12 ก.ค. 2020 เวลา 11:14 • กีฬา
ไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทันที แม้แต่ "เฟอร์กี้" ยอดกุนซือที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ ยังต้องใช้เวลานานมากกว่าจะมีแชมป์แรกจนเกือบโดนไล่ออกมาแล้ว เราจะย้อนอดีตกลับไปถึงเหตุการณ์ในช่วงปี 1986-1990 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
12 พฤษภาคม 2013 วันสุดท้ายที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทีมในโอลด์แทรฟฟอร์ด เป็นเกมระหว่างแมนฯยูไนเต็ดกับสวอนซี โดยนัดนั้น สโมสรได้จัดพิธีอำลาอย่างสมเกียรติ
ในเกมนั้น แมนฯยูไนเต็ดชนะ 2-1 และพอเกมจบ ไฮไลท์ที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อเฟอร์กี้เดินลงสู่สนาม หยิบไมโครโฟน และเริ่มกล่าว speech เขาเล่าความรู้สึกของตัวเอง ในช่วงเวลาที่ทำงานกับสโมสรแห่งนี้ เล่าว่าเขาภูมิใจแค่ไหนที่ได้พาแมนฯยูไนเต็ดยกระดับขึ้นมาเป็นสโมสรอันดับหนึ่งในประเทศอังกฤษ
และประโยคเด็ดในสุนทรพจน์ของเฟอร์กี้ มันคือสิ่งสุดท้ายที่เขา อยากจะ "ฝากไว้" ถึงแฟนบอลทุกคนในสโมสร
"ผมอยากจะเตือนพวกคุณทุกคนว่า สโมสรแห่งนี้ยืนหยัดเคียงข้างผมในช่วงเวลาที่เลวร้าย ดังนั้นหน้าที่ของพวกคุณนับจากวันนี้ คือยืนหยัด และให้กำลังใจผู้จัดการทีมคนใหม่ของเรา" เฟอร์กูสันกล่าว
เฟอร์กี้นั้นรู้ดี ว่าคนที่ต้องมารับไม้ต่อจากเขา มันเป็นภาระที่หนักอึ้ง ทำดีก็แค่เสมอตัว ทำแย่กว่าก็จะโดนสาปส่ง การต้องมาสานงานต่อจากคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ มันสาหัสมากจริงๆ
ดังนั้นเขาจึงคาดหวังว่า แฟนๆจะอดทนรอความสำเร็จได้ แน่นอนมันต้องผ่านการเจ็บปวดหลายช่วง หลายเวลา แต่ถ้าหากมันยังพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ก็อย่าเพิ่งใจร้อนรีบไปขับไล่โค้ชออกจากตำแหน่ง คือ ทุกคนต้องใจเย็น และให้เวลากับผู้จัดการทีมคนใหม่บ้าง
เฟอร์กี้เข้าใจอย่างดี เพราะครั้งหนึ่งเขาเองก็ได้รับแรงกดดันเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงแรกของการคุมทีม เขาโดนแฟนบอลกดดันให้สโมสรไล่ออกจากตำแหน่ง นั่นคือช่วงที่เครียดที่สุดในการคุมทีมของเขาเลยทีเดียว
3 ซีซั่นแรกที่เฟอร์กี้ คุมแมนฯยูไนเต็ด 1986-87, 1987-88 และ 1988-89 เขาไม่มีแชมป์อะไรเลยแม้แต่รายการเดียว ทีมจบซีซั่นแบบมือเปล่าตลอด
คือแม้บอลจะพอมีทรง แต่เมื่อฟุตบอลไม่ชนะ ไม่มีโทรฟี่ แฟนบอลทีมใหญ่อย่างแมนฯยู ก็ไม่อาจจะอดทนได้ มีการเรียกร้องให้สโมสรเปลี่ยนผู้จัดการทีมเสียที
คนอย่างเฟอร์กูสันไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งก็เคยโดนโห่ในสนามตัวเอง และโดนขับไล่ไสส่งให้ลาออกจากตำแหน่งเสียที
ย้อนกลับไป วันที่ 6 พฤศจิกายน 1986 รอน แอตกินสัน ถูกไล่ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนฯยูไนเต็ด เพราะในการออกสตาร์ต 13 เกมแรกของลีก ในซีซั่น 1986-87 เขาพาทีมชนะได้แค่ 3 แมตช์เท่านั้น คือเรียกได้ว่าไม่มีทรงอย่างแท้จริง ทีมจมอยู่อันดับ 19 ของตาราง
ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ทีมมีสิทธิ์ตกชั้นได้เลย ดังนั้นสโมสรต้องเปลี่ยนตัวผู้จัดการทีมทันที ไปดึงเอาอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คนหนุ่มวัย 44 ปี ที่มีผลงานดีเยี่ยม กับสโมสรอเบอร์ดีนในสกอตแลนด์เข้ามารับงานต่อ
แน่นอน ในสายตาของแฟนบอลทั่วไป ก็อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จเร็วที่สุด แต่เฟอร์กี้เล่าให้ฟังภายหลังว่า การทำทีมได้แชมป์เลยมันไม่ง่ายขนาดนั้น
นั่นเพราะสภาพทีมตอนนั้นมีความ Mess หรือเละเทะอย่างแท้จริง นักเตะคุณภาพไม่ถึง หลายคนอีโก้จัด บอร์ดบริหารก็ซื้อตัวแบบมึนงง ขณะที่สภาพทีมโดยรวมก็ไม่มีวินัยเลยถ้าเทียบกับทีมอื่นในลีก
เฟอร์กี้มองว่า ก่อนจะไปหวังถึงแชมป์อะไรนั่น คุณต้องจัดการกับปัญหาให้หมดก่อน เพราะคุณจะตกแต่งบ้านให้สวยได้อย่างไร ถ้าในบ้านมีแต่กองขยะระเกะระกะไปหมด ดังนั้นขั้นแรกก่อนที่จะแต่งบ้าน คือต้องเคลียร์บ้านให้สะอาดก่อน
และแน่นอนขั้นตอนการ "เคลียร์บ้าน" มันไม่สามารถทำได้ใน 2-3 เดือน แต่มันต้องมีเวลา 2-3 ปี การปรับความคิดของผู้คน สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆขึ้นมา มันไม่ได้ทำได้ในพริบตาอย่างที่แฟนบอลคาดหวัง
สิ่งแรกที่เฟอร์กี้เห็นก่อนเลยคือเรื่อง "อายุ" ของนักเตะ คือแมนฯยูไนเต็ดจ่ายเงินค่าจ้างแพงๆ สำหรับนักเตะอายุเยอะ บางคนก็ยังโอเค แต่ส่วนมากหมดไฟในการเล่นไปเรียบร้อยแล้ว คือเล่น รับเงินเดือน กลับบ้าน ไม่มีแรงกระหายถึงชัยชนะ ซึ่งเขาไม่รู้ว่าจะพาทีมแบบนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร
ในช่วงแรกๆ เขาเองก็ฝืนใช้ไปก่อน เพราะตัวเองเพิ่งย้ายมาใหม่ จะมาไล่โละทุกคนออกหมดทีมก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่หลังจากนั้นเฟอร์กี้ก็ค้นพบว่า สิ่งที่เขาคิดนั้นมันถูกแล้วจริงๆ ทีมจะเดินหน้าไม่ได้เลย ถ้าไม่มีนักเตะเลือดใหม่ๆ ในสโมสร
"ผมคุยกับมาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ประธานสโมสรของเรา ว่าผมขอให้โละนักเตะอายุเยอะๆออกได้ไหม ขายไปให้หมดเลย และปั้นดาวรุ่งขึ้นมาแทน อาจจะใช้วิธีซื้อตัวใหม่ หรือเอามาจากอคาเดมี่ของสโมสรก็ได้" เฟอร์กูสันกล่าว
คือในอดีต บอร์ดบริหารยังเชื่อว่า ยิ่งอายุเยอะก็ยิ่งดีกว่า นักเตะถ้ามีประสบการณ์โชกโชน ก็มักจะทำผลงานดีในสนาม ดังนั้นถ้าต้องจ่ายเงินค่าเหนื่อยเท่ากัน เลือกตัวเก๋าไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือ? ซึ่งเฟอร์กี้ก็ต้องใช้เวลาในการโน้มน้าว เพื่อให้ผู้บริหารเปลี่ยนความคิดอยู่หลายปี
จนในที่สุด ใช้เวลาเป็นปี แมนฯยูไนเต็ดจึงทำตามที่เฟอร์กี้ขอ สโมสรไล่ขายตัวเก๋าๆออกจากทีมไล่ตั้งแต่ กอร์ดอน สตรัคคั่น (32 ปี), พอล แม็คกรัธ (29 ปี), คริส เทอร์เนอร์ (30 ปี), เควิน มอแรน (32 ปี) และ แฟรงค์ สเตเปิ้ลตัน (31 ปี) เคลียร์ทิ้งไปยกเซ็ต จากนั้นก็จ่ายเงินซื้อคนหนุ่มวัยเบญจเพสเข้ามา เช่น แกรี่ พัลลิสเตอร์ (24 ปี), นีล เว็บบ์ (26 ปี), มิค ฟีแลน (26 ปี),ไบรอัน แม็คแคลร์ (24 ปี), แดนนี่ วอลเลซ (25 ปี) และ พอล อินซ์ (22 ปี) เข้ามาแทนที่
เมื่อเปลี่ยนแปลงทีม ลดอายุของนักเตะลง นักเตะก็สู้ด้วยความกระหายในชัยชนะมากขึ้น มันนำมาซึ่งผลงานที่ดีในสนาม
อีกจุดหนึ่งที่เขาต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลง คือทัศนคติในการซื้อนักเตะของสโมสร กล่าวคือ ในอดีตทีมงานซื้อขายของแมนฯยูไนเต็ดจะเชื่อในเรื่อง data เสมอ คือเอาข้อมูลทั้งหมดจากแมวมองมากอง ดูว่าสถิตินักเตะคนนี้วิ่งเร็วแค่ไหน มีสถิติยิงประตูกี่ลูก ถ้าเป็นกองหลังเก็บคลีนชีทได้กี่นัด สกัดบอลได้กี่ครั้ง ทุกอย่างว่ากันที่ตัวเลข
ในปี 1987 เฟอร์กูสัน ประทับใจกองหลังของนอริช ซิตี้ ที่ชื่อสตีฟ บรูซ จึงส่งแมวมองไปเก็บข้อมูล ปรากฏว่าตัวเลขสถิติไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ค่าสปีดไม่เร็ว แถมส่วนสูงก็น้อยมาก (183 ซม.) ซึ่งถือว่าน้อยเกินไปกับตำแหน่งกองหลังตัวกลางในฟุตบอลอังกฤษ ที่คู่แข่งมักเน้นการโยนบอมบ์
"ของบางอย่าง สถิติหรือเครื่องจักรมันก็บอกคุณไม่ได้หรอก อย่างเช่นเรื่องทัศนคติ นักเตะคนนี้ใจสู้ไหม มีความขี้เกียจหรือเปล่า ดังนั้นผมจึงเชื่อสายตาตัวเอง มากกว่าสถิติตัวเลขบนหน้ากระดาน ในปี 1987 ตอนที่ผมจะซื้อสตีฟ บรูซ เราส่งแพทย์ไปตรวจร่างกายของเขา แล้วมาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ บอกกับผมว่า สภาพร่างกายบรูซไม่ค่อยโอเคนะ แต่ผมสวนกลับไปว่า ไอ้หมอนี่ลงเล่นติดต่อกันโดยไม่บาดเจ็บตลอด 5 ปีเต็ม ดังนั้นจะไปสนตัวเลขทำไม จากนั้นผมก็เดินหน้าปิดดีล ซื้อบรูซเข้ามาในทีม"
เมื่อแมนฯยูไนเต็ดได้ตัวสตีฟ บรูซ เขากลายเป็นกำลังหลักของสโมสร และช่วยให้ทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ในภายหลัง
ในปีแรกของเฟอร์กี้ เขาก็ไม่ได้ซื้อตัวที่ต้องการโดยง่ายเหมือนกัน และบอร์ดบริหารของทีมก็มีไอเดียของตัวเอง ว่าอยากซื้อใครเพราะอะไร ดังนั้นกว่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหาร เพื่อให้เลือกจะเชื่อใจเขา มันก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน
ไม่ใช่แค่กับเบื้องบนเท่านั้น ที่ผู้จัดการทีมต้องใช้เวลาซื้อใจ กับวัฒนธรรมในห้องแต่งตัวเช่นเดียวกัน มันจำเป็นต้องมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลา
"ตอนที่ผมมาแมนฯยูไนเต็ดในปีแรก นักเตะแต่ละคนจะมีสปอนเซอร์ของตัวเอง รีบ็อค พูม่า อาดิดาส และเวลาออกไปเยือน ผู้เล่นจะใส่เสื้อแจ๊กเก็ตชุดสปอนเซอร์ของตัวเองเพื่อโฆษณาแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งบอกตรงๆว่ามันเละเทะมาก" เฟอร์กูสันเล่า ลองนึกภาพตาม เวลาไปเล่นเกมเยือน นักเตะ 11 คน ใส่เสื้อ 11 ชุด เดินลงจากรถบัส มันดูเละเทะไปหมด
"มันเละถึงขั้นหายนะ และผมไม่สามารถรับเรื่องแบบนี้ได้ ผมสั่งให้สโมสรตัดสูท แบบเดียวกันทั้งสโมสร และเวลาออกไปเยือนทุกคนต้องใส่ชุดแบบเดียวกัน แสดงถึงความเป็นทีมเวิร์ก"
แน่นอนนักเตะหลายคนก็บ่น ถึงกฎระเบียบที่สร้างความอึดอัด แต่พอเวลาผ่านไป และเฟอร์กี้ยึดถือกฎอย่างหนักแน่น มันก็กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเอง มันอาจจะเป็นแค่เรื่องเสื้อผ้าก็จริง แต่มันก็ส่งผลให้ทีมดูเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น และมีระเบียบวินัยมากขึ้นด้วย
อีกเรื่องที่ภายในของแมนฯยูไนเต็ดเละเทะมาก คือเรื่องแอลกอฮอล์ นักเตะในทีมชอบดื่มเหล้า ซ้อมเสร็จไปจมอยู่ในผับ ดื่มเบียร์กันแบบบ้าคลั่ง โดยไม่สนใจเรื่องโภชนาการใดๆ ดังนั้นเฟอร์กี้พอย้ายไปคุมแมนฯยูไนเต็ด จึงจัดการเรียกทุกคนในสโมสรรวม 40 คน ทั้งนักเตะและสตาฟฟ์ และประกาศกฎอาญาสิทธิ์ว่า
"เอาล่ะ ฉันได้ยินเรื่องกิจกรรมการดื่มของทุกคนแล้ว แนวทางการทำทีมของฉันคือนักเตะต้องไม่ดื่ม ดังนั้นเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนที่จะเปลี่ยนคือพวกนาย เพราะฉันจะไม่เปลี่ยนจุดยืนในการทำทีมอย่างแน่นอน"
อย่างไรก็ตาม คำพูดของเฟอร์กี้ที่ดูแข็งกร้าวเกินไปในวันแรก ทำให้มีนักเตะเกิดอาการต่อต้าน "ผมพบว่ามีนักเตะบางคนก็ยังเข้าผับดื่มเหล้าอยู่ดี พวกเขาคงคิดในใจว่า เคยได้ยินโค้ชคนอื่นพูดแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน"
ในเรื่องนี้ เฟอร์กูสันต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะปรับทัศนคติของนักเตะทั้งทีมได้จริงๆ การเปลี่ยนสิ่งที่คนคุ้นชิน และทำมาตลอด มันไม่สามารถทำได้ในพริบตา
"จริงๆถ้าย้อนเวลาได้ ในวันนั้นผมคงไม่เรียก 40 คน มาประชุมกันเรื่องแอลกอฮอล์ แต่ผมคงจะจัดการขายนักเตะคนที่เป็นผู้นำในการชวนไปดื่มเหล้ามากกว่า ผมเองก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ในการจัดการเช่นกัน"
ระหว่างที่เฟอร์กี้ ค่อยๆจัดการปัญหาทีละเปลาะ ผลงานในสนามก็ขึ้นๆลงๆ ในฤดูกาลแรก (1986-87) แมนฯยูไนเต็ดจบอันดับ 11 จากนั้นในปีที่ 2 (1987-88) จบด้วยการเป็นรองแชมป์ แล้วพอปีที่ 3 (1988-89) ก็ร่วงไปอยู่ที่ 11 อีก ขณะที่บอลถ้วยก็ตกรอบทุกรายการทั้ง 3 ปีที่คุมทีม
แม้จะมีปัญหาซ่อนเร้นมากมายในสโมสร แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่แฟนบอลจำเป็นต้องมาใส่ใจด้วย สิ่งที่แฟนบอลต้องการคือผลการแข่งขัน จะอะไรก็แล้วแต่ ขอแค่ชนะในการแข่งก็พอ นี่ต่างหากคือสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับฟอร์มการเล่นของทีมปีศาจแดงนั้น แฟนบอลเห็นว่าเฟอร์กี้ทำทีมมีทรงก็จริง แต่สุดท้ายในบอลลีกก็ขาดความสม่ำเสมอ ส่วนในบอลถ้วยก็ตกรอบตลอด ทำให้แฟนๆเกิดคำถามว่าเฟอร์กูสันคือคนที่ใช่จริงๆของแมนฯยูไนเต็ดหรือเปล่า มีทรงแต่ไม่ชนะ จะเกิดประโยชน์อะไร และเริ่มมีกระแสเรียกร้องเบาๆ ให้ปลดเฟอร์กี้จากตำแหน่ง
แม้แต่สื่อมวลชนเองก็คิดคล้ายๆแฟนบอล โดยนักข่าวจากหนังสือพิมพ์อินดิเพนเดนท์ ตั้งฉายาให้เฟอร์กูสันว่า Fergie the Flop หรือเฟอร์กี้จอมล้มเหลว จากผลงานการร้างแชมป์มา 3 ปีติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม บอร์ดบริหารยังหนักแน่นอยู่ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ยังให้ความเชื่อใจเฟอร์กูสันต่อไป ไม่รีบปลดตามกระแสสังคม
เข้าสู่ปีที่ 4 (1989-90) คู่ปรับสำคัญที่สุดลิเวอร์พูล มีผลงานร้อนแรงมาก นำเป็นจ่าฝูงใสๆ ขณะที่แมนฯยูไนเต็ด อยู่ครึ่งล่างของตาราง ผลงานในลีกย่ำแย่มาก จนโดนแฟนลิเวอร์พูลเย้ยหยันอย่างสนุกสนาน ยิ่งทำให้เฟอร์กูสันโดนกดดันหนักมากกว่าเดิม
นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 1989 จนถึง 3 กุมภาพันธ์ 1990 เป็นเวลา 3 เดือนกับอีก 1 สัปดาห์ แมนฯยูไนเต็ดลงเล่นในเกมลีก ทั้งหมด 10 นัด แต่ไม่สามารถชนะคู่แข่งได้เลยแม้แต่เกมเดียว
ผลงานคือ ชนะ 0 เสมอ 4 แพ้ 6 ซึ่งเฟอร์กูสันกล่าวว่านี่คือ "The darkest period" หรือช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในชีวิตการคุมทีมของเขา ใครจะไปเชื่อคนอย่างเฟอร์กี้ ไม่ชนะเกมลีก 10 นัดติดต่อกัน
1
การมีฟอร์มเลวร้ายแบบนี้ ทำให้เฟอร์กูสันโดนแฟนแมนฯยูไนเต็ดโห่ใส่ แม้จะเล่นในโอลด์แทรฟฟอร์ดบ้านตัวเองก็ไม่เว้น เขาโดนโห่เละเทะ เพราะโดนมองว่าฝีมือไม่ถึง สโมสรควรหาโค้ชคนใหม่โดยด่วน
ตอนนี้ปัญหาภายในหมดไปแล้ว บอร์ดบริหารมีทัศนคติที่ดีขึ้นในการเลือกผู้เล่นมาเสริมทัพ เช่นเดียวกับนักเตะก็มีวินัยมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก แต่ทว่าอย่างที่บอก คือแฟนๆไม่สนใจเรื่องนี้ ถ้าผลงานแย่ขนาดนี้ พวกเขาก็จะไม่ทน
แฟนบอลบีบสโมสรให้ไล่เฟอร์กูสันออก เช่นเดียวกับสื่อมวลชนที่เล่นงานเขาทุกวัน ซึ่งผู้บริหารก็พยายามยันเอาไว้จนถึงที่สุด แต่มาถึงช่วงปลายฤดูกาล ก็เริ่มต้านกระแสสังคมไม่ไหวแล้ว
นั่นเพราะผลงานในเกมลีกมันเลวร้ายมาก แมนฯยูไนเต็ดจบอันดับ 13 ของลีก มีแต้มตามหลังแชมป์ลีกลิเวอร์พูลอยู่ 31 แต้ม คือมันห่างไกลกันลิบแบบนี้ แฟนบอลรับไม่ได้จริงๆ
โชคดีอย่างหนึ่งของเฟอร์กูสันคือ แม้ผลงานในลีกจะแย่มาก แต่เขายังทำผลงานดีในบอลถ้วย เฟอร์กี้พาแมนฯยูไนเต็ดเข้าชิงเอฟเอคัพได้สำเร็จ
คือ ณ เวลานั้น ว่ากันตามตรง ถ้าเฟอร์กี้ไม่ได้แชมป์เอฟเอคัพในปี 1990 ล่ะก็ สโมสรคงรับแรงกดดันไม่ไหวแล้ว และต้องปลดออกในช่วงซัมเมอร์แน่ ดังนั้นในนัดชิงชนะเลิศ คือการเดิมพันครั้งสำคัญของเขา ว่าจะอยู่หรือไป
คู่ชิงเอฟเอคัพ คือคริสตัล พาเลซ ของกุนซือสตีฟ ค็อปเปลล์ ที่มีนักเตะคุณภาพอย่าง ไนเจล มาร์ติน นายทวารดีกรีทีมชาติอังกฤษ, อลัน พาร์ดิว กองกลางฝีเท้าดี และ จอห์น ซาลาโก้ ดาวเตะไนจีเรียที่เลือกเล่นให้ทีมชาติอังกฤษ
ในนัดชิงจบ 90 นาที เสมอ 2-2 พอต่อเวลาพิเศษ พาเลซขึ้นนำ 3-2 จากมาร์ก ไบรท์ ซึ่งแมนฯยูไนเต็ดจะแพ้อยู่แล้ว แต่นาทีที่ 113 มาร์ก ฮิวจ์สมาตีเสมอ 3-3 ได้อย่างฉิวเฉียด ซึ่งตามกฎของเอฟเอในยุคนั้น ไม่มียิงจุดโทษ แม้จะเป็นนัดชิงก็ต้องเตะรีเพลย์อีกเกม
เฟอร์กูสันหวิดตาย เขารอดได้แบบเฉียดฉิวและมีโอกาสแก้ตัวอีกหนึ่งนัด
เอฟเอคัพนัดชิงเกมรีเพลย์ ในอีก 5 วันต่อมา พาเลซใช้ผู้เช่นชุดเดิมทั้งหมด ส่วนแมนฯยูไนเต็ดเปลี่ยนหนึ่งคน คือเอานายทวาร จิม เลห์ตัน ที่เสียสามลูกออก แล้วใช้ เลส ซีลีย์ นายทวารสำรองลงเล่นแทน
เกมเต็มไปด้วยความตึงเครียด และในที่สุดแมนฯยูไนเต็ดก็มายิงประตูได้นาทีที่ 59 จากลี มาร์ติน แบ็กซ้ายของทีม และเป็นประตูชัยให้ทีมปีศาจแดงเฉือนชนะ 1-0 คว้าแชมป์เอฟเอคัพไปครอง
การได้โทรฟี่ถ้วยสำคัญอย่างเอฟเอคัพ มันทำให้เฟอร์กูสันมียันต์ป้องกันตัว แฟนบอลแม้จะไม่ชอบใจ และอยากให้เปลี่ยนผู้จัดการทีม แต่เมื่อมีแชมป์แบบนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้เฟอร์กี้คุมทีมต่อไปในซีซั่นหน้า
