12 ก.ค. 2020 เวลา 02:53 • การศึกษา
“ออทิสติก” กับ “ความอัจฉริยะ” ที่หลายคนมองข้าม
ถ้าพูดถึงคนที่เป็นออทิสติก ในสังคมของเรา ก็จะมองว่า “ออทิสติก” เป็นความบกพร่อง แต่ลืมเข้าใจไปว่า
ผู้ที่เป็นอัจฉริยะอาจมีความผิดปกติในบางเรื่อง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีความผิดปกติก็อาจมีความเป็นอัจฉริยะได้เหมือนกัน
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ผู้มีความสามารถเป็นเลิศทั้งในด้านคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ผู้ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความเป็นอัจฉริยะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มักมีการตั้งคำถามอยู่เสมอถึงความผิดปกติในตัวเขา เนื่องจากเขาพูดได้ตอนอายุ 3 ปี เขียนหนังสือ สะกดคำไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อยใส่ใจในบุคลิกภาพของตนเอง การที่ผมของเขายุ่งเหยิง ไม่ตัดผม ก็ไม่ใช่สไตล์หรือแฟชั่นของการไว้ทรงผมในช่วงยุคสมัยนั้น
สำหรับบุคคลออทิสติก จากสถิติพบว่ามีเกือบร้อยละ 10 ที่มีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัว เรียกกลุ่มนี้ว่า “ออทิสติก ซาวองก์ (Autistic Savant)” อาจเป็นอัจฉริยะเฉพาะด้าน หรือหลายๆ ด้านพร้อมกัน อาจเป็นอัจฉริยะในศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ดนตรี ฯลฯ บางคนอาจะแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เด็ก บางคนก็รอจังหวะเวลาและโอกาสในการแสดงออก และในขณะเดียวกัน หลายๆคนไม่มีแม้แต่โอกาสด้วยซ้ำ
แต่เมื่อถูกระบุว่าเป็นออทิสติกแล้ว บางครั้งความเป็นอัจฉริยะจะถูกมองข้ามไป ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากเราไปให้ความสำคัญกับความผิดปกติมากกว่าความเป็นอัจฉริยะ ไปมุ่งเน้นการแก้ไขความผิดปกติ จนลืมส่งเสริมความเป็นอัจฉริยะ
บางทีแอดก็รู้สึกว่า คนที่เป็นอัจฉริยะแต่มีความผิดปกติก็ยังดีกว่า คนทั่วๆไปอย่างแอดนะ เพราะว่า แอดนี่มีความสามารถหลายอย่าง แต่ไม่สุดสักทาง ไม่ได้เป็นอัจฉริยะในด้านใดเลย แต่กับคนที่เป็นออทิสติกที่มีความเป็นอัจฉริยะ มีความเก่งด้านเดียวก็จริง แต่จะเก่งในด้านนั้นมากๆ ถึงขั้นเป็นอัจฉริยะในด้านนั้นเลย และแอดเชื่อว่า ถ้าเราส่งเสริมให้เขาได้ไปต่อ อาจเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองและผู้คนอีกมาก
เมื่อเด็กออทิสติก ได้รับการแก้ไขความบกพร่อง สิ่งที่ได้รับการแก้ไข คือการลดความหมกมุ่นในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่มากเกินไป ซึ่งเป็นสื่งที่ถูกต้องในการรักษาในปัจจุบัน แต่ในบางครั้ง ความหมกมุ่นในบางเรื่อง นำมาซึ่งความรู้จริง ความรอบรู้ในเรื่องนั้นๆได้เช่นกัน รายการ เกมโชว์ทางทีวี “แฟนพันธุ์แท้” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อคนเรามีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งและศึกษา ค้นคว้า แสวงหาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขความหมกมุ่น ไม่ใช่การห้าม งดทำ หรือเบี่ยงเบนเท่านั้น แต่ควรเน้นการขยายความสนใจในในเรื่องเดิมให้กว้างขึ้น ให้มีมิติ มุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ก็สามารถช่วยลดความหมกมุ่นโดยไม่ปิดกั้นความสนใจได้เช่นกัน
เด็กบางคนไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นคอมพิวเตอร์ เนื่องจากทำให้เกิดความหมกมุ่น และไม่ช่วยส่งเสริมในด้านทักษะสังคม ซึ่งอาจเป้นการไปทำลายโอกาส ทำลายสิ่งที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิตเขาก็ได้ เพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้น สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า และมีความหมาย คือการได้ทำงานที่ตอบสนองความพึงพอใจ และความสามารถทางปัญญาของเขาเอง
เด็กอัจฉริยะที่เป็นออทิสติก กับ เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ อะไรคือความแตกต่าง ?
คำตอบคือ ไม่มีความแตกต่างเลยในสิ่งที่เห็น แต่แตกต่างในความรู้สึก ความรู้สึกที่นำมาซึ่งการยอมรับหรือการปฏิเสธ การให้โอกาส หรือการปิดโอกาส ความรู้สึกที่สามารถเปลี่ยนอนาคตของเด็กได้ทั้งชีวิต
ในปัจจบันเรามักเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า “เด็กออทิสติกที่เป็นอัจฉริยะ” แสดงให้เห็นถึงลำดับความสำคัญที่ให้กับความผิดปกติ ความบกพร่อง ก่อนความสามารถในระดับอัจฉริยะที่เด็กมี เมื่อเด็กถูกมองว่าผิดปกติ เขาก็อาจขาดโอกาสในการพัฒนาที่เด็กอัจฉริยะ ควรจะได้รับ
ในทางกลับกัน ถ้าเขาถูกเรียกว่า “เด็กอัจฉริยะ ที่เป็นออทิสติก” อาจสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากทุกคนจะเห็นความสามารถในระดับอัจฉริยะของเขาก่อน การยอมรับก็เกิดขึ้น โอกาสที่เขาจะเรียนรู้และพัฒนาก็เพิ่มขึ้น
ส่วนความผิดปกติที่มีการได้รับการแก้ไข บนฐานความคิดที่ว่า “แก้ไขเพื่อดึงความสารถที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เต็มที่ เต็มศักยภาพ ไม่ใช่แก้ไขเพื่อลดความผิดปกติเท่านั้น” และผลพลอยได้ที่สำคัญอีกอย่างคือ
เมื่อได้รับการยอมรับในสังคมแล้ว โอกาสที่จะพัฒนาทักษะด้านสังคมก็มากขึ้นด้วย เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องเป็นฝ่ายที่ปรับตัวเข้าหาสังคมเพียงฝ่ายเดียว แต่สังคมก็พยายาม ปรับตัวเข้าหาพวกเขาด้วยเช่นกัน เป็นการพบกันครึ่งทาง
ขอขอบคุณทุกคนที่อ่านบทความและคอมเมนต์ให้กำลังใจกัน
#แอดกล้วยหอมจอมซน
โฆษณา