13 ก.ค. 2020 เวลา 10:15 • หนังสือ
เล่าหนังสือ🥰
วิ ช า สุ ด ท้ า ย ที่ ม ห า วิ ท ย า ลั ย ไ ม่ ไ ด้ ส อ น
ตอนที่ 2 🤗 (จบจ้า)
มี 2 ตอนเท่านั้นค่ะ ลงตอนเช้า กับ ตอนเย็น สำหรับเล่าเล่มนี้
ความเดิมจากตอนที่แล้วตามนี้เลยค่ะ(อ่านตอน 2 นี้ก่อนก็ได้นะคะ เชื่อมติด ต่อได้ สบายมากค่ะทุกคน)
ใครยังไม่ได้อ่าน ตอนที 1 จะข้ามมาอ่านตอนที่ 2 ก่อนก็ย่อมได้ค่ะ ไม่งงงวยอะไร ตามสะดวกต่อใจและเวลาเลยค่าาาา
หลังจากที่วินดาได้เกริ่นถึงเรื่องราวในหนังสือและหมวดแรก Learning : การเรียนรู้ เป็นสุทรพจน์ของ Marc Lewis และหยิบเรื่องนักไต่ลวดคนแรก มาเล่าให้ได้อ่านแล้วในตอนที่ 1
ตอนนี้ถึงเวลาของหมวดที่ 2-4 ของหนังสือเล่มนี้แล้วค่าาาาา
หมวดที่สอง Life & Self (ชีวิตและตัวตน)
หมวดนี้วินดาเลือก Lesson ของ Sheryl Sandberg : วันที่ยากลำบากคือวันที่จะกำหนดว่าคุณเป็นใคร มาเล่านะคะ
รายละเอียดและประวัติ Sheryl Sandberg
เชอริล แซนด์เบิร์ก กล่าวไว้ช่วงหนึ่งในวันกล่าวสุนทรพจน์สำหรับบัณฑิต เธอให้ความสำคัญว่าเป็นวันแห่งการทบทวน เพราะถือเป็นวันสิ้นสุดยุคหนึ่งของชีวิต และเริ่มต้นของยุคใหม่ เธอได้เริ่มเล่าถึงทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้ในชีวิต โดยเฉพาะความตายของสามี
เธอเสียสามีไปอย่างฉับพลัน มีเรื่องราวต่างๆมากมายเกิดขึ้นกับชีวิต เธอต้องเข้มแข็งเพื่อลูก ต้องอดทนเพื่อไม่โศกเศร้า ต้องเรียนรู้ความทุกข์ ความโหดร้าย และความสูญเสีย
เธอเอาเรื่องนี้มาเล่าด้วยความหวังเพื่อเป็นกำลังใจและชวนให้คิดเพื่อจะก้าวเดินต่อไปในชีวิต บทเรียนเกี่ยวกับความหวัง ความเข็มแข็ง และแสงภายในตัวเราไม่มีวันดับลงได้
เธอกำลังจะบอกเราว่ามีข้อมูลให้เรียนรู้ นักจิตวิทยา ชื่อมาร์ติน เซลิกแมน(Martin Seligman) ใช้เวลาหลายทศวรรษศึกษาว่าคนเรารับมือกับปัญหาอย่างไร เขาพบว่ามีตัว P สามตัว ได้แก่
Personalization(การโทษตัวเอง), Pervasiveness(ความแพร่กระจาย) และ Permanence(ความยืนยง) สิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อกระบวนการฟื้นคืนจากวามทุกข์ของเรา ความยืดหยุ่นปรับสู่สังคมเดิมได้
Personalization คือ ความเชื่อที่ว่าเราคือคนผิดเอง บทเรียนนี้บอกว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่เกิดกับเรานั้นเกิดขึ้นเพราะเรา การไม่โทษตัวเองเวลาที่ล้มเหลวช่วยให้เราฟื้นตัวจนทำได้ดีกว่าเดิม
Pervasiven คือ ความเชื่อว่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งจะกระทบกับทุกมิติในชีวิต ลองมองในมุมที่ว่ามีหลายอย่างในชีวิตที่ไม่เลวร้าย เลือกมองด้านดีและเดินต่อไป
Permanence คือ ความเชื่อที่ว่าจะโศกเศร้าไปชั่วนิรันดร์ สิ่งที่เราควรจะทำคือยอมรับความรู้สึกของเรา แต่ตระหนักด้วยว่ามันไม่อยู่ไปตลอดกาล เวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
