19 ก.ค. 2020 เวลา 09:18 • การเมือง
หมู่เกาะ spartly (spratly island) และขุมทรัพย์ในทะเลจีนใต้
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงพอจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา USS Nimitz และ USS Ronald Reagan เข้ามาพร้อมกัน 2 ลำ ในทะเลจีนใต้
การเผยแพร่บทความของ ไมเคิล จอร์จ ดี ซอมบรี เอกอัคราชทูต สหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เรื่อง การธำรงไว้ซึ่งสิทธิอธิปไตยของรัฐทั้งมวล
รวมไปถึงการเยือนไทยของพลเอก เจมส์ แมคคอลวิลล์ ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ และคณะ เมื่อวันที่ 10 กค. 63 ที่ผ่านมา
ล้วนแล้วแต่ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความตึงเครียดที่กำลังระอุ ระหว่างประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่คือจีน และ สหรัฐในทะเลจีนใต้
ปัญหาเรื่องข้อพิพาทเหล่านี้ ไม่เพียงแค่เกิดขึ้นแค่สองขั้วอำนาจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ข้อพิพาทด้านอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนเราในทะเลจีนใต้อีกด้วย
หนึ่งในพื้นที่สำคัญที่เป็นชนวนเหตุนี้คือหมู่เกาะ spraltly ในทะเลจีนใต้ ในบทความนี้ เราจะพามารู้จักกับ หมู่เกาะ spratly กันว่ามันมีความสำคัญอย่างไร และทำไมใครๆถึงอยากได้พื้นที่เหล่านี้กันนัก
ก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องหมู่เกาะ spratly ขอแนะนำเรื่องอาณาเขตทางทะเลให้เข้าใจกันแบบสั้นๆก่อนครับ
อาณาเขตทางทะเล (maritime zone)
อาณาเขตทางทะเล
อาณาเขตทางทะเล มีเขตแดนที่ต้องรู้จักหลายอัน แต่ว่าที่น่าสนใจจริงๆ ที่ประเทศชอบอ้างเป็นอธิปไตยเหนือน่านน้ำนั้น มี 2 ตัวคือ
1. เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล (Exclusive Economic Zone, EEZ) คือบริเวณที่อยู่ประชิดออกไปจากทะเลอาณาเขต โดยไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน ซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต (เส้นฐานคือเส้นต่อจากเขตแดนบนบก ลากเชื่อมเป็นขอบเขตของประเทศ)
รัฐชายฝั่งมีสิทธิจัดการกับทรัพยากรต่างๆ แต่เพียงผู้เดียวรวมถึงสร้างเกาะเทียม สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ แต่รัฐอื่นๆยังมีเสรีภาพในการเดินเรือ การวางท่อใต้ทะเล หรือการบินผ่าน
2. ไหล่ทวีป (continental shelf) คือพื้นดินใต้ทะเลที่ต่อไปจากทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนต่อออกไปตามธรรมชาติจนถึงริมขอบทวีป (continental margin) มีระยะไม่เกิน 350 ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีสิทธิในทรัพยากรแต่เพียงผู้เดียวสำหรับทรัพยากรธรรมชาติ บนและใต้ไหล่ทวีป
สังเกตว่า ไหล่ทวีปและ EEZ มีความคล้ายคลึงกันมาก สรุปแบบเข้าใจง่ายๆคือเขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นเขตแดนที่เป็นที่ตกลงกันตามอนุสัญญา ส่วนไหล่ทวีปจะดูเรื่องลักษณะทางธรรมชาติและธรณีวิทยาจากฝั่ง แต่ก็ไม่ให้เกิน 350 ไมล์ทะเล
ส่วนสิทธิของทรัพยากร”ในและใต้ดิน”ไหล่ทวีปเป็นของรัฐริมชายฝั่ง
ส่วนทรัพยากร”ในผืนน้ำ” ส่วนที่เกิน EEZ ไป (200 ไมล์ทะเล) แต่ไม่เกิน ไหล่ทวีป 350 ไมล์ทะเล ถือว่าเป็นทะเลหลวง ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเจ้าของ
อาณาเขตทางทะเลสองอย่างนี้ถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวให้กับหลายประเทศเหนือหมู่เกาะ spartly หมู่เกาะ spartly อยู่ที่ไหน ถูกอ้างโดยกี่ประเทศเรามาดูกัน
หมู่เกาะ Spartly ในทะเลจีนใต้
หมู่เกาะ sparley อยู่ในทะเลจีนใต้ บริเวณกึ่งกลาง ระหว่างประเทศเวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน ประกอบด้วกลุ่มของเกาะ ปะการังน้อยใหญ่กว่า 100 เกาะ นอกจากนี้ เหนือหมู่เกาะ spartly ไปยังมีหมู่เกาะ paracel ซึ่งเป็นเกาะ และปะการัง จำนวนมากเช่นกัน
ทำไมหมู่เกาะ spartly จึงมีความสำคัญนัก?
ความสำคัญของทะเลจีนใต้และหมู่เกาะ Spartly
ด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จะเห็นได้ว่าหมู่เกาะ spartly มีพื้นที่ไปคาบเกี่ยวกับประเทศจำนวนมาก ใต้ผืนน้ำทะเลจีนใต้นี้มีการคาดการณ์ว่ามีปริมาณน้ำมันสำรองราว 1 แสน ล้านบาร์เรลล (ประมาณ 30 เท่าของปริมาณน้ำมันสำรองพิสูจน์แล้วในประเทศไทย) และก๊าซธรรมชาติกว่า 5 ล้านล้าน ลบ. ฟุต. (จาก United State Geological Survey, USGS) หรือบริษัทน้ำมันแห่งชาติจีนคาดการณ์ว่ามีถึง 1.25 ล้านล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติถึง 500 ล้านล้าน ลบ.ฟุต
ในด้านการประมง ที่นี่ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำกว่า 3,365 สปีชีส์ มีเรือผ่านเส้นทางนี้กว่า 55% ของเรือประมงทั่วโลกและปลาที่จับได้กว่า 12 %ของปลาที่จับได้ทั่วโลก ซึ่งสร้างงานกว่า 3.7 ล้านคน
นอกจากนี้ ในด้านการเดินเรือ ทะเลจีนใต้ยังเป็นพื้นที่ที่มีเรือสินค้าผ่านมากกว่า 2 เท่าของอ่าวเมกซิโก และมีการเดินทางขนส่งสินค้ามากกว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเสียอีก
ใครอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะ Spartly บ้าง และอ้างโดยหลักการอะไร?
1. บรูไน
อ้างดินแดนบริเวณไหล่ทวีปและ EEZ โดยอ้างตามกฎอนุสัญญาว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล UNCLOS บรูไน ไม่ได้ส่งกองกำลังทางทหารไปคุ้มกันบนดินแดนดังกล่าว
2. มาเลเซีย
อ้างดินแดนบริเวณไหล่ทวีปและ EEZ โดยอ้างตามกฎอนุสัญญาว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล UNCLOS มาเลเซียมีการส่งกองกำลังทหารไปควบคุมบริเวณทะเลและเกาะบางเกาะ
3. เวียดนาม
อ้างดินแดนเกือบทั้งหมดที่เป็นเกาะของทั้ง Spartly และ Paracel โดยอ้างเรื่องประวัติศาสตร์เข้ามาด้วยว่า เกาะเหล่านี้เป็นของเวียดนามตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ภายหลังจักรวรรดิฝรั่งเศสได้ยึดครองตั้งแต่ค.ศ. 1930 และคืนดินแดนพร้อมกับการให้เอกราชแก่เวียดนาม เวียดนามมีการส่งกองกำลงทหารไปควบคุมบริเวณทะเลและเกาะบางเกาะ
4. ฟิลิปปินส์
อ้างดินแดนบางส่วนของเกาะ Spartly บริเวณที่ติดกับฟิลิปปินส์ โดยอ้างเรื่องประวัติศาสตร์เข้ามาด้วยว่าเป็นหมู่เกาะของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ค.ศ.1970 ภายหลังตกเป็นของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ญี่ปุ่นก็คืนให้ฟิลิปปินส์หลังพ่ายแพ้สงคราม
5. จีน
อ้างดินแดนทั้งหมดของเกาะ Spartly อันนี้พี่จีนโหดที่สุดเพราะถ้าสังเกตจากแผนที่ จีนอยู่ไกลจากเกาะ Spartly ที่สุดและไม่น่ามาเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนี้เลย แต่จีนกลับอ้างประวัติศาสตร์ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น (สมัยนั้นอารยธรรมจีนยิ่งใหญ่ที่สุดและพี่จีนก็ไปแทบทุกพื้นที่ในเอเชียอยู่แล้ว) และแผนที่ 9 เส้น (9 dash line) ซึ่งเป็นเส้นแขตแดนจีนที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง เพราะเส้นนี้ครอบคลุมพื้นที่เกือบจะทั้งหมดของทะเลจีนใต้เลยทีเดียว
9 dash line
จีนมีการส่งเรือรบและกองกำลังทหารไปเป็นจำนวนมากในหมู่เกาะ Spartly รวมไปถึงสร้างเกาะเทียม สถานีวิจตัย สนามบิน และป้อมปราการทางทหารๆเหนือเขตปะการังหลายแห่ง โดยอาศัยเทคโนโลยีและแสนยานุภาพทางการทหาร
6. ไต้หวัน
แม้ว่าจีนจะไม่ยอมรับการมีอธิปไตยของไต้หวัน แต่ไต้หวันเองก็มีการอ้างสิทธิเหนือเกาะ Taiping หรือ Itu Aba (เกาะใหญ่ที่สุดเกาะหนึ่งในบริเวณนั้น) มีการบริหารเกาะผ่านเทศบาลเมือง Kaoshing
ด้วยความที่จีนมีการไปครอบครอง สร้างเกาะเทียมต่างๆ และส่งกองกำลังทางทหารไปควบคุม ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง ไม่พอใจกับเขตแดนเส้นประ 9 เส้นของจีน ส่งคำร้องเรียนไปยังศาลโลก ณ กรุงเฮกก์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2013
ศาลโลกได้มีคำตัดสินในปี 2016 ว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอในกล่าวอ้างประวัติศาสตร์เหนือนน่านน้ำของจีน และไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายเหนือเส้นประ 9 เส้นของจีน นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเกาะเทียมของจีนว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและปะการังอีกด้วย
Permanent Court of Arbitration in 2013
แม้จะมีคำตัดสินดังกล่าว จีนก็ดูเหมือนจะไม่ได้ใส่ใจเท่าไร ยังคงมีการส่งกองกำลังทหารไปหมู่เกาะ Spartly การทำสถานที่ให้เป็นที่ท่องเที่ยว รวมไปถึงการสร้างเกาะเทียมและติดตั้งขีปนาวุธอยู่เป็นระยะ ตามข้อมูลของ CNN (แน่นอนว่าเป็นสำนักข่าวอเมริกัน) มีการอัพเดตการเคลื่อนไหวของจีนตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมา และมีการเผชิญหน้าจนถึงปัจจุบัน
และในเดือน กค.2020 ที่ผ่านมา จีนก็มีการซ้อมรบครั้งใหญ่ ในทะเลจีนใต้ เป็นเหตุให้สหรัฐต้องส่งกองกำลังมาดูแลพันธมิตรในน่านน้ำนี้ ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่กองทัพทั้งสองประเทศจะมาซ้อมรบกันในน่านน้ำเดียวกันในเวลาเดียวกัน
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนี้?
สิ่งที่น่ากังวลนอกเหนือไปเรื่องของความมั่นคงในภูมิภาคคือเรื่องสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการสร้างเกาะเทียมต่างๆ การเร่งทำประมงของบางประเทศ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า species ของปลาอาจจะลดไปถึงครึ่งหนึ่งภายในปี 2045
ในด้านความมั่นคง ฟิลิปปินส์หลังยุคของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ซึ่งเป็นพันธมิตรอันดีของจีน ได้มีการเซ็น MOU ในด้านการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในปี 2018 ร่วมกัน
ส่วนทางจีนเอง ก็มีการริเริ่ม Code of Conduct (COC) ในทะเลจีนใต้ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในทะเลจีนใต้ร่วมกับประเทศอื่นๆในการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงเทพ เมื่อปี 2019
การประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงเทพ เมื่อปี 2019
แม้ว่าจะมีท่าทีแสดงการริเริ่มการเจรจาในด้านการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศอื่นในทะเลจีนใต้ แต่หลายคนมองว่าสิ่งนี้ขัดแย้งกับการสร้างเกาะเทียม และการส่งกองกำลังทางทหารไปยังหมู่เกาะ Spartly
เราคงต้องติดตามกันต่อไปกันอย่างใกล้ชิดว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Donald Trump จะมีท่าทีอย่างไรต่อปฎิกิริยาของจีนและความมั่นคงภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนี้
ถ้าอยากไปเที่ยวหมู่เกาะ Spartly ล่ะ?
เกาะส่วนมากในหมู่เกาะ Spartly เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เป็นฐานทัพทางทหาร หรือไม่ก็จำกัดจำนวนผู้เดินทางเข้าเกาะ แต่ถึงกระนั้นก็มีบางเกาะที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าชมได้เช่น
การท่องเที่ยวใน Spartly island
Layang Layang (Swallow Reef), ควบคุมโดยมาเลเซีย เป็นเกาะเดียวในหมู่เกาะ Spartly ที่มีไฟลท์บินสม่ำเสมอ เป็นแหล่งดำน้ำ สามารถเดินทางได้จาก Kota Kinabalu.
Pagasa (ฟิลิปปินส์) and Itu Aba (ไต้หวัน) สามารถเดินทางได้จาก cargo service จากประเทศต้นทาง
หลายๆประเทศใช้การท่องเที่ยว เป็นการเสริมความเข้มแข็งของการกล่าวอ้างอธิปไตยเหนือหมุ่เกาะ Spartly ที่เราเรียกกันว่า soft power แต่หลายคนก็มองว่ามันไม่ได้เป็นการยั่งยืนเพราะ การเดินทางท่องเที่ยวเหล่านี้ไม่ได้คุ้มค่านักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวก็มีจำนวนน้อย และเกาะเหล่านี้ไม่ได้มีประชาชนอยู่อาศัย และการเดินทางค่อนข้างลำบากเนื่องจากไกลจาก main land
โฆษณา