14 ก.ค. 2020 เวลา 13:56
Cycle Time อีกหนึ่งเวลาที่บอกความสามารถของสายการผลิตเพื่อ Supply ให้ลูกค้าปลายทาง
ในทางปฏิบัติ Cycle Time (CT) มักมีไว้บอกกำลังการผลิตของกระบวนการ หรือกิจกรรมต่างซึ่งก็ไม่ผิด แต่การนำ CTของกระบวนการต่างๆเข้ามาเชื่อโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตนั้น อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมสักเล็กน้อย
หากลองจินตนาการถึงสายการผลิตของเรา เราจะพบว่าเรามีกระบวนการ หรือกิจกรรมต่างๆมากมาย เพื่อส่งต่อในการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะ หรือคุณสมบัตต่างๆจากต้นทางไปสู่สินค้า
ใช่ครับ แต่ละกระบวนการหรือกิจกรรมย่อมมี CT ของตนเอง แสดงว่าเราจะมี CT มากมายในสายการผลิต แล้วการที่จะนำ CT มาใช้งานนั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ลองติดตามดูกันครับ
CT หมายถึงรอบในการทำงานของกระบวนการหรือกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่ง output 1 ชิ้น ซึ่งในหนึ่งรอบนั้นอาจประกอบด้วยการทำงานของคน เครื่องจักร การรอคอย การยกเคลื่อนย้ายต่างๆ จิปาถะมากมาย ทั้งที่เป็นการดำเนินการแบบอนุกรมคือต่อเนื่องกันทีละอย่าง หรือเป็นแบบขนานคือทำควบคู่กันไปได้ เช่นในขณะที่เครื่องจักรทำงานอยู่กับชิ้นงาน ผู้ปฏิบัติก็อาจเตรียมชิ้นงานหรือทำงานอื่นๆไปพร้อมๆกัน
แต่การวัด CT สำหรับผมจะใช้คำว่า "มือถึงมือ" หมายความว่า หากเราเริ่มกดนาฬิกาจับเวลาในการเริ่มหยิบชิ้นงาน CT จะสิ้นสุดหรือถูกกดหยุดเวลา เมื่อเรากลับมาเริ่มจับชิ้นงานถัดไปในกิจกรรมแรกอีกครั้ง
แน่นอนที่สุด ว่าแต่ละกิจกรรมย่อมมี CT แตกต่างกัน โดยหลักฐานที่สำคัญในการยืนยันคำกล่าวนี้คือ ปริมาณ WIP ระหว่างกระบวนการต่างๆที่แตกต่างกันออกไป ใครเร็วกว่าก็จะรอคนที่ช้ากว่านั่นเอง
เมื่อการดำเนินกระบวนการต่อเนื่องในสถานการณ์จริง ความวุ่นวายก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะแม้แต่ CT ใกล้เคียงกันก็ยังจะเจอปัญหาคุณภาพ เครื่องเสีย คนขาด อีกมากมายนานับประการ แต่ในตอนนี้ขอพูดในสถานการณ์ปกติก่อนครับ
ในเมื่อ เรามี CT มากมายที่ต่อเนื่องกันเป็นสายการผลิตที่ยาวยืด แน่นอนที่สุดว่า กระบวนการหรือกิจกรรมใดที่มี CT ยาวที่สุดหรือมากที่สุด ย่อมเป็นตัวกำหนดปริมาณสินค้าขาออกให้กับกระบวนการนั้นๆ หรือที่เราเรียกว่า คอขวด หรือ Bottleneck นั่นเอง
เราจึงพยายามค้นหา และระบุจุดคอขวดของกระบวนการ เพื่อให้ได้คำตอบว่าสายการผลิตของเรามีความสามารถในการ Supply สินค้าทุกๆหนึ่งได้ในเวลาเท่าไร และเราจะเรียก CT ที่สูงที่สุดว่า Actual Takt Time (ATT) ที่ใช้บ่งบอกความสามารถที่เป็นจริงของสายการผลิตของเรา
หรืออาจกล่าวว่า ATT = Max (CTi)
หากย้อนกลับไปที่ ความต้องการของลูกค้า เราพูดถึง Takt Time (TT) และความสามารถในการตอบสนองของสายการผลิต เราก็จะพูดถึง Actual Takt Time (ATT)
ดังนั้นเราจะพบเหตุการณ์ที่เป็นไปได้อยู่ 3 กรณี คือ
1. ATT = TT กรณีนี้เป็นความดีงามตามทฤษฏี มีความสามารถในการตอบสนองที่ไม่แตกต่างจากความต้องการ สามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่เดียว
2. ATT > TT กรณีนี้เป็นสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้น คือทำไม่ได้ ทำไม่ไหว และทำไม่ทัน คงต้องกลับไปพิจารณา CT ในจุดที่เป็นคอขวดอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตอย่างทันท่วงที
3. ATT < TT กรณีนี้คือสายการณ์ผลิตที่สามารถตอบสนองได้รวดเร็วกว่าความต้องการ แต่ก็อย่าวางใจครับ เพราะถ้าเร็วเกินไปในบางกรณี อาจถือเป็นการ over use ทรัพยากรเกินความจำเป็นก็ได้
พอมาถึงตรงนี้ เราคงพอมองเห็นแล้วว่าการใช้งานข้อมูลด้านเวลาให้เกิดความชัดเจนในการเพิ่มผลผลิตทำได้ไม่ยากเลยครับ
ในโพสต์หน้า เราจะมาดูแนวทางการลด CT และเปลี่ยนจุดที่เป็นคอขวด หรือ Bottleneck ไปพร้อมๆกันครับ
โฆษณา