และคราวนี้ เมื่อได้โอกาสในมือ เฟอร์กี้ไม่พลาดอีกแล้ว เขาพาทีมคว้าแชมป์ "ทุกปี" ต่อจากนั้น ตั้งแต่คัพวินเนอร์สคัพ ในฤดูกาล 1990-91 ตามด้วยลีกคัพในซีซั่น 1991-92 ก่อนที่จะมาคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในซีซั่น 1992-93
และเรื่องราวต่อจากนั้น ก็อย่างที่ทุกคนทราบดี ทีมปีศาจแดงยกระดับขึ้นมาเป็นทีมอันดับ 1 ที่ไม่มีใครต้านทานได้ และสถานะของเฟอร์กูสันก็ไม่อยู่ในความเสี่ยงอีกต่อไป เขากลายเป็นผู้จัดการทีมที่ไม่มีใครแตะต้องได้ในที่สุด
แต่แน่นอน ถ้าถามว่าครั้งหนึ่งเขาเกือบจะโดนไล่ออกจริงไหม คำตอบคือจริง
เฟอร์กี้มีความกดดันมากๆในช่วงแรก แต่ยังโชคดีที่สโมสรยังเลือกเชื่อใจจนถึงนาทีสุดท้าย และเมื่อเขาได้เวลามากพอก็พาทีมประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
สิ่งที่เราเห็นคือ แม้แต่คนอย่างเฟอร์กูสันยังต้องการเวลาในการสร้างทีม ซึ่งก็โชคดีที่เขาได้เวลาถึง 4 ปี
ในโลกฟุตบอลจริงอยู่ เราเห็นคนอัจฉริยะมากมายที่พาทีมได้แชมป์ทันทีตั้งแต่ปีแรก อย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่าปีแรกกับบาร์เซโลน่า หรือ โชเซ่ มูรินโญ่ปีแรกกับเชลซี คือมันก็มีเคสแบบนั้นเหมือนกัน แต่แน่นอน มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้แบบนั้น
บางสโมสร มันมีปัญหาโครงสร้างหยั่งลึก นักเตะโดยรวมไม่ดีพอ ในห้องแต่งตัวมีทัศนคติที่ย่ำแย่ชอบสนใจเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องฟุตบอล เรื่องเหล่านี้สั่งสมมาปีแล้วปีเล่า ดังนั้นมันไม่แปลกเลย ที่ต้องใช้ "เวลา" ในการเปลี่ยนแปลงให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือแฟนบอลนั่นล่ะ จะสามารถอดทนได้แค่ไหน การแก้ไขและวางระบบใหม่ ในโลกฟุตบอลยุคนี้ มันใช้เวลาอย่างน้อยก็ต้องมี 3 ปี
แต่ถ้าแฟนๆทนไมไหว เห็นทีมไม่ได้แชมป์ปีนึง ก็เรียกร้องขอเปลี่ยนผู้จัดการทีม สิ่งที่พยายามจะเริ่มสร้าง ก็ต้องมานับหนึ่งใหม่ เปลี่ยนกุนซือที ก็นับหนึ่งใหม่ที นับไปเรื่อยๆ อีกครั้ง และอีกครั้ง แล้วแบบนี้มันจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไหร่
ดังนั้นสำหรับทีมใหญ่ที่กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เป็นบททดสอบใจของแฟนๆ ก็คือ
จะทนความเจ็บปวดได้ไหม ถ้าต้องเห็นคู่แข่งประสบความสำเร็จมากกว่า
จะรับมือกับความผิดหวังได้ไหม ถ้าบอลทรงดี แต่จบซีซั่นมือเปล่า ไม่ได้แชมป์เสียที
และจะยอมเดินหน้าต่อไปไหม ถ้าเห็นแสงสว่างเพียงแค่ปลายอุโมงค์เท่านั้น
#ManchesterUnited
โฆษณา