21 ก.ค. 2020 เวลา 12:34 • การศึกษา
แจ้งความ (ร้องทุกข์) อย่างไร ให้ถูกต้องและมีผลตามกฎหมาย ?
รูปภาพจาก canva.com
วันนี้เราจะมาลองทำความเข้าใจกันนะครับว่า การแจ้งความ(ร้องทุกข์) หรือแจ้งความ
ดำเนินคดีนั้น ทำอย่างไรถึงจะถูกต้องและมีผลตามกฎหมาย
ซึ่ง "ผลตามกฎหมาย" ที่ว่านี้ก็คือ มีผลทำให้พนักงานสอบสวน(ตำรวจ) มีอำนาจ
สอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง เป็นต้น
ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาเข้าเนื้อหากันเลยครับ
เมื่อมีการกระทำผิดในทางอาญาเกิดขึ้น
ผู้เสียหาย ต้องไปแจ้งความ(ร้องทุกข์)กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ
โดยเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น การกระทำผิดที่เกิดขึ้น
เราได้รับความเสียหายอย่างไร เหตุเกิดขึ้นที่ไหน
ใครเป็นผู้ก่อเหตุ(ถ้าไม่ทราบก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่สาระสำคัญครับ ) ฯลฯ เป็นต้น
โดยเล่าข้อเท็จจริงที่ว่าข้างต้น เอาเท่าที่ท่านทราบตามความเป็นจริง นะครับ
ตอนนี้เรามาถึงในส่วนสำคัญทึ่สุด!! ของการแจ้งความ(ร้องทุกข์)กันแล้วครับ ซึ่งก็คือ
ตัวผู้เสียหายต้อง แจ้งความประสงค์กับพนักงานสอบสวน(ตำรวจ)ด้วยว่า
"ต้องการดำเนินคดีกับ....(ผู้กระทำผิด).....จนกว่าคดีจะถึงที่สุด" หรือ
"...เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย"
เพียงเท่านี้ครับ การแจ้งความ(ร้องทุกข์)ของท่าน ก็จะมีผลตามกฎหมาย ซึ่งทำให้
พนักงานสอบสวน(ตำรวจ)มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง ครับ
ในทางกลับกัน หากท่าน "ไม่แจ้งความประสงค์" ข้างต้นนั้น จะมีผลกระทบในเรื่อง
"อำนาจฟ้อง" ซึ่งมีผลทำให้พนักงานสอบสวน(ตำรวจ)ไม่มีอำนาจสอบสวน และ
พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
และหากคดีขึ้นสู่กระบวนพิจารณาของศาล ศาลก็ต้องยกฟ้อง เนื่องจาก
ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นต้น
ซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อความที่เราแจ้งไป โดยไม่แจ้งความประสงค์ที่จะดำเนินคดีนั้น มีผลเพียงเป็นการลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน เท่านั้น
ฉนั้นอย่าลืม! แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานสอบสวน(ตำรวจ) ด้วยว่า
"ต้องการดำเนินคดีกับ....(ผู้กระทำผิด).....จนกว่าคดีจะถึงที่สุด" ด้วยนะครับ
สำหรับ "คดีที่ยอมความได้" เช่น ยักยอก ฉ้อโกง ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก ฯลฯ
ผู้เสียหายต้องแจ้งความ(ร้องทุกข์) ภายใน 3 เดือน !! มิฉะนั้น คดีจะขาดอายุความ!!
สำคัญนะครับ หลายๆท่านก็มักพลาดในจุดนี้ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมาหลายๆท่านก็มักจะ
ไม่แจ้งความในทันที
มักจะปล่อยให้ระยะเวลาเนิ่นนานออกไป เพราะไม่อยากจะเป็นเรื่องเป็นราว
ขึ้นโรงขึ้นศาลกันให้มากความ
หรือ บางทีท่านก็อาจคล้อยตามผู้กระทำผิด ที่มักจะขอร้องวิงวอนอย่าเพิ่งแจ้งความ
ดำเนินคดี ขอเวลาหาเงินหาทองหรือนำสิ่งของมามาชดใช้คืน ซึ่งหลายๆท่านก็มัก
ใจอ่อนเนื่องจากสงสารและไม่อยากให้เป็นความวุ่นวายกัน
และด้วยความใจอ่อนสงสารของท่านนั้น ก็อาจทำให้เป็นผลเสียแก่คดีของท่านได้
ด้วยที่ว่าหากเป็น "คดีที่ยอมความกันได้" แล้วผู้เสียหายไม่แจ้งความ(ร้องทุกข์)
ใน 3 เดือนนั้น จะทำให้คดีขาดอายุความ
แม้ท่านจะสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ หรือฟ้องร้องต่อศาลได้ แต่ผู้กระทำผิดก็
สามารถยกข้อกฎหมายเรื่อง "อายุความ" ขึ้นต่อสู้มีผลทำให้คดีถูกยกฟ้องได้ครับ
ก็เป็นอันจบเรื่อง การแจ้งความ(ร้องทุกข์)ครับ
สาระน่ารู้ : แจ้งความดำเนินคดี เป็นภาษาชาวบ้านที่เรียกกันติดปาก
แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันครับไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนภาษากฎหมาย จะเรียกว่า "ร้องทุกข์"
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หากจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ใดก็ฝากกดไลค์กันได้นะครับ
และหากท่านคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นๆบ้างก็ฝากแชร์ด้วยนะครับ : )
โพสต์นี้เป็นโพสต์แรกของผมนะครับ หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยท่านผู้อ่าน
ด้วยนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา