Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชีวิตที่ว่างเปล่ากับเรื่องราวที่มากมาย
•
ติดตาม
22 ก.ค. 2020 เวลา 02:57 • ประวัติศาสตร์
ประวัติและผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์
(พอสังเขป)
ในรัชสมัยพระเจ้ามหานามแห่งลังกา ได้มีการฟื้นฟูวรรณกรรมภาษาบาลีขึ้นขนานใหญ่ เป็นผลงานของคณะมหาวิหาร ผลงานนี้ทำให้คณะมหาวิหารรุ่งโรจน์แซงหน้าคณะอภัยคิรีวิหาร คณาจารย์ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำงานดังกล่าวนี้คือ พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านผู้นี้เป็นชาวอินเดีย เกิดในศตวรรษที่ ๙ เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด ภายหลังออกบวชในพระพุทธศาสนา
คัมภีร์วิสุทธิมรรค
ส่วนปัญหาเรื่องชาติภูมิของท่าน ยังมีข้อสงสัย ถ้าเชื่อตามตำนานที่เป็นเรื่องเเต่งขึ้นภายหลัง ท่านก็เป็นชาวมคธ เกิดในบริเวณตำบลพุทธคยา แต่ศึกษาจากผลงานของท่านแสดงว่า ท่านไม่ค่อยรู้เรื่องภูมิศาสตร์ทางภาคเหนือของอินเดียมากเท่ากับที่ท่านรู้ภูมิศาสตร์ในแถบใต้ของอินเดีย เพราะฉะนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่าท่านเป็นชาวอินเดียใต้มากกว่าที่จะเป็นชาวมคธ
ท่านปรารภเหตุที่จะเขียนอรรถกถาแห่งอภิธรรม แต่ขาดแคลนตำราค้นคว้า อุปัชฌายะของท่านจึงแนะนำว่าควรไปเขียนที่ลังกา เพราะมีตำรับตำราสมบูรณ์ แต่ก่อนที่ท่านจะไป ท่านได้เขียนคัมภีร์ญาโณทัยปกรณ์ขึ้น ซึ่งคัมภีร์เล่มนี้ปัจจุบันไม่มีต้นฉบับอยู่แล้ว
ขณะที่ท่านเดินทางไปลังกา ได้สวนทางกับคณาจารย์อีกรูปหนึ่งคือ พระพุทธทัตตาจารย์ ซึ่งเป็นชาวเมืองกาญจิปุระในอินเดียใต้ ท่านไปลังกาด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่ทำงานไม่สำเร็จ พระพุทธทัตตะได้เขียนปกรณ์สำคัญขึ้นในลังกา ชื่อ
อภิธรรมาวตาร และอรรถกถาส่วนหนึ่งของ ขุททกนิกาย คำอธิบายพระวินัย ชื่อ อุตตรวินิจฉัย แต่งานทั้งหมดนี้ คณะสงฆ์ลังกาไม่สู้นิยมยกย่อง
เมื่อพระพุทธโฆษาจารย์ไปถึงลังกา ท่านได้พักอยู่ ณ คันถกปริเวณ ในมหาวิหาร คือหอสมุดของวัดนั้นเอง
ขณะนั้นอธิการบดีแห่งมหาวิหาร คือ พระสังฆปาละให้ทดสอบภูมิรู้ของพระพุทธโฆษะ และทิฏฐิของท่าน ก่อนที่จะมอบงานสำคัญให้ พระสังฆปาละจึงได้ยกบาลีพุทธสุภาษิตบทหนึ่งให้พระพทธโฆษะแต่งแก้ และคำแก้กระทู้บทนั้นสำเร็จเป็นปกรณ์ชื่อวิสุทธิมรรคขึ้น หนังสือเล่มนี้เพียงเล่มเดียว ก็เพียงพอที่จะทำให้ชื่อเสียงของผู้แต่งเป็นอมตะ โดยท่านผู้แต่งไม่ต้องทำงานอื่นอีกเลย
คัมภีร์วิสุทธิมรรคเท่ากับย่อพระไตรปิฏกทั้งหมด แต่ก่อนหน้านี้ได้มีคณาจารย์อีกรูปหนึ่ง เป็นฝ่ายอภัยคิรีวิหาร ชื่อ อุปติสสะ ได้เขียนปกรณ์ ชื่อ วิมุตติมรรค
เนื้อความไม่แตกต่างจากวิสุทธิมรรคนัก พระพุทธโฆษะ อาจจะได้ความคิดจากวิมุตติมรรคมาก่อน แต่เมื่อท่านเขียนวิสุทธิมรรคขึ้น ก็เป็นการยืนยันมติของคณะมหาวิหาร และนี้เองอาจจะเป็นจุดแตกต่างระหว่างสองปกรณ์นี้
คณะสงฆ์มหาวิหารประชุมกันพิจารณาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้ตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า เป็นหนังสือดีเยี่ยม จึงได้มอบความใว้วางใจแก่พระพุทธโฆษะ ให้ทำหน้าที่ชำระวรรณกรรมบาลีทั้งหมด โดยถ่ายทอดจากภาษาสีหลเป็นภาษามคธ ผลงานนี้คือ บรรดาอรรถกถาทั้งหลาย ซึ่งฉบับโบราณมีอยู่ ๓ ฉบับ เป็นฉบับมาตรฐาน คือ มหาอรรถกถา กุรุนทีอรรถกา ปัจจรีอรรถกา
นอกจากนี้ยังมีอรรถกถาปลีกย่อย เช่น อันธกอรรถกถา สังเขปอรรถกถา พระพุทธโฆษะได้ชำระแล้วเขียนอรรถกถาขึ้นใหม่ คือเขียน สมันตปาสาทิกาวินยัฏฐกถา เขียนกังขาวิตรณี แก้ปาฏิโมกข์ เขียนสุมังคลวิลาสินี ปปัญจสูทนี มโนรถปูรณี สารัตถปกาสินี และชาตกัตถกถา ธัมมปทัฏฐกถา แก้พระสูตร และเขียนอัตถสาลินี สัมโมหวิโนทนี ปรมัตถทีปนี แก้พระอภิธรรม อรรถกถาที่ท่านทำนี้เรียกว่า นวอัฏฐกถา
ต่อมาในศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช ซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ปุรัตถินคร หรือโปโฬนนรุวะ ได้ทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์ ซึ่งสืบสายมาจากฝ่ายมหาวิหาร ประชุมแต่งฎีกา มีพระมหากัสสปะ แห่งอุทุมพรคิรีวิหารเป็นประมุข ในการนี้พระสารีบุตร ได้เขียนสารัตถะทีปนี ฎีกาพระวินัย
พระอานันทาจารย์ได้เขียนมูลฎีกา แก้พระอภิธรรมและมีคณาจารย์ต่อมาอีกหลายรูป ได้แต่งฎีกาบ้าง อนุฎีกาบ้าง เป็นเหตุให้พุทธศาสนานิกายเถรวาทสำนักมหาวิหาร แพร่หลายออกไปในหลายประเทศมี ไทย พม่า มอญ ลาว เป็นต้น
อ้างอิงจากหนังสือ อ.เสถียร โพธินันทะ
บันทึก
3
1
3
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย