14 ก.ค. 2020 เวลา 23:54 • ปรัชญา
ติเพื่อก่อ ตัดเพื่อต่อยอด จริงหรือ?
ในการเรียนและการทำงาน
บางคนถือคติว่า "ติเพื่อก่อ"
แต่การ “ติ” ของแต่ละคนนั้นต่างกัน
บางคนติอย่างมีศิลปะ คำนึงถึงหัวใจคนฟัง
ติด้วยเหตุผล ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับงาน
การติแบบนี้เกิดประโยชน์
คนฟังนำไปปรับใช้ได้มาก เติบโตต่อได้
แต่ยังมีการติอีกแบบ ที่เอาอารมณ์เป็นใหญ่
ใช้เรื่องส่วนตัวมาทิ่มแทงบุคคลนั้นๆ
แม้จะบอกว่ากระตุ้นให้ตั้งใจทำงานมากขึ้น
แต่การติแบบนี้ ไม่ใช่ติเพื่อก่อ
รังแต่จะทำให้ผู้ฟัง ผู้ถูกติ
ระทดท้อ และเสียกำลังใจในการเติบโต
บางคนอ้างการติเพื่อก่อ
บอกว่า ก็ต้นไม้ยังต้องลิดใบตัดกิ่งบ้าง
เพื่อให้เติบโตแตกหน่อต่อไป
แต่...การอ้างเช่นนั้นไม่รอบด้าน
ไม่ใช่ต้นไม้ทุกสายพันธุ์ ที่จะใช้วิธีลิดใบหรือตัดกิ่ง
ไม่ใช่คนทุกคน ที่เติบโต หรือถูกกระตุ้นได้ดีด้วยข้อติ
ยิ่งเป็นคำหยามหมิ่นด่าทอยิ่งแล้วใหญ่
ธรรมชาติของมนุษย์ ไม่มีใครชอบการถูกกล่าวร้าย
หากเลือกใช้วิธีติเพื่อก่อ นั่นคือคุณกำลังเสี่ยง
และคุณควรจะต้องมีศิลปะมากพอในการสื่อสาร
Photo by Alex Loup on Unsplash
การติเพื่อก่อจะเกิดผลได้ดี มีหลายปัจจัย
ทั้งจริตของคนที่ถูกติ คำติที่มีศิลปะในจังหวะที่เหมาะสม
หากผู้ติมีจิตอันเป็นเมตตา ก็ย่อมทำให้คำตินั้นชโลมไปด้วยความอบอุ่นจุนเจือและไม่ทิ่มแทงทำร้าย
เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาสถานการณ์และพิจารณาใจเรา
ก่อนจะติใคร พิจารณาว่าเราทำด้วยเมตตาหรือไม่
หรือหากเราเป็นผู้ถูกติ ก็ขอให้น้อมรับฟัง
ดูใจของเราว่าเดือดร้อนดิ้นรนหรือไม่
เพราะเขาจิ้มจี้มาที่ตัวตนอัตตาของเราหรือเปล่า
เราจะลดอัตตาเราลงได้ไหม
ต่างฝ่ายต่างต้องฝึกจิตเช่นนี้
ทั้งเมตตา และลดอัตตา
การติเพื่อก่อนั้นมีอยู่ แต่หาได้เป็นแนวทางอันสงบร่มเย็นนัก
หากเลือกได้ ก็ขอให้พูดคุยกันอย่างอ่อนโยน อธิบาย คุยกันดีๆ
ดีกว่าติให้อีกคนเจ็บช้ำน้ำใจ
หรือหากจะเลือกใช้วิธีการนี้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต
ก็พึงระวังให้ดี เพราะเส้นทางนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะก่อวจีกรรมได้มากอยู่
ธรรมทันธีร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา