24 ก.ค. 2020 เวลา 07:37
เกริ่นนำ...
พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๓ บัญญัติว่า
“ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกอิสลามศาสนิกของ
ศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้ง
โจทก์จำเลยหรือเป็นผู้เสนอคำขอ ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาทให้ใช้กฎหมายอิสลาม
ว่าด้วยครอบครัวและ มรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก”
และมาตรา ๔ บัญญัติว่า
“การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นตามความในมาตรา ๓ ให้ดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนาย
นั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา ให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัย
ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่พิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นด้วย คำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามให้เป็น
อันเด็ดขาดในคดีนั้น"
โดยกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รู้ทางศาสนาอิสลามได้วินิจฉัยชี้ขาดเพื่อรับรองสิทธิตามหลักการของศาสนาอิสลามให้แก่ผู้ที่มีความศรัทธามั่งคงในคำสอน
ของศาสนาอิสลาม
แต่เนื่องจากการเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้น ไม่ได้หมายความว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้มีความศรัทธามั่งคงในคำสอนของศาสนาอิสลาม
"การนับถือศาสนาอิสลาม" ของแต่ละคนนั้นจะเป็นการนับถือศาสนาตามบิดามารดา
เสมือนเป็นมรดกตกทอดมาถึงตน จึงทำให้มีผู้นับถือศาสนาอิสลามบางคนได้เข้าไปรับนับถือศาสนาพุทธตามศาสนาของคู่สมรส หรืีอผู้นับถือศาสนาพุทธบางคนได้เข้ามารับนับถือศาสนาอิสลามเพื่อแต่งงานตามหลักการศาสนาอิสลามกับคู่สมรสซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม
การแต่งงานในกรณีดังกล่าวนั้น แม้จะถือเป็นรูปแบบของสัญญาประเภทหนึ่ง
โดยผู้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามต้องมี "เจตนา" ที่จะได้สิทธิในความเป็นสามี
หรือภริยาตามกฎหมายอิสลามและยอมรับจะถือปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนด
ตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ไม่ว่าจะเป็น..
1.การอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
2.อำนาจในการปกครองและเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในขณะอยู่กินด้วยกัน หรือ
3.ภายหลังการสิ้นสภาพของการเป็นสามีภริยา
แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามจะได้ยอมรับและถือปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวฯ โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะให้บุตรซึ่งได้มาระหว่างอยู่กินเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม จึงทำให้ชายหรือ
หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามยอมที่จะแต่งงานตามหลักการของศาสนาอิสลามกับ
ชายหรือหญิงที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม
หากมีเจตนาในการเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเพื่อจะได้แต่งงานกับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามโดยไม่มีเจตนาและยอมรับตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวฯ แต่จะถือ
ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งได้บัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้ ฝ่าย
ชายหรือหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามก็จะไม่ยินยอมที่จะแต่งงานเป็นสามีภริยาตาม
หลักการศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อการดำเนิน
ชีวิตคู่และการอุปการะเลี้ยงดูบุตรแล้ว ยังส่งผลต่อการรับนับถือศาสนาอิสลามของ
บุตรอีกด้วย
ในปัจจุบันการเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามอยู่ในวิสัยที่บุคคลใดก็สามารถจะเข้ามารับนับถือได้โดยไม่ยาก จึงทำให้ผู้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเพื่อจะได้แต่งงานกับชายหรือหญิงที่ตนรักซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม มิได้เกิดจากความศรัทธาในคำสอนของ
ศาสนาอิสลามแต่อย่างใด
กรณีจึงเป็นไปได้สูงว่าหากมีการหย่าเกิดขึ้น ชายหรือหญิงที่เข้ารับนับถือศาสนา
อิสลามจะกลับไปนับถือศาสนาเดิมของตนและโดยส่วนใหญ่จะปราศจากจิตสำนึก
อันควรตระหนักถึงข้อผูกพันตามเงื่อนไขอันเป็นข้อสัญญาที่เป็นเจตนารมณ์ร่วมกัน
ในขณะแต่งงานกันว่าตนจะยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวฯ
ในเรื่องต่างๆ แม้ความเป็นสามีภริยาระหว่างตนกับอีกฝ่ายตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวฯจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม ฉะนั้น...
1.การที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามได้เปลี่ยนเข้ามารับถือศาสนาพุทธ หรือ
2.การที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธได้เข้ามารับถือศาสนาอิสลาม และต่อมาได้เปลี่ยนกลับไปนับถือศาสนาพุทธใหม่
ซึ่งเป็นผลมาจากค่านิยม ทัศนคติ วิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่
เปลี่ยนไป ประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้บริบทของสังคม
ที่เปลี่ยนไปเพราะเหตุดังกล่าวมานั้น แทนที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม
ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. ๒๔๘๙ จะเป็นกฎหมายที่ได้
ตราขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของชาวไทยมุสลิมที่มีความศรัทธามั่นคงในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม กลับทำให้การใช้กฎหมายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลดังกล่าว
ทั้งนี้เพราะกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้มีการแก้ไขเพื่อ
ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแต่อย่างใดเลยจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้กฎหมายดังกล่าวมีช่องโหว่ที่ทำให้สามารถตีความเพื่อบังคับใช้ที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจะได้สรุปเป็น 4 ข้อดังนี้
โปรดติดตามตอนต่อไป...
โฆษณา