Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชีวิตที่ว่างเปล่ากับเรื่องราวที่มากมาย
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2020 เวลา 14:49 • ประวัติศาสตร์
ประวัติพระพุทธศาสนาในลังกา(ศรีลังกา)
"ถ้าจะเปรียบเทียบอินเดียเหมือนใบหน้าของหญิงสาว ลังกาก็คือหยาดหยดน้ำตาของเธอซึ่งรินไหลออกมา"
Cr.Google Map
ในสมัยก่อนพุทธกาล ชาวพื้นเมืองของลังกาเป็นพวกรากษส ได้แก่คนป่าที่ยังไม่มีวัฒนธรรม กินเนื้อดิบเป็นอาหาร ในวรรณคดีโบราณของอินเดียเล่าถึงเรือสินค้าที่ไปแตก ณ เกาะลังกา ถูกพวกรากษสจับคนกินเป็นอาหาร ต่อมาสมัยพุทธกาล หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ชาติทราวิฑ(ดราวิเดียน) ได้อพยพจากแหลมอินเดีย เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในลังกา ต่อมาจึงมีพวกอารยันอพยพตามเข้ามา พวกนี้ได้เข้ามาสอนอารยธรรมแก่ชาวพื้นเมือง ในรามายนะ กล่าวถึงท้าวราพณ์เป็นวงศ์พรหเมศ แสดงว่าเป็นวรรณะพรหมณ์ เป็นผู้มีอิทธิพลครอบงำลังกาในครั้งนั้น ต่อมาถูกพวกวรรณะกษัตริย์ซึ่งมีพระรามเป็นหัวหน้าเข้ามาทำลาย เรื่องราวนี้เป็นเทพนิยาย แต่มีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ คือ
พวกอารยันได้เข้ามาตั้งบ้านเมืองในลังกาแล้วก่อนพุทธกาล แต่หลักฐานที่เป็นความจริงนั้น ปฐมกษัตริย์ของอารยันคือ พระเจ้าวิชัย ซึ่งเป็นผู้มีเชื้อสายกษัตริย์ในเบงกอล มีนครอนุราธปุระเป็นเมืองหลวง สืบลำดับวงศ์มาถึงสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ซึ่งเป็นอทิฏฐสหาย(สหายที่ไม่เคยเห็นกัน)ของพระเจ้าอโศก เมื่อพระเจ้าอโศกเลื่อมใสพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ได้ส่งโอรสและธิดา คือพระมหินทเถระ และสังฆมิตตาเถรี นำพุทธศาสนามาแพร่หลายในลังกาเป็นครั้งแรก ณ มหาเมฆวันอุทยาน(ต่อมาก็เป็น วัดมหาวิหาร) และทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาที่เข้าสู่ลังกานั้นเป็นนิกายเถรวาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นวิภัชชวาที กล่าวคือ เป็นแบบซึ่งได้ตกลงยุติกันในที่ประชุมตติสังคายนา พระมหินท์ไปลังกาครั้งนี้ท่านได้นำพระไตรปิฎกและอรรถกถาไปด้วย และนางสังฆมิตตาเถรีก็ได้นำกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาไปปลูกในลังกาเป็นปฐม พระนางเองได้เป็นอุปัชฌายะบรรพชาอุปสมบทสตรีลังกา ซึ่งมีพระนางอนุฬาเทวีเป็นประมุข ตั้งคณะภิกษุณีขึ้นในลังกา
Cr.Taraaryatravel.com
ต่อมาถึง พ.ศ.๔๐๐ เศษ ในแผ่นดินพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย พระองค์ได้เสียราชสมบัติแก่ข้าศึก เสด็จลี้ภัยไปซ่องสุมกำลัง ในระหว่างนั้นพระองค์ได้รับอุปถัมภ์จากพระเถระรูปหนึ่งชื่อพระมหาติสสะ เมื่อพระองค์กลับขึ้นเสวยราชย์ใหม่ ได้ทรงให้ทำสังคายนา ทรงยกย่องพระมหาติสสะพร้อมทั้งสร้างวัดให้ คือวัดอภัยคิรีวิหาร พวกคณะมหาวิหารไม่พอใจ ประณามพระมหาติสสะว่า ประจบคฤหัสถ์เลยเป็นเหตุให้แตกเป็น ๒ คณะใหญ่ คือ คณะมหาวิหาร และ คณะอภัยคิรีวิหาร จำเดิมแต่นั้นมา สังฆมณฑลในลังกาก็แตกเป็น ๒ คณะ แต่เป็นนิกายเถรวาทเหมือนกัน มีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างกัน คือ
๑. คณะมหาวิหาร เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างเคร่งครัด ตั้งข้อรังเกียจภิกษุต่างนิกายว่าเป็นอลัชชีบ้าง ปาปภิกษุบ้าง เป็นพวกสัทธรรมปฏิรูปบ้าง แต่พวกมหาวิหารสามารถรักษาความบริสุทธิ์ของธรรมในนิกายเถรวาทไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ได้ยอมให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น
อภัยคิรีวิหาร-Wikipedia
๒. คณะอภัยคิรีวิหาร เป็นคณะเสรีนิยม ไม่รังเกียจภิกษุต่างนิกาย ยินดีต้อนรับเอาความคิดเห็นของต่างนิกายเข้ามา เพราะฉนั้นเมื่อเกิดมีมหายานขึ้นแล้ว อภัยคิรีจึงเป็นศูนย์สำคัญแห่งหนึ่งของมหายานในลังกาด้วยในเวลาต่อมา
อ้างอิงจากหนังสือ ปวศ.พระพุทธศาสนา ภาค ๒ อ.เสถียร โพธินันทะ
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย