12 ก.ค. 2020 เวลา 14:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปัจจัยฉุดที่ทำให้ GDP ของไทยหดตัวต่ำสุด ในอาเซียน
จากรายงาน World Economic Outlook ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2563 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวของ GDP ประเทศต่างๆทั่วโลกในปี 2563 สำหรับประเทศไทย IMF คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยเท่ากับ -6.7 % เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของ GDP ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ปรากฎว่า ไทยมีอัตราการขยายตัวของ GDP ต่ำที่สุด โดยสาเหตุหลักเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งผลของค่าเงินบาทแข็งขึ้นและวิกฤตของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป
โครงสร้างเศรษฐกิจของไทย พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยรายได้ของไทยมาจากการส่งออกประมาณ 60% และท่องเที่ยวประมาณ 15 % นั่นคือ รายได้ 3 ใน 4 ของประเทศไทยมาจากต่างประเทศ นั่นเอง
ผลของค่าเงินบาทแข็งขึ้นและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้การส่งออกลดลง
ผลของค่าเงินบาทแข็งขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยแพงขึ้น สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศคู่แข่ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งขึ้นจากเดิมถึง 6 % นอกจากนี้ผลของการแพร่รระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลก ทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศคู่ค้าลดลงอย่างมาก โดยรายได้จากการส่งออกของไทย 5 เดือนแรก ลดลงจากปีก่อนถึง 22.5% ซึ่งเป็นตัวเลขการส่งออกที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ลดลงจากปีก่อน 68.64% ขณะที่สินค้าส่งออกจากภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การส่งออกกุ้งแช่แข็ง ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้นำการส่งออกกุ้งในตลาดโลก ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 3 %
รายได้การท่องเที่ยวในประเทศทดแทนไม่ได้ และ Travel Bubble เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
การแพร่ระบาดไวรัสโควิดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 63 เหลือเพียง 8 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนถึง 80% รายได้จากการท่องเที่ยวเหลือเพียง 1.23 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อนถึง 60% และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเที่ยวปันสุขเพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น แต่กำลังซื้อของคนไทยยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก นอกจากนี้โครงการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble ยังเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากนักท่องเที่ยวหลักที่มาจากประเทศจีนยังเกิดปัญหาโควิดระลอก 2 อยู่
การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานของโลก โอกาสท้าทายของไทย
ถึงแม้ผลกระทบของโควิดในอนาคตจะหมดไป แต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนยังคงอยู่ ทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกสั้นลง ประเทศต่างๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่นเตรียมโยกย้ายการผลิตบางส่วนออกจากจีนกลับไปผลิตที่ประเทศตนเอง หรือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศในภูมิภาคอาเซียนแทน อย่างเช่น บริษัท Apple กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนาม ประเทศไทยต้องใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ เช่น การอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนจากต่างชาติ การฝึกทักษะแรงงานไทยให้พร้อมกับการลงทุนจากต่างประเทศ และทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายของรัฐบาลไทยในการกระตุ้น GDP และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยต่อไป
โฆษณา