P ทั้งสามตัวนี้ คือ ปฏิกิริยาทางอารมณ์ทั่วไป เกิดขึ้นกับหลายสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ทั้งในอาชีพการงาน ชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์ ถ้าเรามีสติมองออกว่ากำลังจะตกหลุม เราก็จะยับยั้งตัวเองไม่ให้ตกหลุมได้
ร่างกายเรามีระบบภูมิคุ้มกันทางกายภาพฉันใด สมองของเราก็มีระบบภูมิคุ้มกันทางจิตวิทยาฉันนั้น
เดินทางกันต่อไปที่หมวดที่ 3 กันเลยค่าาาา เข้าสู่หมวด Conscience(จิตสำนึก)
วินดาเลือก Lesson ที่จะเล่าเป็นของ Martha Nussbaum : สำนึกของพลเมืองที่เปี่ยมความเอื้ออาทร
ดร.มาร์ธา นัสบอห์ม ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเหตุการณ์ในประเทศ เชื่อมโยงมาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปจนถึงแนวคิดของพลเมืองโลก หน้าที่ ความรับผิดชอบ ความห่วงใย และความเอื้ออาทร
รายละเอียดและประวัติ Martha Nussbaum
เธอให้ความสำคัญกับมิติส่วนบุคคลและมิติทางด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะ 'ความเอื้ออาทร'
อริสโตเติล (Aristotle) ชี้ให้พวกเราเห็นนานแล้วว่าความเอื้ออาทรของมนุษย์ ปกติต้องประกอบด้วยความคิด 3 ประการ
ประการแรก คนอื่นประสบกับเรื่องร้ายอะไรสักอย่าง ประการที่สอง เรื่องร้ายแรงนั้นไม่ใช่ความผิดของเขา(หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ทั้งหมด) และประการที่สาม ตัวเราเองก็มีความเสี่ยงที่จะประสบเรื่องร้ายแรงนั้นเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่าความเอื้ออาทร คือ 'ห่วงโซ่ทางจิตวิทยา' ที่เชื่อมโยงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของเราเข้ากับสถานการณ์ของคนอื่น ไม่ว่าจะดีหรือเลว ด้วยเหตุนี้ความเอื้ออาทรจึงเป็นความรู้สึกที่มีประโยชน์ทางศีลธรรม เมื่อมันเกิดอย่างเหมาะสม
ปัญหาหนึ่งที่พวกเราต้องระวัง คือ อาการหลงตัวเองขั้นรุนแรงจนถึงระดับที่คนคนนั้นเรียกร้องอำนาจผูกขาดการนิยามความดี และตีความทุกสิ่งทุกอย่างเข้าข้างตัวเองทั้งนั้น อาการนี้เกิดขึ้นได้หลายครั้งในชีวิตมนุษย์
เธอมองว่าการศึกษาที่ประสบความสำเร็จจะต้องปลูกฝังนิสัยชอบคิดวิเคราะห์ให้สามารถกำจัดแนวคิดเรื่องที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว ร่วมกันสร้างสำนึกของพลเมืองที่เปี่ยมความเอื้ออาทรในโลก
และเดินทางกันมาถึงหมวดสุดท้าย หมวดที่ 4 Success(ความสำเร็จ)
วินดาเลือกเรื่องของ Jerry Zucker : จงวัดความสำเร็จด้วยความสุขของผู้คนรอบตัวคุณ
เจอร์รี่ ซุคเกอร์ เปิดด้วยการเล่าเรื่องส่วนตัวและขมวดมาถึงเรื่องการไปถึงฮอลลีวูดว่าเป็นส่วนที่ง่าย แต่การหา ‘ตรงนั้น’ ให้เจอเป็นเรื่องยากยิ่ง
รายละเอียดและประวัติ Jerry Zucker
เขาเล่าถึงกฎ 5 ข้อ ที่แนะนำให้เก็บไว้ใช้ ดังนี้
กฎข้อหนึ่ง : จงออกไปตามหาความฝัน อย่ามัวแต่นั่งรอมัน การวางแผนอนาคตเป็นเรื่องที่ดี และจงใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน
กฎข้อสอง : ทำในสิ่งที่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปีแล้วย้อนกลับมามองตัวเองจะไม่พูดว่า “ฉันทำแบบนี้ลงไปได้ยังไง?”
