15 ก.ค. 2020 เวลา 10:01 • ความคิดเห็น
ซีรีส์ . . . เดินตามรอยเท้าพ่อ
ตอน ทุนเล่าเรียนหลวง . . . ทุนของพ่อ กำไรที่ลูก
🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏
ภาพที่องค์พ่อหลวงพระราชทานสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเคยเห็นเป็นประจำ
ในสมัยก่อนนั้น ยังไม่มี กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. อย่างในปัจจุบันนี้นะคะ
เด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีความพร้อมด้านการเงินหลายคน พลาดโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเลือกเรียนในวิชาที่ตัวเองพอใจ ทั้งที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย
ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลขององค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเท่าเทียมในสังคมด้วย พระองค์จึงทรงจัดตั้งและพระราชทานทุนการศึกษาผ่านกองทุนและมูลนิธิต่าง ๆ
ขอนำเสนอตัวอย่างของทุนเล่าเรียนหลวงดังนี้ค่ะ
🔶️ ทุนมูลนิธิ ภูมิพล
"ทุนภูมิพล" นี้องค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งเป็นทุนการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 โดยช่วงแรกทรงพระราชทานให้กับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ต่อมาได้ขยายความช่วยเหลือไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย
โดยมีทุน 2 ประเภท คือ
ทุนประเภทช่วยเหลือการศึกษา
ทุนประเภทช่วยเหลือการทำปริญญานิพนธ์หรือการวิจัย
🔶️ ทุนมูลนิธิ อานันทมหิดล
"ทุนอานันทมหิดล" เป็นทุนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมเชษฐาธิราชหรือ องค์ในหลวงรัชกาลที่ 8 โดยทรงพระราชทานทุนให้กับนักศึกษาแพทย์ไปศึกษาต่อในสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์ในต่างประเทศตามรอยพระบรมราชชนก โดยต่อมาได้เพิ่มพระราชทานทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาสาขาวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วาสารศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์
🔶️ ทุนเล่าเรียนหลวง
"ทุนเล่าเรียนหลวง" หรือบางครั้งเรียกกันว่า "ทุนคิงส์" มาจากคำว่า King’s Scholarship เป็นทุนที่เริ่มมีการก่อตั้งครั้งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2440 ที่ให้มีการสอบแข่งขันชิงทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ แต่มาชะงักช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 จนได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยพระราชทานทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2518 ได้มีการขยายการพระราชทานทุนให้กับนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี อีกด้วย
🔶️ ทุนการศึกษาสงเคราะห์ ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
สืบเนื่องจากเหตุมหาวาตภัยที่เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุก ภาคใต้ของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2505 องค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงจัดตั้ง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย และ ให้การสนับสนุนการสร้างโรงเรียนให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ประสบภัยตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่แรกและตั้งชื่อว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อีกทั้งพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และได้มีการขยายโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในทุกภูมิภาค ในปัจจุบันเท่าที่พบข้อมูลมีทั้งหมด 57 แห่ง
🔶️ ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย
ในปี พ.ศ. 2501 องค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าให้ก่อสร้างสถาบันวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเรื้อน ที่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2499 และตั้งชื่อว่า สถาบันบันราชประชาสมาสัย ภายหลังเปลี่ยนเป็นมูลนิธิราชประชาสมาสัย พระองค์ทรงพระราชทานความช่วยเหลือต่อครอบครัวของผู้ป่วยโดยเฉพาะบุตรของผู้ที่ป่วยที่ต้องถูกแยกจากพ่อแม่ให้ได้รับการเลี้ยงดู และได้ศึกษาเล่าเรียน จนได้มีการจัดตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัย และมีพิธีเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม 2507
พระองค์ทรงพระราชดำเนินไปเปิดโรงเรียนราชประชาสมาสัยและมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“…เด็กเหล่านี้มีสิทธิ์ที่จะเล่าเรียนเช่นเด็กอื่น เพราะขณะนั้นกระทรวงสาธารณสุขไม่ส่งเด็กที่ยังมิได้ป่วยให้เข้าเรียนในโรงเรียนในนิคม หรือในโรงพยาบาลโรคเรื้อน เนื่องจากเกรงว่าจะติดโรค และกระทรวงศึกษาธิการก็ยังไม่ยอมรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนเข้าเรียนในโรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากเกรงว่าจะไปแพร่เชื้อโรคเรื้อนแก่เด็กอื่น ขณะนี้กรมประชาสงเคราะห์ของกระทรวงมหาดไทยมีโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่มีผู้อุปการะแล้ว แต่ก็ไม่สามารถรับเด็กเหล่านี้ได้เพราะเป็นเด็กผู้มีบิดามารดา…”
🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏
🔶️ ทุนนวฤกษ์
ทุนนี้เป็นทุนการศึกษาที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดยพระราชทานทุนให้กับนักเรียนที่มีความประพฤติดี ขยัน อดทน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับการศึกษาจนถึงระดับ ปวช. ปวส. หรือระดับปริญญาตรี
🔶️ ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา
เป็นทุนการศึกษาที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2514 พระราชทานให้กับเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการศึกษาจนถึงระดับ ประกาศนียบัตร หรือปริญญาตรี เพื่อให้ผู้รับทุนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วกลับไปพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนของตัวเอง
🔶️ ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา
เป็นทุนที่พระราชทานให้กับเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเด่น ในโรงเรียนที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยดูได้จากชื่อของโรงเรียนนั้น ๆ ที่ส่วนมากจะมีคำต่อท้ายชื่อโรงเรียนว่า “ในพระบรมราชูปถัมภ์” นั่นเอง
🔶️ ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
เป็นทุนที่จัดตั้งในปี พ.ศ. 2547 โดยพระราชทานให้แก่พระสงฆ์ ได้ศึกษาต่อถึงในระดับปริญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศนั้นจะมีกองงานพระธรรมทูตเป็นผู้กำกับดูแล
🔶️ ทุนเศรษฐกิจพอเพียง
ทุนเศรษฐกิจพอเพียงนี้นำไปใช้ในการทำ ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเผยแพร่แนวทางการดำรงชีวิตแบบพอเพียง พอประมาณ
ข้อมูลข้างต้น เป็นข้อมูลโดยสังเขป เพื่อให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา เพื่อพัฒนาตนและพัฒนาชาติ
📌 การได้รับทุนการศึกษา แม้ไม่มีเงื่อนไขให้ต้องชดใช้ทุน แต่ผู้รับทุนสามารถตอบแทนคุณต่อแผ่นดินได้ โดยตั้งใจทำงานใด ๆ โดยสุจริต และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
📌📌 แต่หากเป็นการกู้ยืม เช่นการกู้ยืมผ่าน กยศ. ผู้กู้พึงระลีกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่ต้องส่งเงินกู้ยืมนั้นกลับคืนอย่างครบถ้วน เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นรายอื่นได้กู้ยืมไปใช้เพื่อการศึกษาต่อไป
📌📌📌 ผู้ที่ปฎิบัติงานในตำแหน่งสูง ๆ หลายคน ในหลาย ๆ หน่วยงาน เคยได้รับทุนพระราชทานไปศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองของเรา
✴ การศึกษาช่วยสอนให้มีความรู้เพิ่มขี้นได้ แต่อาจสอนให้มีจิตสำนึกรักบ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้ อยู่ที่ตัวของเราทุกคน ที่จะช่วยกันรักษาบ้านเมืองของเรานะคะ
🌸🌸🌸🌸🌸
รักและปรารถนาดีให้คุณทุกคนมีความสุขและเบิกบานค่ะ
💗💗💗💗💗
สวัสดีนะคะ
คนไทยตัวเล็กเล็ก
15/07/2020
ขอขอบคุณ รูปและข้อมูลบางส่วน
จากเวปไซด์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา