12 ก.ค. 2020 เวลา 09:11 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา วุฒิศักดิ์ คลินิก ยื่นศาลล้มละลาย ขอฟื้นฟูกิจการ
วุฒิศักดิ์ เคยเป็นหนึ่งใน คลินิกเสริมความงาม ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของไทย
ในวันนี้ บริษัทได้ยื่นศาลล้มละลาย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เพราะว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
เกิดอะไรขึ้นกับ วุฒิศักดิ์คลินิก?
เรื่องนี้เป็น กรณีศึกษา อะไรให้กับเรา
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
3
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้
ใครจะไปคิดว่าเกี่ยวข้องกับคลินิกที่ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งกันชื่อ “นิติพลคลินิก”
นายแพทย์ วุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช อดีตพนักงานของนิติพลคลินิก ตัดสินใจออกมาเปิดคลินิกเสริมความงามร่วมกับ คุณพลภัทร จันทร์วิเมลือง และ คุณกรณ์ กรณ์หิรัญ โดยใช้ชื่อคลินิกว่า “วุฒิศักดิ์”
การเกิดขึ้นของ วุฒิศักดิ์คลินิก ทำให้การแข่งขันในวงการนี้แทบลุกเป็นไฟ
เพราะวุฒิศักดิ์ที่เกิดขึ้นหลังคนอื่นเป็นสิบปี กลับมาแรงจนกลายเป็นอันดับต้นๆในวงการ
วุฒิศักดิ์คลินิก ใช้กลยุทธ์ทุ่มเงินโฆษณา และจ้างดารามากมาย
เพื่อให้มาโปรโมตวุฒิศักดิ์คลินิกอย่างเต็มที่
ซึ่งถ้าดูรายได้ย้อนหลัง ก็จะพบว่า วุฒิศักดิ์คลินิก เคยรุ่งเรืองจริงๆ
ปี 2555 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 2,896 ล้านบาท กำไร 594 ล้านบาท
ปี 2556 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 3,499 ล้านบาท กำไร 414 ล้านบาท
ด้วยรายได้ขนาดนี้ กำไรขนาดนี้ จึงมีกลุ่มทุนสนใจเข้ามาซื้อกิจการ
และจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เกิดขึ้นใน ปี 2557..
เมื่อบริษัท EFORL ประกาศซื้อกิจการวุฒิศักดิ์คลินิก 4,500 ล้านบาท
ซึ่งหมายความว่า นายแพทย์วุฒิศักดิ์ ไม่ได้เป็นเจ้าของคลินิกที่มีชื่อตัวเอง นับตั้งแต่นั้นมา
เรื่องที่น่าสนใจคือ เดิมบริษัท EFORL ทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีกำไรที่ดีพอสมควร
แต่ EFORL ก็ไม่ได้มีเงินเยอะขนาด 4,500 ล้านบาท..
สิ่งที่บริษัท EFORL ทำ คือ กู้เงินจากธนาคารมากว่า 3,000 ล้านบาท ผ่านทั้งบริษัทตัวเอง และบริษัทลูกชื่อ WCIH และเอา WCIH มาถือวุฒิศักดิ์อีกที
ตอนนั้น EFORL ตั้งใจจะให้ วุฒิศักดิ์ IPO เข้าตลาดหุ้น และเอาเงินที่ได้จาก IPO มาใช้หนี้
การทำแบบนี้เป็นการ leverage ที่หนักมาก การ leverage เยอะขนาดนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือถ้าผลออกมาดีก็จะช่วยเร่งผลตอบแทนได้มาก ส่วนข้อเสียก็คือถ้าซื้อแล้วกิจการไม่เป็นไปตามที่คาด นอกจากจะขาดทุนที่ตัวกิจการเองแล้ว ยังไม่มีเงินพอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อีกด้วย
ย้อนกลับมาดูรายได้อีกครั้ง
ปี 2555 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 2,896 ล้านบาท กำไร 594 ล้านบาท
ปี 2556 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 3,499 ล้านบาท กำไร 414 ล้านบาท
ปี 2557 EFORL ซื้อกิจการ วุฒิศักดิ์คลินิก
ปี 2557 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 2,922 ล้านบาท กำไร 71 ล้านบาท
ปี 2558 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 2,584 ล้านบาท กำไร 150 ล้านบาท
ปี 2559 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 1,623 ล้านบาท ขาดทุน 528 ล้านบาท
ปี 2560 วุฒิศักดิ์คลินิก มีรายได้ 481 ล้านบาท ขาดทุน 665 ล้านบาท
และ ปี 2560 เป็นปีสุดท้าย ที่วุฒิศักดิ์คลินิก ส่งงบต่อกระทรวงพาณิชย์..
เงิน 4,500 ล้านบาท กลับกลายเป็นว่าเอามาแลกกับกิจการที่รายได้หด ขาดทุนเละ
เรื่องนี้เป็นเพราะ 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ กลุ่มผู้บริหารใหม่อาจไม่มีความถนัดในการทำธุรกิจเท่ากลุ่มเดิม
ส่วนที่ 2 คือ สภาพธุรกิจเสริมความงาม มีการแข่งขันมากมาย ในขณะเดียวกันพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปจากเดิม
ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ นอกจาก วุฒิศักดิ์คลินิก จะเกิดปัญหาแล้ว แต่ก็ดันลากบริษัท EFORL ให้มีปัญหาตามไปด้วย
ราคาหุ้น EFORL ตกจากจุดสูงสุดที่ 1.98 บาท มาอยู่ที่ 0.03 บาท..
เรื่องของ EFORL อาจสอนให้รู้ว่า เราอย่าทำอะไรเกินตัว
เพราะถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด จากเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เกินตัวได้เช่นกัน
สำหรับ เหตุการณ์ครั้งสำคัญของ วุฒิศักดิ์คลินิก วันนี้
วุฒิศักดิ์คลินิก ตัดสินใจ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย
จากเดิมที่จะฝืนยอมขาดทุนไปเรื่อย
แต่เมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีมาตรการปิดศูนย์การค้า ก็ทำให้ไม่ฝืนอีกต่อไป
เพราะ วุฒิศักดิ์คลินิกที่มีสาขาจำนวนมากอยู่ในศูนย์การค้า
จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ซึ่งหลังจากนี้วุฒิศักดิ์คลินิกก็จะต้องทำแผนฟื้นฟู และต้องผ่านการอนุมัติจากเจ้าหนี้
และเรื่องนี้น่าจะเป็นแค่หนึ่งในหลายกิจการ
ที่กำลังต่อแถวยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายในช่วงนี้
เรื่องนี้ทำให้คิดได้ว่า
นอกจาก โควิด-19 จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์แล้ว
แต่โควิด-19 ยังเป็นอันตรายต่อธุรกิจที่อ่อนแออีกด้วย
ดังนั้น ถ้าวันนี้มีใครมาเสนอ แพ็กเกจโปรโมชัน จ่ายครั้งเดียว ใช้ได้ถึงปีหน้า
เราอาจต้องพึงระวังไว้ว่า
บริษัทนั้น อาจอยู่ไม่รอด แม้แต่ในปีนี้..
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
โฆษณา