เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดี ที่โบราณสถานโคกแจง จังหวัดนครปฐม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นหลักฐานใหม่ในการศึกษาทางโบราณคดี (ดูรายละเอียดได้ใน https://news.thaipbs.or.th/content/294783) .
ประเด็นน่าสนใจในการค้นพบครั้งนี้ ดังที่ทางกรมศิลปากรแจ้งไว้ก็คือ
.
“แผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 26.2 เซนติเมตร หนา 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ แผ่นดินเผานี้มีการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์แบ่งเป็น 12 ช่องตามแนวรัศมี และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ขอบของแผ่นดินเผาก็ได้พบตัวอักษรจารึกเช่นกัน...
.
การค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย แต่เดิมเคยได้พบหลักฐานแผ่นอิฐที่สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม เป็นอิฐที่มีการทำลวดลายพิเศษ และที่เจดีย์หมายเลข 1 เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นอิฐที่ตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลาย
.
การค้นพบแผ่นฤกษ์มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง”
.
เมื่อดิฉันได้พิจารณาแผ่นดินเผาที่เพิ่งค้นพบใหม่จากโบราณสถานโคกแจง เห็นแล้วคุ้นตาอย่างยิ่ง
.
จึงได้พยายามพิจารณาดูโครงสร้างทั้งหมด ก็พบว่าน่าจะเป็น “ต้นแบบ” ของแผนที่ดาว 12 ราศีในอันโตมณฑล (กลุ่มดาวที่พระอาทิตย์โคจรผ่าน) ที่นำมาวาดไว้ในสมุดไทยขาว สมุดไทยดำ ในยุคต่อมา (ดูภาพที่ 3-4-5-6)
.
ก่อนหน้านี้ที่เคยตรวจสอบมา หลักฐานการกล่าวถึงระบบดวงฤกษ์ไว้ เก่าแก่มากๆ ได้พบว่ามีอยู่ในจารึกหินสมัยสุโขทัยหลายหลัก ดังเช่น ศิลาจารึกนครชุม พ.ศ. 1900
ส่วนภาพแผนที่ดาวลักษณะนี้ ได้มีปรากฏในสมุดข่อยตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา และยังมีการเขียนกันไว้จนถึงยุครัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งดิฉันได้เคยสืบค้นรวบรวมเขียนออกมาเป็นบทความ และพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ไทบ้านดูดาว” กับ “นานาภาษาดาว” ที่เพิ่งพิมพ์เผยแพร่ออกมา
.
ภาพแผนที่ดาวไทยลักษณะเช่นนี้ ต่อมาได้พัฒนาต่อยอดทำเป็นแป้นหมุนลัคนาสำเร็จ ของอาจารย์สิงห์โต สินสันธิ์เทศ ให้คนสนใจศึกษาทางโหราศาสตร์ หมุนหาลัคนาในเวลาผูกดวง (ดูภาพที่ 7-8)
.
หลักฐานแผ่นดินเผาลักษณะคล้ายแผนที่ดาวไทยที่ขุดเจอจากโบราณสถานโคกแจงครั้งนี้ จึงสำคัญมากๆ เพราะทำให้รู้ว่าแผนที่ดาวในอันโตมณฑล มีมาแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี
.
เท่าที่ดิฉันพยายามดูภาพแผ่นดินเผาโคกแจงที่ขุดขึ้นมา เห็นลักษณะภาพที่จารึกไว้มีโครงสร้างเช่นเดียวกับแผนที่ดาวไทยในสมุดไทยยุคอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์
.
จึงเป็นไปได้ว่า แผ่นดินเผาโคกแจงจะเป็นต้นแบบของแผนที่ดาวไทยเก่าแก่ที่สุด ที่หลังจากนั้นได้มีการเขียนลงในสมุดข่อยยุคหลัง และสืบต่อทำเป็นแป้นหมุนลัคนาสำเร็จในยุคปัจจุบัน
.
#การหาอายุของแผ่นฤกษ์
.
สำหรับแผนที่ดาวไทยดินเผาโคกแจงแผ่นนี้ ในวงกลมด้านใน ทั้ง 12 ช่อง (12 ราศี) หากอ่านออกมาแล้วมีตัวเลข 1 ถึง 7 อยู่ในช่องต่างๆ ด้วยนั้น
เลขแต่ละตัวเหล่านั้นก็คือดาวอาทิตย์ถึงดาวเสาร์ อันทำให้รู้ว่าในวันทำพิธี ดาวแต่ละดวงอยู่ในตำแหน่งราศีใด ใน 12 ราศี (ที่เห็นเป็นช่องต่างๆ ในวงกลม)
.
และการที่ดาวแต่ละดวงอยู่ในราศีใด มีความสำคัญมาก เพราะจะสามารถนำมาใช้ตรวจสอบอายุเวลาของแผ่นดินเผานี้ได้ชัดเจนขึ้น
.
เนื่องด้วยตำแหน่งดาวพฤหัส (5) อยู่ที่ราศีใดใน 12 ราศีของดวงฤกษ์ จะช่วยบอกให้รู้ว่าวันทำพิธีนั้น ตรงกับปีนักษัตรชวด ฉลู ขาล เถาะ...กุน ได้ เนื่องด้วยดาวพฤหัสอยู่ประจำราศีละประมาณ 1 ปี
.
เช่นดาวพฤหัสบดี (5) อยู่ที่ราศีมังกร จะบอกว่ามีการทำพิธีในปีฉลู
.
ได้รู้ข้อมูลนี้แล้ว เราสามารถเอาปีฉลู มาคำนวณได้ว่า น่าจะตรงกับ พ.ศ. ใด ในช่วงระยะเวลาทำพิธีนั้น
.
ส่วนตำแหน่งดาวอาทิตย์ (1) ในดวงฤกษ์ จะบอกเดือนในวันทำพิธีว่าตรงกับ “เดือนใด”
.
เช่นดาวอาทิตย์ (1) ในราศีมังกร จะบอกให้รู้ว่าการทำพิธีอยู่ระหว่างวันที่ 15 มกราคม-๑๔ กุมภาพันธ์
.
ส่วนตำแหน่งดาวจันทร์ (2) ที่สัมพันธ์กับอาทิตย์ (1) ในดวงฤกษ์ จะบอกวันขึ้นแรม ในวันทำพิธี
.
เช่นอาทิตย์ (1) อยู่ราศีมังกร จันทร์ (2) อยู่ในกลุ่มดาวราศีกรกฎ จะเป็นวันประมาณขึ้น 15 ค่ำ เดือนเพ็ญ ซึ่งจันทร์ในราศีกรกฎ คือดาวจันทร์ที่อยู่กับกลุ่มดาวปุนวสุ (เพชฌฆาตฤกษ์), บุษยะ (ราชาฤกษ์) และอาศเลษา (สมโณฤกษ์)
.
การบอกเช่นนี้คือการบอกองศาดาวจันทร์ ในราศีที่สถิตอยู่
และถ้าบอกตรียางค์ นวางค์ ที่ทำพิธี ไว้ด้วย ยิ่งเป็นการบอกละเอียดถึงจุดเวลาในการทำพิธีชัดเจนขึ้นด้วย
.
ดังนั้นหากมีตัวเลขอันแสดงถึงตำแหน่งดาวอาทิตย์ดาวจันทร์ และดาวเคราะห์ต่างๆ ปรากฏในแผนที่ดาวแผ่นดินเผาโคกแจงนี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าการเขียนแผนที่ดาว มีมาแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี
.
ยังสามารถนำไปคำนวณหาวัน เดือน ปี และ เวลา ในการทำพิธีนี้ได้ด้วยค่ะ
.
เรื่องและภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว