21 ก.ค. 2020 เวลา 23:05 • อาหาร
EP.40 ของกิ๋นบ้านเฮา
ขนมจีนน้ำเงี้ยว
จังหวัดเชียงใหม่บ้านเกิดของผม อยู่ห่างจากจังหวัดปทุมธานีที่อยู่ปัจจุบันราวๆ 737 กิโลเมตร
ถ้าทุกการเดินทางพุ่งตรงไปถึงที่บ้าน แบบจอดหน้าประตูบ้านได้เลยอะนะ จะใช้เวลาดังนี้
เดินทางด้วยเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
เดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงกว่าๆ
เดินทางด้วยรถทัวร์ใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมงกว่าๆ
เดินทางด้วยรถไฟใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงกว่าๆ
เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงกว่าๆ
เดินเท้าใช้เวลาราวๆ 6-7 วัน!!!
1
“วาร์ปไปเลยค่าาาาา” น้องหมวยเสียงใสจากเพจแบ่งบันแนะนำ ในวันที่ผมเกิดคิดถึงเชียงใหม่จับใจอย่างกระทันหัน
เอ่อใช่!!!
จริงสินะ วาร์ปไปที่บ้านก็ได้นี่
อืมมม...
นึกออกอีกอย่าง เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอไปทำภารกิจด้วยเลยละกัน (ค้างเค้าไว้นานละ)
หลับตาแป๊บ...
จุดหมายของเราคือ หมู่บ้านแม่ข้อน ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเวลาราวๆ 30 ปีก่อน
Let’s go!!!
แค่ไม่กี่วินาทีผมก็มาถึงพิกัดที่ระบุไว้ ที่ข้างบ้านของผมบริเวณนอกรั้วไม้ ตรงใต้ต้นตะขบสูงใหญ่มีร้านอาหารเล็กๆ ตั้งอยู่ริมถนน
ต้นตะขบ Signature ของที่ร้าน
ก่อนอื่นขอสูดหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ ที่ไม่มี PM 2.5, COVID-19 ฯลฯ สักครู่นะ 555
ร้านนี้สร้างขึ้นง่ายๆ ลักษณะเป็นแบบเพิงหมาแหงน มุงด้วยหญ้าคา (ฝนตกนี่ได้ฟิวสุดๆ) มีโต๊ะยาวที่ติดกับเก้าอี้ประมาณสองชุด ทั้งร้านจุลูกค้าสูงสุดได้ราวๆ สิบคน
เมนูคือ ขนมจีนน้ำเงี้ยว หนังปอง ส้มตำ ของหวาน เช่น บวดฟัก ลอดช่อง และผลไม้ดอง อาทิ กระท้อน มะหลอด อร่อยไม่อร่อยก็ประมาณลูกค้าต่างตำบลดั้นด้นกันมาให้เพียบ
หนังปอง
ว่าแต่แม่กับป้าที่กำลังง่วนกับการขายสมัยนั้นยังเอ๊าะๆ อยู่เลยเนอะ ส่วนเด็กน้อยหน้าตี๋ที่ช่วยเสิร์ฟอยู่นั่นมันจะแต่งตัวเรียบร้อยไปไหนฟะ เป๊ะเชียว!!!
มะหลอดดอง
ถามว่าชื่อร้านอะไร?
ใช่ๆ ตอนเด็กๆ ผมเคยสงสัยเหมือนกันนะว่าทำไมร้านเราไม่มีชื่อ ถามหนักๆ เข้าแม่ก็บอกว่าชื่อ ‘ร้านสองพี่น้อง’ แกคงตอบตัดความรำคาญไปงั้นแหละ เพราะจะกี่ปีก็ไม่ยักกะติดป้ายสักที 555 เพราะเอาจริงๆ ลูกค้าเค้าจะพูดชื่อไม่แม่ก็ป้าแทนชื่อร้านไปเลยอะนะ เป็นอันรู้กันว่างั้น
น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่มีร้านนี้อีกแล้วเนื่องจากป้ากับแม่แก่มากแล้ว และทั้งสองท่านมีปัญหาสุขภาพ
แต่ทุกอย่างยังอยู่ในความทรงจำของผมไม่มีวันลืมเลือน
นี่ล่ะครับ “ร้านอาหารโปรดในดวงใจผม”
ขอบคุณ น้องเจ เพจ เจหนุ่มสกลคนอิสระ กับ คุณปัทม์ เพจ Patt Photos Technique idea💕 สำหรับ challenge แนะนำร้านอาหารโปรดในดวงใจ มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ (ขออนุญาตทำภารกิจแบบนี้นะครับ)
และผู้โชคดีที่ได้รับ challenge ต่อก็คือ น้องวินดา จากเพจ windasharing ครับผม คือน้องเค้าบอกว่าจะ “กินของอร่อยเชียงใหม่มาฝากค่าาา!!!” ไอ้เราก็อยากเห็นว่าจริงไหมอะนะ?
