12 ก.ค. 2020 เวลา 13:48 • สุขภาพ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการวัดความดันโลหิตที่บ้าน
มาทำความรู้จักวิธีการวัดความดันโลหิตที่บ้าน หรือ Home blood pressure monitoring (HBPM) กันครับว่ามีอะไรบ้าง
สำหรับคนที่มีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้าน นี่คือสิ่งที่ควรรู้นะครับ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมของวัน แนะนำให้วัด 2 ช่วงเวลา ดังนี้
1. ช่วงเวลาเช้า
แนะนำวัดหลังตื่นนอนก่อนกินอาหารเช้าและก่อนกินยาลดความดันโลหิตเพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาว่าสามารถควบคุมความดันโลหิต 24 ชั่วโมงได้หรือไม่
2. ช่วงเวลาที่ 2
แนะนำให้วัดช่วงเวลาก่อนนอนหรือก่อนอาหารเย็นหรือวัดเมื่อมีอาการที่สงสัยว่าความดันโลหิตจะต่ำเกิน เช่น มีอาการเวียนศีรษะหน้ามืดเวลาเปลี่ยนท่าทางจากนอนเป็นนั่ง หรือจากนั่งเป็นลุกขึ้นยืน เป็นต้น
เกล็ดความรู้อื่นๆ
1. จำนวนครั้งที่วัดในแต่ละช่วงให้วัดอย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 1 นาที
2. ความถี่ที่เหมาะสมในการวัดควรติดต่อกัน 3-7 วัน แล้วนำค่าที่ได้มาหาค่าเฉลี่ย
3. ไม่แนะนำให้คนไข้ปรับยาตามความดันโลหิตที่บ้านด้วยตนเอง เช่น ถ้าเกิดวัดความดันโลหิตแล้วสูง ก็ไม่ควรจะเพิ่มยากินเอง เป็นต้น
4. ถ้าเกิดคนไข้และญาติมีความกังวล แนะนำให้มาพบแพทย์พร้อมกับความดันโลหิตที่จดไว้
5. กรณีสงสัยความเที่ยงตรงของเครื่องวัดให้นำเครื่องมาวัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาลเปรียบเทียบกับค่าความดันโลหิตที่วัดโดยเครื่องสถานพยาบาล หากต่างกันไม่เกิน 5-10 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ายังเที่ยงตรงอยู่
การแปลผลค่าความดันโลหิตที่วัดจากบ้าน (HBPM)
ค่าความดันซิสโตลิกหรือค่าตัวบน (SBP) ≥ 135 มิลลิเมตรปรอท หรือค่าความดันไดแอสโตลิกหรือค่าตัวล่าง (DBP) ≥ 85 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ข้อดีของการวัดความดันโลหิตที่บ้าน (HBPM)
- ช่วยตรวจหาภาวะความดันโลหิตสูงลวง เช่น white coat hypertension หรือ masked hypertension
- เพิ่มความแม่นยำในการตรวจและติดตามความดันโลหิต
- สามารถตรวจสอบฤทธิ์ยาว่าสามารถควบคุมความดันโลหิตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่
- ประเมินความดันโลหิตหลังหยุดยาลดความดันว่ากลับไปสู่ค่าปกติหรือไม่
ข้อเสียของการวัดความดันโลหิตที่บ้าน
- อาจทำให้ประเมินความดันโลหิตในช่วงเวลากลางวันต่ำ
- ผู้ป่วยอาจรายงานค่าความดันโลหิตคลาดเคลื่อน
- อาจเพิ่มความวิตกกังวลให้แก่คนไข้และญาติ
โฆษณา