม่ครับ ว่าจริง ๆ แล้วกิโยตีนนั่นถูกออกแบบมาเพื่อให้นักโทษประหาร “รู้สึกเจ็บปวดน้อยที่สุด”
หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่าผู้คิดค้นเครื่องประหารกิโยตีนคือคนที่ชื่อกิโยตีน แต่ความจริงแล้ว คนที่คิดค้นและออกแบบเครื่องประหารชนิดนี้คือแพทย์ชาวฝรั่งเศส นามว่า อ็องตวน หลุยส์ (Antoine Louis) ครับ
ภาพเหมือนของนายแพทย์ อ็องตวน หลุยส์ (Antoine Louis)
นายแพทย์หลุยส์เป็นสมาชิกสมาคมศัลยศาสตร์ โดยเขามีความเชื่อว่า “จุดมุ่งหมายของการประหารชีวิต คือการยุติชีวิต ไม่ใช่การสร้างความเจ็บปวดทรมาน" และเขาก็ได้เห็นว่า โทษประหารโดยการแขวนคอที่มักใช้ในยุคกลาง ทำให้นักโทษรู้สึกทรมานมาก และในขณะเดียวกัน โทษประหารชีวิตโดยใช้มีดหรือขวาน ก็มีหลายครั้งที่เพชฌฆาตหั่นคอไม่ขาดในครั้งเดียว สร้างความทรมานให้กับนักโทษ
เขาจึงได้คิดค้นเครื่องประหารกิโยตีนนี้ขึ้นมา เพราะเขาเชื่อว่าหากถูกตัดคอด้วยใบมีดหนักเกือบ 40 กก. ที่ถูกปล่อยลงมาจากที่สูงด้วยความรวดเร็ว จะทำให้ผู้ต้องโทษไม่รู้สึกเจ็บปวดน้อยที่สุด (ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ เพราะคนที่โดนประหารก็ไม่เคยมีโอกาสได้พิสูจน์ด้วยคำพูด)
และจริง ๆ แล้วชื่อของเครื่องประหารชนิดนี้ในตอนแรกสุด ก็ไม่ได้ชื่อกิโยตีนเหมือนดั่งในปัจจุบันนะครับ แต่ชื่อว่า ลูยแซตต์ หรือ ลูยซ็อง (Louisette , Louison) ตามชื่อของนายแพทย์หลุยย์ผู้คิดค้น
ส่วนที่มาของชื่อกิโยตีน เป็นชื่อที่พึ่งค่อยมาเปลี่ยนทีหลังตามชื่อของ ดร.โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็ง (Joseph-Ignace Guillotin) แพทย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้เสนอให้ใช้เครื่องประหารกิโยตีนนี้เป็นเครื่องประหารเชื้อพระวงศ์ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส
ดร.โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็ง (Joseph-Ignace Guillotin)
ก่อนอื่นก็ต้องเท้าความก่อนนะครับ ว่าในอดีต โทษประหารชีวิตของสามัญชนทั่วไป มักจะใช้การแขวนคอเป็นหลักและการต้องโทษประหารด้วยการแขวนคอนี้ก็จะทรมานมาก เพราะใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะเสียชีวิต
แต่หากผู้ต้องโทษตัดหัวนั้นเป็นราชวงศ์หรือชนชั้นสูง หลาย ๆ ครั้งก็มักจะใช้เป็นโทษตัดหัวด้วยขวานหรือดาบ แต่ว่าก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่เพชฌฆาตไม่สามารถหั่นคอไม่ขาดในครั้งเดียว ต้องใช้ถึงสองสามดาบ ทำให้ถึงขนาดมีครอบครัวของผู้ต้องโทษประหารติดสินบนให้เพชฌฆาตใช้ดาบที่คมที่สุดในการประหารเลยทีเดียวครับ
ด้วยเหตุดังนั้น ดร.โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็งจึงได้เสนอให้ใช้เครื่องประหารชนิดใหม่นี้ในการประหารช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และนามสกุลของเขาก็กลายเป็นที่มาของเครื่องประหารจวบจนปัจจุบัน
1
แต่อย่างไรก็ตาม นายแพทย์กียอแต็งก็ไม่ได้ภูมิใจกับเรื่องดังกล่าวนะครับ ในทางกลับกัน เขาเป็นผู้ต่อต้านโทษประหารและยังขอร้องรัฐบาลเปลี่ยนชื่อเครื่องมือดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งเพราะเขาไม่ต้องการให้ชื่อสกุลเป็นชื่อเครื่องประหารชีวิต แต่ก็ไม่เป็นผล จนสุดท้ายเขาและครอบครัวจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อสกุลของตัวเองแทน
ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสและช่วงสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนอย่างน้อยถึง 20,000 คน และเครื่องประหารนี้ก็ยังถูกใช้งานในอีกหลายประเทศและทุกครั้งที่มีการประหารก็มักเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอยู่เสมอ ๆ
การประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส
แต่ฝันร้ายก็ต้องมีวันสิ้นสุด เพราะในที่สุดในปี ค.ศ. 1881 ก็ได้มีการยกเลิกกฎหมายประหารชีวิต จึงไม่มีการประหารด้วยกิโยตีนอีก ยกเว้นช่วงหนึ่งที่นาซีปกครองทวีปยุโรป และได้นำเครื่องประหารชนิดนี้กลับมาใช้อีกครั้งในการประหารผู้ที่ไม่เห็นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม แม้การประหารด้วยเครื่องประหารชนิดนี้ก็ไม่มีแล้วในปัจจุบัน แต่มันก็กลายเป็นหนึ่งในไอคอนของการปฏิวัติฝรั่งเศสและเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความโหดร้ายจวบจนถึงปัจจุบันครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับกับบทความในครั้งนี้ ชื่นชอบกันบ้างหรือเปล่า
เช่นเคยครับหากชื่นชอบบทความแบบนี้ อย่าลืมกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตามได้ที่เพจ “อยากเล่า” นะครับ
โฆษณา