23 ก.ค. 2020 เวลา 13:34 • ไลฟ์สไตล์
เรื่องเล่าของสะสม
กล่องทองเหลืองลงยา
กล่องสองใบนี้สร้างความสับสนให้ฉันอยู่นานกว่าจะฟันธงว่าไม่ใช่เครื่องถมแต่เป็นงานทองเหลืองลงยาสีแดงซึ่งเป็นเทคนิคใหม่กว่าและแม้จะทำง่ายกว่าแต่ก็ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่ากัน วิธีการนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Champleve ซอมเปลเว่. คือการแกะลายบนผิวโลหะ ลงผงหรือน้ำยาสีในช่องที่แกะไว้. นำไปอบด้วยอุณหภูมิ 470 องศาเซลเซียสให้น้ำยาติดแน่น. เกิดเป็นลวดลายสีทองหรือเงินบนพื้นสีต่างๆ. ที่ทำกันมากคือแดง น้ำเงิน เขียว ขาวและฟ้า
วิธีการนี้ทำกันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ กรีก และโรมัน. สันนิษฐานว่าช่างฝีมือเปอร์เซียหรือจีนจะนำเข้ามาในสมัยอยุธยา. งานทองคำลงยาถือเป็นหนึ่งในศิลปะชั้นสูง. ใช้ทำเครื่องราชูปโภคและเครื่องประดับจากอยุธยามาถึงปัจจุบัน
เพราะทองคำและเงินมีราคาแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านจะซื้อมาใช้ในชีวิตประจำวัน. ช่างจึงใช้ทองเหลืองที่มีราคาถูกกว่าแต่ให้สีคล้ายทองคำ. กล่องสองใบนี้ของฉันทำจากทองเหลืองทั้งคู่. ใบแรกซื้อจากร้านขายเครื่องถมในเมืองนครศรีธรรมราช ใบที่สองรับแจกเป็นของชำร่วยงานแต่งงาน. ยังมีชื่อบ่าวสาวและวันแต่งสลักไว้ใต้กล่องหรือที่จริงอยากเรียกว่าตลับมากกว่าเพราะใบเล็ก
กล่องหรือตลับแบบนี้เป็นที่นิยมกันมากในยุโรปเมื่อสองสามร้อยปีก่อน. ใช้ใส่พวกยานัดยาดมพกไว้ในกระเป๋าเสื้อ. คนมีเงินจะใช้กล่องทำจากทองคำมีลวดลายสวยงาม. ปัจจุบันกล่องพวกนี้เป็นของสะสมราคาแพง. มีบันทึกว่าเมื่อ ค.ศ. 2003 มีผู้ประมูลกล่องที่ทำในฝรั่งเศสใบหนึ่งไปจากบริษัทคริสตี้ในราคา 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กล่องทองเหลืองลงยาของฉัน
ซ้าย กล่องลงยาของเก่าของไทย. ขวา กล่องลงยาโบราณของต่างชาติ. อาจจะเป็นตุรกี
นาฬิกาพก. ทำจากเงินและทองคำลงยา. เป็นของสะสมที่นิยมกันมาก
โฆษณา