22 ก.ค. 2020 เวลา 12:34 • หนังสือ
สื่อสนุกสำนวนไทย – หากมีเวลาเหลือเฟือก็อ่านเถอะ
เป็นหนังสือที่แต่งโดยท่าน ล้อม เพ็งแก้ว ผู้เป็นปราชญ์ด้านภาษา โดยท่านล้อมจะยกเอาสำนวนไทยขึ้นมาทั้งหมด 67 สำนวน และความเป็นจริงสำนวนทั้งหมดที่ท่านล้อมยกขึ้นมาอธิบายนั้นก็น่าจะมีจริงๆ ราวๆ 100 สำนวน เพราะระหว่างที่ท่าอรรถาธิบายสำนวนหนึ่ง ท่านก็ยกสำนวนอื่นที่ใกล้เคียงเข้ามาอธิบายร่วมด้วย
หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือรวมบทความที่ท่านเขียนลงในหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ ซึ่งผมก็ไม่รู้จักหนังสือพิมพ์นี้ น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสักแห่งหนึ่ง
ดังนั้น ต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง ท่านล้อม เพ็งแก้ว เป็นคนที่อยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ แวดวงนักข่าว ดังนั้นในหนังสือเล่มนี้ ก็จะยกเอาเนื้อข่าวขึ้นมาประกอบคำอธิบายด้วย ดังนั้น ในทุกบท ก็จะมีเนื้อหาข่าวยาวยืดให้เราได้อ่าน ซึ่งบางส่วนก็สนุกดี มันเหมือนกับว่าท่านเล่าปูมประวัติศาสตร์ตั้งแต่ครั้งชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 ล่วงเลยมาจนถึงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในการอธิบายสำนวนไทย แต่บางส่วนผมก็อ่านข้ามๆ ไป อดน้อยใจไม่ได้ว่าท่านเล่นก๊อปเนื้อหาข่าวมาเกือบทั้งดุ้นให้ผมอ่านไปทำไม?
ถ้าคนที่มีภูมิรู้ภาษาไทยในขั้นดีอยู่แล้ว ถ้าคนที่ผ่านเหตุการณ์ในยุคนั้นจนจำขึ้นใจ ส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ก็...ไม่รู้จะอ่านไปทำไม อาจจะมีบ้างว่า อ้าว สำนวนนี้มีที่มาอย่างงี้เองหรือ แต่มันก็น้อยอ่ะ ไม่ค่อยคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปในการอ่านเล่มนี้เท่าไหร่นัก
แต่ถ้าคนที่ภูมิรู้ภาษาไทยไม่ดี และอยากรู้ว่าบ้านเมืองในยุคนั้นผ่านอะไรมาบ้าง จะอ่านเล่มนี้ก็ไม่เสียหลาย และลับคมในทักษะด้านภาษาไทยของตัวให้แตกฉานยิ่งขึ้น
อนึ่ง กระผมในฐานะคนที่ผ่านโลกมาตั้งแต่ยุคโทรทัศน์ปุ่มบิด คนในยุคโน้น การตามข่าวสารบ้านเมืองนั้นขาดไม่ได้เลยที่จะต้องพึ่งพาข่าวสารจากหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ข่าวโทรทัศน์ก็พูดเรื่องการเมืองด้วย แต่ไม่มีอะไรมันส์เท่ากับการไปไล่อ่านพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ อ่านดูงานเขียนคอลัมน์อันคมกริบของนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังหลายท่าน
และในข่าวการเมืองในแต่ละห้วงเวลานั้น นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว ก็จะนำเสนอเหตุการณ์ทางการเมืองด้วยสำนวนสั้นๆ แต่อธิบายความหมายครอบคลุมกว้างไกลยิ่ง อาทิ สับขาหลอก ล้วงตับ หนังหน้าไฟ เทกระจาด งูเห่า ฯลฯ สำนวนไทยเหล่านี้ อธิบายเหตุการณ์อันวุ่นวายที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นอย่างกระจ่างแจ้ง ขนาดที่ว่า พูดคำไม่กี่พยางค์คนฟังก็นึกภาพเหตุการณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องออกว่ามีใครบ้าง
อุปมาให้เห็นภาพง่ายๆ หากเราพูดคำว่า “กูจะแจ้ง” เราก็นึกถึงพระชี้หน้าด่าญาติโยมกลับมาว่า “อีกะเทย” นั่นแล
สำนวนมันเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ มันถูกสร้างมาเพื่ออธิบายความนัยอันกินความกว้างโดยใช้คำสั้นๆ ไม่กี่พยางค์
และสำนวนไทยนั้นมันมีหลากหลายนัก
หากท่านคิดว่า ภาษาไทยยังไม่คมกริบ ภูมิรู้ในสำนวนยังไม่กระจ่างแจ้ง หากอยากจะอ่านเล่มนี้ก็อ่านได้ แต่สำหรับคนรู้ดีอยู่แล้ว ถ้า...มีเวลาเหลือเฟือเหลือทิ้งเหลือขว้าง อยากอ่านก็อ่านเถอะ
โฆษณา