21 ก.ค. 2020 เวลา 12:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การศึกษาด้าน AI ของจีน
การศึกษาของจีน
2 เหตุหลักที่ทำให้จีนต้องหันมาสนใจด้านการศึกษา
เราเคยกล่าวถึงแผนการพัฒนา AI ของจีนที่ชื่อว่า “แผนงานการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สำหรับยุคสมัยใหม่” ซึ่งเป็นแผนที่วางโครงสร้างการค้นคว้าเทคโนโลยี AI ให้ครบทุกด้าน และมีเป้าหมายเป็นรูปธรรมที่ต้องการให้ปั้นอุตสาหกรรม AI ให้มีมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 โดยแน่นอนว่าแผนงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งปี 2030”
แน่นอนว่าเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองจากหลายทาง แต่ส่วนที่สำคัญมากคือส่วนของบุคลากรซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนา Solution แต่ในปัจจุบัน ประเทศจีนกำลังประสบปัญหาในด้านบุคลากรไม่น้อย โดยมี 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
จำนวน Talent ไม่มากพอต่อเป้าหมายการพัฒนา
ในการพัฒนานวัตกรรม จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ตามหลักสูตร STEM (หลักสูตรวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานการพัฒนานวัตกรรม) ซึ่งในปี 2013 จีนวางแผนผลักดันเต็มที่จนทำให้มีบุคลากรเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเยอะเป็น 2 เท่าของที่สหรัฐฯ ทำได้
อย่างไรก็ตาม จำนวนไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการพัฒนานวัตกรรม แต่การสร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกลับเป็นประเด็นที่ทำให้บุคลากรจีนไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะวัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการด้าน AI ซึ่งจีนยังทำได้ไม่ดีเท่าประเทศชั้นนำอื่น ๆ
ด้วยเหตุนี้ จีนจึงต้องนำเข้าบุคลากรด้าน AI จากสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป รายงานโดย LinkedIn Global AI Talent ในปี 2017 ระบุว่าจีนรับบุคลากรต่างชาติเข้าทำงานมากกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าเมื่อเป็นบุคลากรต่างชาติ แม้จะทำให้จีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ก็ขาดความมั่นคงในการพัฒนาระยะยาว
คะแนนที่สูง ไม่ได้แปลว่าพร้อมสร้างนวัตกรรม
ประเทศจีนมีการสอบแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า Gao Kao ซึ่งถือเป็นการสอบที่เข้มข้นมากในระดับโลก แม้ว่าการผลลัพธ์ของการสอบจะทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้รับนักศึกษาคุณภาพสูง แต่ก็มีนักเรียนอีกจำนวนมากที่พลาดโอกาสเข้าเรียนด้าน AI แม้ว่าจะมีความสนใจและความพร้อมสำหรับสาขานี้ก็ตาม
นอกจากนี้ นักเรียนหลายคนยังเน้นการเรียนเพื่อสอบแข่งขัน ซึ่งจะไม่คุ้นชินกับกระบวนการสร้างนวัตกรรมซึ่งจำเป็นต้องคิดสร้างสรรค์และหลุดจากกรอบ โดยผลสำรวจนักเรียนในประเทศจีนและเกาหลีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติคยองปุก ประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า นักเรียนที่สอบเข้ามาได้ด้วยคะแนนสูงจะมีคะแนนด้านความคิดสร้างสรรค์ต่ำกว่านักเรียนที่สอบเข้ามาได้ด้วยคะแนนมาตรฐาน
ดังนั้น ยิ่งการสอบเข้มข้นมากเท่าไร นักเรียนก็ต้องยิ่งทำคะแนนให้สูงมากขึ้น ส่งผลให้ทักษะสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนานวัตกรรมอย่างความคิดสร้างสรรค์มีโอกาสน้อยลงไปด้วยนั่นเอง
โฆษณา