น้องวินดาครับถ้าไม่ลำบากรบกวนเลือกอย่างน้อย 3 เมนูข้างล่างนี้แล้วเซลฟี่มาให้ทุกคนชมหน่อยนะจ๊ะ
แถมท้ายด้วยอาหารเหนือที่ห้ามพลาด โดย MICHELIN GUIDE ครับ
1. กระบอง คือผักชุบแป้งทอด กรอบนอก นุ่มใน เผ็ดเล็กน้อยจากพริกแกงที่ผสมในแป้ง ปกติมักใช้ฟักทอง แต่อาจจะใช้ผักอย่างอื่นแทนเช่น มะละกอ หัวปลี
กระบอง
2. ข้าวหลาม ของหวานชนิดนี้ทำจากข้าวเหนียวผสมถั่วดำ คลุกเคล้ากับน้ำตาลทราย และกะทิ กรอกลงกระบอกไม้ไผ่ นำไปเผาบนถ่าน
ข้าวหลาม
3. ข้าวซอยไก่ คืออาหารเหนือที่ขึ้นชื่อที่สุด เส้นข้าวซอยราดแกงกะทิ ใส่น่องไก่ โรยด้วยหมี่กรอบ ทานคู่กับหอมแดงซอย พริกป่นผัดน้ำมัน และมะนาว
ข้าวซอยไก่
4. ไส้อั่ว ไส้กรอกรสเผ็ดจากเมืองเหนือ คำว่า “อั่ว” ในภาษาเหนือแปลว่ากรอกหรือยัดไส้ ไส้อั่วจึงเป็นการนำหมูบดมาผสมกับกระเทียม สมุนไพร พริก และเครื่องแกง ก่อนนำไปกรอกใส่ไส้นั่นเอง
ไส้อั่ว
5. ขนมจีนน้ำเงี้ยว ได้รสเปรี้ยวหวานจากมะเขือเทศ ผัดรวมกับเลือดหมู เนื้อหมู ถั่วเน่า และพริก กลายเป็นน้ำแกงสีแดงนำไปราดเส้นขนมจีน เพิ่มรสชาติด้วยการโรยกระเทียมเจียว ผักกาดดอง มะนาว และแคบหมู
ขนมจีนน้ำเงี้ยว
6. แกงฮังเล มีต้นกำเนิดจากพม่า เพื่อนบ้านของไทย และอินเดีย ส่วนผสมใกล้เคียงกับผงมาซาลา (masala) ตัวแกงส่งกลิ่นหอมของเครื่องเทศ และสมุนไพร ทั้งมะขาม ขิง และกระเทียมดอง แม้ไม่มีกะทิแต่ก็เข้มมัน
แกงฮังเล
7. น้ำพริกหนุ่มกับแคบหมู ของฝากชื่อดังจากเมืองเหนือ ตัวน้ำพริกทำจากพริกหนุ่ม กระเทียม หอมแดง และผักชี ให้รสเผ็ดเล็กน้อย เข้ากันได้ดีกับความเค็มจากแคบหมู
น้ำพริกหนุ่ม
8. ลาบดิบ เรียกได้ว่าเป็น Carpaccio หรือ Tartare เนื้อแบบไทย ส่วนผสม-ของลาบดิบคล้ายคลึงกับลาบ มีทั้งพริกลาบ สะระแหน่ และน้ำปลา สิ่งที่ต่างคือเนื้อที่ใช้จะเป็นเนื้อดิบที่บดหรือสับ แถมยังมีเครื่องใน และเลือดด้วย
ลาบดิบ
9. หมูยอ หมูสีอ่อนชนิดนี้ถือเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ของอาหารเหนือหลายเมนู รสเค็มเล็กน้อยเหมาะสำหรับนำไปทอดทานเป็นของว่าง หรือจะนำไปผสมกับยำก็ได้
หมูยอ
10. แกงโฮะ “โฮะ” ในภาษาเหนือแปลว่ารวม ดังนั้น จานนี้คือการนำอาหารเหลือหลาย ๆ อย่างมารวมกัน น้ำแกงที่เหลือ (ปกติมักเป็นแกงฮังเล) นำมาผัดกับวุ้นเส้น ใบมะกรูด หน่อไม้ดอง ตะไคร้ และเนื้อหมู ดูแห้ง ๆ แต่รสแรง
แกงโฮะ
ของกิ๋นคนเมือง / จรัล มโนเพ็ชร-สุนทรี เวชานนท์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา