22 ก.ค. 2020 เวลา 23:09 • ข่าว
เทียบชัดๆ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ กับ ‘Go To Travel’ ความหวังฟื้นท่องเที่ยว ‘ไทย-ญี่ปุ่น’
นอกจากไทยที่มีแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งเปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 15 ก.ค. หวังฟื้นการท่องเที่ยวในประเทศหลังซบเซาหนักช่วงโควิด-19 ฝั่งญี่ปุ่นก็เปิดแคมเปญคล้ายกันชื่อ “Go To Travel” วันที่ 22 ก.ค. เป็นวันแรก ไปดูกันว่า 2 แคมเปญมีความน่าสนใจอย่างไร
เพื่อส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศและช่วยกระตุ้นธุรกิจท้องถิ่นในยุคโควิด-19 ระบาด รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดแคมเปญ “Go To Travel” ซึ่งจะออกค่าใช้จ่ายให้ประชาชนมากถึง 50% ครอบคลุมทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว และค่าช้อปปิ้ง ระหว่างท่องเที่ยวทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่กรุงโตเกียวถูกตัดออกจากแคมเปญนี้ เพราะยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรายวัน ณ วันพุธ (22 ก.ค.) ยอดผู้ป่วยสะสมพุ่งขึ้นเป็นกว่า 10,000 คนแล้ว หลังมีการยืนยันผู้ติดเชื้ออีก 238 คนในวันเดียว หมายความว่า ชาวโตเกียวและคนที่เดินทางเข้าและออกจากเมืองหลวง จะหมดสิทธิ์ได้รับส่วนลดต่าง ๆ จากโครงการ Go To Travel
ปัจจุบัน กรุงโตเกียวยกระดับเตือนภัยไวรัสเป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ส่วนผู้ว่าราชการโตเกียวแนะนำให้ชาวเมืองเลี่ยงออกนอกที่พักอาศัย ถึงแม้ตอนนี้ ชาวโตเกียวยังไปเที่ยวต่างเมืองไม่ได้ แต่หากยอดติดเชื้อลดลง รัฐบาลก็น่าจะพิจารณาเพิ่มเมืองหลวงเข้าร่วมโครงการนี้ในอนาคต
Go To Travel คืออะไร
Go To Travel เป็นแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นไปและยังไม่กำหนดวันปิดแคมเปญ โดยจะใช้งบประมาณรวมทั้งโครงการ 1.3 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3.84 แสนล้านบาท
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะใช้แคมเปญนี้ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและกิจการของผู้ประกอบการที่พักในท้องถิ่น หลังจากผู้ประกอบการหลายรายจำต้องปิดให้บริการช่วงที่ทางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19
มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวดังกล่าวเริ่มต้นเร็วกว่าแผนเดิมที่จะเริ่มช่วงเดือน ส.ค. ด้วยเหตุผลว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. ญี่ปุ่นจะเริ่มสุดสัปดาห์วันหยุดยาวทั่วประเทศ 4 วัน รัฐบาลจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่กำลังเงียบเหงา
ในช่วงแรก รัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยออก 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 15% รัฐบาลจะแจกเป็นคูปองสำหรับใช้ช้อปที่ร้านค้าและกินดื่มที่ร้านอาหารตามจุดหมายปลายทั่วประเทศอย่างเร็วที่สุดภายในวันที่ 1 ก.ย. หรือหลังจากนั้น เนื่องจากต้องใช้เวลาในการออกแบบมาตรการให้รัดกุมเพื่อป้องกันการนำไปใช้ฉ้อโกง
ขณะที่นักเดินทางชาวญี่ปุ่นที่ได้จองทริปล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นไป จะได้รับส่วนลดตามมาตรการของรัฐบาลหลังกลับจากทริปแล้ว โดยสามารถแจ้งกับบรรดาบริษัทท่องเที่ยวที่ร่วมโครงการ Go To Travel เช่น สมาคมตัวแทนนำเที่ยวญี่ปุ่น และบริษัทนำเที่ยว “JTB Corp.” เป็นต้น
ส่วนค่าตั๋วเครื่องบิน รัฐบาลจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้กรณีจองผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น หากจองตรงกับสายการบินจะไม่ได้รับสิทธิ
ภายใต้แคมเปญ Go To Travel รัฐบาลกลางจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายนักเดินทางครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 20,000 เยนต่อคนสำหรับทริปค้างคืน หรือ 10,000 เยนต่อคนสำหรับทริปเช้าไปเย็นกลับ โดยเงินอุดหนุนนี้เป็นคนละส่วนกับส่วนลดที่ประชาชนจะได้รับจากทางการท้องถิ่นแต่ละจังหวัด
นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกค่าใช้จ่ายกิน-ช้อป-เที่ยวให้นักเดินทาง ไม่เกิน 7,000 เยนต่อคนสำหรับทริปวันเดียวกลับ และ 14,000 เยนต่อคนสำหรับทริปค้างคืน จนกว่าจะได้รับคูปองส่วนลดเพิ่มในเดือน ก.ย.
จุดดึงดูดของแคมเปญนี้คือ นักเดินทางชาวญี่ปุ่นสามารถใช้สิทธิรับส่วนลดขณะเที่ยวทั่วประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าจะโครงการจะสิ้นสุดซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือน มี.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม หากมาตรการส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศ ทำให้จำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (JTA) จะพิจารณาจำกัดการใช้สิทธิในแคมเปญนี้
เทียบกับ “เราเที่ยวด้วยกัน”
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยออกมาตรการอุดหนุนการท่องเที่ยวมูลค่า 22,400 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ พร้อมประกาศวันหยุดราชการพิเศษ 4 วันช่วงต้นเดือนนี้
หลังเผชิญกับการล็อคดาวน์เต็มรูปแบบเพื่อสกัดโควิด-19 บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยต่างตั้งตารอที่จะเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าว
เฉพาะช่วงวันหยุดพิเศษ 4 วันระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค. ที่ผ่านมา คนไทยก็แห่เดินทางไปเที่ยวกันทั่วประเทศแล้ว ถนนสายต่าง ๆ ไปจนถึงสถานที่อย่างชายหาด ภูเขา และแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เต็มไปด้วยผู้คนและรถราจำนวนมาก
คนไทยได้รับสิทธิอะไรบ้าง
ภายใต้แคมเปญเราเที่ยวด้วยกัน นักเดินทางจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่อาจเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับ Go To Travel ของญี่ปุ่น ไล่ตั้งแต่ส่วนลดค่าที่พัก 40% ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อคืน คูปองอาหารหรือกิน-เที่ยว 900 บาทต่อห้องต่อคืนในวันธรรมดา และ 600 บาทต่อห้องต่อคืนในวันเสาร์-อาทิตย์
นอกจากนี้ นักเดินทางในประเทศยังได้ส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบินหรือค่าเช่ารถ 40% ไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน
ส่วนความพิเศษของแคมเปญกำลังใจ ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิวันที่ 25 ก.ค. คือ บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทุ่มเทเสียสละอย่างหนักช่วงโรคโควิด-19 ระบาด จะได้รับสิทธิเที่ยวพักผ่อนฟรี 2 วัน 1 คืน ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน โดยทั้ง 2 แคมเปญกระตุ้นท่องเที่ยวของไทยจะใช้สิทธิได้จนถึงวันที่ 31 ต.ค.นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการอุดหนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลน่าจะกระตุ้นให้คนไทยออกมาเที่ยวทั่วประเทศราว 91 ล้านครั้งในปีนี้ และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวในประเทศราว 41,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังต่ำกว่ายอดการเดินทางภายในประเทศเมื่อปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 171.4 ล้านครั้ง
โฆษณา