ในชีวิตบัณฑิตทุกคนตอนนี้ คือ จุดที่อยู่ในสถานภาพพิเศษที่อาจไม่มีอีกแล้วในอนาคต นี่เป็นจุดที่ไม่มีอะไรต้องสูญเสีย ถ้าคุณมีฝันนี่คือเวลาที่จะไล่ตามมัน
เขากล่าวว่า “ผมไม่มีเงิน แต่ผมรับความล้มเหลวได้ และผมก็ค้นพบว่าผมทำอะไรได้ดี”
กฎข้อสาม : ถ้าคุณมีไอเดียที่ดี ถ้าคุณมีแผนที่มีเหตุผล และถ้าคุณมีวิสัยทัศน์ จงแสดงมันออกมา ดังเช่นเรื่องนี้
เขาเล่าว่าสมัยเด็กบ้านเกิดไฟไหม้ มีรถดับเพลิงมาพร้อมบุรุษดับเพลิงถือสายยางอันใหญ่วิ่งเข้าไปเพื่อดับไฟ ต่อบันไดเหล็กพาดบนผนัง ตอนนั้นมีคุณยายข้างบ้านเห็นบุรุษดับเพลิงกำลังวุ่นอยู่กับบันไดเหล็กด้วยความกังวล เธอจึงตะโกนออกไปว่า “ลืมบันไดซะ! เอาสายยางพ่นน้ำใส่ไฟก็พอ!”
บุรุษดับเพลิงตอบสนองทันที ทิ้งบันไดเหล็กและหักปากสายยางไปที่ไฟและดับมันลงได้ภายในเวลาประมาณ 40 วินาที
จากเหตุการณ์นี้สอนเราสองเรื่อง
1.อย่าคิดว่าทุกคนรู้วิธีเพราะมันเป็นงานของเขา
2.อย่ายอมถูกข่มขวัญด้วยชุดในเครื่องแบบ
กฎข้อสี่ : ถ้าคุณจะล้มเหลว จงล้มเหลวอย่างยิ่งใหญ่ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดต่อการไปให้ถึงตรงนั้น คือ ความกลัวที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คนเดียวที่เห็นว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องใหญ่จริงๆคือ ตัวเอง
กฎข้อห้า : เวลาคุณไปร้านอาหารแล้วต้องการซอสมะเขือเทศ อย่าบอกกับเด็กเสิร์ฟว่า “เอาซอสมะเขือเทศมาหน่อย” แต่ควรพูดว่า “ขอซอสมะเขือเทศหน่อยได้ไหมครับ/ค่ะ”
รักแท้เป็นสิ่งสุดยอดมาก มันไม่ใช่เรื่องง่ายระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่ถ้าคุณพยายามมากๆจนคุณรักให้เป็น มันจะทำให้คุณมีความสุขมากกว่าสิ่งอื่นๆที่คุณทำในชีวิต
เมื่อคุณเริ่มออกเดินทางคุณอาจจะพยายามกำจัดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่คุณไม่ชอบ แต่ถ้าคุณไม่ทำอย่างนั้น คุณก็แค่ต้องเติมความรักให้มากขึ้น ความรักเป็นสิ่งที่ยิ่งคุณให้ไปมากเท่าไหร่คุณยิ่งมีมันมากขึ้นเท่านั้น
อย่าวัดตัวเองด้วยความสำเร็จของคุณ แต่จงวัดมันด้วยความสุขของผู้คนรอบตัวคุณ ถ้าคุณทำแบบนี้ได้ คุณจะทำอะไรก็ได้ ไปที่ไหนก็ได้ เพราะคุณจะนำมันติดตัวไปด้วยทุกหนแห่ง🥰
เป็นยังไงกันบ้างค่ะทุกคนจบไปแล้วกับการเล่าหนังสือสไตล์วินดา เล่มนี้เชื่อว่าถ้าทุกคนได้มาสัมผัสจะรู้ถึงความคุ้มค่าของการได้อ่านค่ะ
ในเล่มนี้ยังมีอีกหลายเรื่องราว หลายความรู้สึกที่รอให้ทุกคนได้มาปฏิสัมพันธ์นะคะ ถ้ามีโอกาสแนะนำให้เปิดอ่านกับตัวเองดูค่ะ🤗
อ้างอิงจาก👇🏻
หนังสือ วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลับไม่ได้สอน
ผู้แปล : สฤณี อาชวานันทกุล
ประวัติผู้แปล
แล้วพบกันใหม่นะคะ👋🏻
#windasharing
โฆษณา