30 ส.ค. 2020 เวลา 07:30 • การศึกษา
หลากหลายเหตุผล ที่คุณจะเข้าใจหากคุณเคยไปเรียนเมืองนอก
แน่นอนว่าการไปเรียนต่างประเทศให้ประสบการณ์เราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต เอาตัวรอด การศึกษา และฝีมือการทำกับข้าว
และแน่นอนว่าระหว่างทางเราอาจเจออุปสรรคขวากหนามมากมายที่คนที่ไม่เคยเรียนเมืองนอกมาก่อน อาจไม่เข้าใจ
อีกทั้งการไปเรียนเมืองนอกในระยะเวลาที่ต่างกัน ประเทศที่ต่างกัน วัฒนธรรมและภาษาที่ต่างกัน ทำให้ชีวิตของนักเรียนนอกของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปอีกด้วย เราอาจเจอปัญหาที่คล้ายกัน แต่ปัญหาจะใหญ่มากหรือน้อยนั้น ก็คงจะแตกต่างออกไปเป็นรายบุคคล
1. การจัดการเรื่องการเงิน
หลายคนเรียนด้วยทุนตัวเอง หลายคนเรียนด้วยทุนรัฐบาล บางคนใช้ทุนเอกชน บางคนไม่ได้มีต้นทุนสูง ถึงแม้จะมีโอกาสเรียนต่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าจะใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายได้
หากเปรียบกับนักเรียนแลกเปลี่ยน นักเรียนที่เรียนแบบ full-time อาจต้องประหยัดมัธยัสกว่า เพราะจุดประสงค์เขาไม่ได้อยู่ที่การเที่ยวแต่เป็นเรื่องเรียนซะส่วนใหญ่ บางคนยังต้องทำงานควบคู่ไปด้วย
ฉะนั้น เราไม่สามารถออกไปกินข้าวทุกมื้อได้ ในประเทศที่มีค่าครองชีพสูง จะไม่มีการคิดเรื่องเที่ยวยาวๆ ในระหว่างเปิดเทอมเรียน อีกทั้งหลังเลิกเรียนเราคงจะมานั่งคิดว่า มื้อนี้เราจะทำกับข้าวอะไรดี เสาร์อาทิตย์ต้องไปซุปเปอร์กี่โมง ซื้ออะไรบ้าง จากนั้นเราจะไปเรียนหนังสือในห้องสมุดกี่โมงดี?
2. การปรับตัวในหอ
หลายคนที่เคยเป็นเด็กหออาจรู้สึกคุ้นเคยและไม่มีปัญหามากนัก แต่คนที่ชินกับการอยู่กับครอบครัวน่ะสิ ไม่ใช่แค่เรื่องการกิน เรื่องเพื่อน แต่การทำตัวให้ชินกับการอยู่คนเดียวในบ้านบางทีมันก็ยากนะ
3. การจัดการเอกสาร residence permit วีซ่า และอีกมากมาย
หลายประเทศมีกฎที่แตกต่างกันออกไป หลังเครื่องบินลงจอดที่สนามบิน คุณอาจรู้สึกเจ็ทแล็ค กระหายน้ำ ไม่มีเวลาพักผ่อนเลย นอกจากจะต้องรายงานตัวกับทางมหาวิทยาลัย ทำบัตรนักเรียน แล้วเดินทางลากกระเป๋า 20 โลไปที่หอซึ่งอาจไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้แคมปัสแล้ว คุณยังต้องไปรายงานตัวกับสถานีตำรวจภายใน 24 ชั่วโมง (ประเทศจีน) อีกด้วย! วันต่อมาก็ไปเปิดธนาคาร ซึ่งอาจมีปัญหาตามมาอีก โอ๊ย! วุ่นวายจริงๆ
วันแรกของเราอาจเต็มไปด้วยคำถาม "เรามาทำอะไรที่นี่วะ?" เต็มหัวไปหมด แต่วันทรหดแบบนี้มีแค่ไม่กี่วันหรอก ถ้าคุณแพลนดีๆ มันอาจทำให้การเดินทางราบรื่นขึ้นก็ได้นะ
4. เพื่อนใหม่ หายังไง?
บางทีปัญหาที่เราเป็น homesick อาจไม่ได้เกิดจากความคิดถึงอาหารในบ้าน คนในบ้าน แต่เป็นความรู้สึกที่ว่าเรายังไม่มีเพื่อนสนิทสักที ถึงจะมีเพื่อนที่รู้จักในวันแนะนำตัว แต่มันโคตรไม่คลิ๊กเลยแฮะ แลกเบอร์เสร็จกลับหอตัวใครตัวมัน กับบางคนเราก็อยากสนิทด้วย แต่เขาไม่เห็นจะแคร์เราเลย
บางครั้งเราอาจต้องมองกลับมาที่ตัวเองว่า เป็นเราหรือเปล่าที่ยังปิดกั้น ขี้อาย หรือไม่กล้าแสดงออก เราไม่จำเป็นต้องทำตัวเด่น แต่แค่การกล้าที่จะเข้าไปทักทายแนะนำตัว และถามความเป็นอยู่ของเขาอาจเป็นการเริ่มต้นที่ดีวิธีหนึ่ง
เวลามีกิจกรรม ก็อย่าทำตัว passive ในเมื่อมันเป็น ice breaking game เราก็ควรจะใช้โอกาสนี้ทำความรู้จักคนและสนุกเต็มที่ เป็นส่วนหนึ่งในเกมส์
ปีแรกหากมีเวลาว่างจากการเรียนหรือการทบทวนหนังสือแล้ว ก็ใช้เวลาที่เหลือค้นหาชมรมที่ตัวเองสนใจ เพิ่มคอนเนคชั่นได้
5. วัฒนธรรมและภาษา
เราอาจไม่ได้มาเพื่อเรียนภาษาในประเทศเขา อยากใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก หรือจะใช้กูเกิ้ลแปลภาษาเอาก็ได้ แต่การเข้าใจภาษาคนท้องถิ่นคือสกิลเอาตัวรอดระดับแรกที่คุณขาดไม่ได้เลยทีเดียว หากคุณตกรถบัส แล้วคุณรู้วิธีถามทาง คุณก็เอาตัวรอดได้สบายแล้ว ไม่ต้องมานั่งแปลไปมาตอนเขาตอบกลับเป็นภาษาท้องถิ่นอีกที
นอกจากนี้ภาษายังทำให้เราได้เพื่อนเร็วขึ้นอีกด้วยนะ หากเราสนใจวัฒนธรรมเขา ก็จะทำให้เราต่อบทสนทนากับเขาได้ ไม่ค่อยมีใครที่จะรู้สึกรำคาญเวลาคุณถามนู่นนี่ (ถ้ามันไม่มากไป) คิดดูว่าคุณจะรู้สึกดีใจแค่ไหนหากมีคนต่างชาติบอกคุณว่า "ผมชอบกินต้มยำกุ้งมาก ส้มตำปูปลาร้าก็แซ่บอีหลี ผมอยากรู้ว่ายังมีเมนูอื่นที่เจ๋งกว่านี้และไม่เป็นที่รู้จักของคนต่างชาติอีกไหม?" หรือแม้กระทั่งอวดว่า "คุณรู้ไหม ผมไปมาหมดเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้วนะ!"
ถึงแม้การเรียนต่างประเทศไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แต่ท้ายสุดมันก็คือบทเรียนอันล้ำค่า ที่สอนให้เรารู้จักการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง อยู่ด้วยลำแข้งของตน และการรู้จักขอความช่วยเหลือในยามที่เราตกทุกข์ยากลำบาก
การไปอาศัยในที่แปลกใหม่ก็เหมือนกับการเลือกแฟนในแอพ ที่เราอาจต้องลดเสปคของเราลงบ้าง จะได้ไม่ต้องผิดหวังเวลาที่ได้มาเจอ "ตัวจริง" :-)
โฆษณา