25 ก.ค. 2020 เวลา 08:48
ภูเก็ต ในวันที่ดีมานก์การท่องเที่ยวน้อยกว่าซัพพลาย
ต่างชาติหาย คนไทยบ่นของแพง กิจการเจ๊ง ผู้ค้าขาดทุน
ภูเก็ตซบเซาเงียบเหงาหนัก ร้านเจ๊งยับ ขาดทุน แม่ค้านั่งตบยุง เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นการนำเสนอข่าวและการตั้งโพสต์ในกลุ่มต่าง ๆ ในช่วง 2 – 3 วันมานี้ และกลายเป็นประเด็นการโต้เถียงกันระหว่างคนท้องถิ่นที่กำลังเจอปัญหา กับคนต่างถิ่นที่ทั้งเคยประสบพบเจอกับประสบการณ์การเดินทางไปเยือนภูเก็ตทั้งในด้านบวกและด้านลบ
โดยคนในท้องก็แสดงความเห็นว่า มาเที่ยวภูเก็ตไปกินอาหารตามร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวก็ต้องแพงเป็นธรรมดา อาหารราคาถูกที่คนท้องถิ่นกินกันก็มีทำไมไม่ไป ในขณะที่ผู้มาเยือนต่างถิ่นก็โต้กลับว่า การเที่ยวภูเก็ตถ้าไม่ขับรถไปเอง ก็เจอกับค่าโดยสารที่แพง โดนเหมา โดนโขกสับราคาตั้งแต่ก้าวเท้าออกมาจากสนามบิน นักท่องเที่ยวไม่รู้เหรอว่าคนในท้องถิ่นกินตรงไหน เพราะไปเที่ยวมันก็ต้องกินอะไรที่หาได้ง่ายและสะดวก ด้วยเวลาที่จำกัดทำให้การไปเสาะหาที่กินตามคนท้องถิ่นคงไม่ใช่เรื่องง่าย มันอาจจะมีแต่ในราคาโดยเฉลี่ยแล้วมันไม่ควรสูงเกินไป ยิ่งเป็นจังหวัดที่เป็นเกาะ ทะเลล้อมรอบ อุดมสมบูรณ์แต่อาหารทะเลกลับแพงอย่างหน้าประหลาดใจ
ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารการกิน แต่ก็เถียงกันเรื่องราคาที่พัก ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว ค่าเดินทาง และอื่น ๆ อีกมากมายว่า เป็นราคาที่คนไทยทั่วไป หรือแม้แต่ต่างชาติเองเห็นแล้วก็อาจสะดุ้งได้
ยิ่งตอนนี้ตลาดนักท่องเที่ยวหลักอย่างชาวต่างชาติไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ ยิ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อภาคการท่องเที่ยวของภูเก็ต เพราะเม็ดเงินมหาศาลที่เคยได้ในสัดส่วนที่มากกว่านักท่องเที่ยวไทยครึ่งต่อครึ่งได้หายไป มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจทุกแห่งจะอยู่รอด
ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทย 39.7 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 10.6 ล้านคน คือตัวเลขของจังหวัดภูเก็ตจังหวัดเดียว คิดเป็น 22% ของรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยทั้งหมด และเป็น 70% ที่รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
จากประชากรตามทะเบียนราษฎร์ราว 416,582 (พ.ศ. 2562) นั่นหมายความว่าทั้งปีมีนักท่องเที่ยวเข้าสู่ภูเก็ตมากกว่าประชากรทั้งจังหวัดมากกว่า 10 เท่า
เชื่อว่าในสายตาคนต่างพื้นที่ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว เวลาไปเที่ยวภูเก็ตสิ่งแรกที่คิดได้ในหัวคือ “แพง” อันนี้ออกตัวและขออภัยไว้ก่อนหากการแสดงความเห็นนี้อาจจะทำให้ชาวภูเก็ตขุ่นข้องใจ แต่มันคือทัศนะจากนักเดินทางที่พบเจอกันจริง ๆ
แม้คนพื้นที่จะบอกว่าไม่ได้แพงทั้งหมด ของถูก ๆ ก็มี แต่คนต่างถิ่นเขาก็ไม่รู้เหรอกว่าตรงไหนถูก และมาตรฐานความถูกของแต่ละคนก็คงจะไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ยังหาของถูกกินได้ทั่วไปในราคา 35 - 45 บาท หรือทานร้านอาหารแล้วสั่งเป็นกับข้าวเริ่มต้นที่ 70 บาทได้
แต่สำหรับภูเก็ต กระบี่ และสมุย ที่นับว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ หรือจะของโลกเลยก็ว่าได้ ภาพในหัวที่หลายคนคิดคือ ทุกอย่างแพง และต้องใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยวมาก ไหนระบบขนส่งมวลชนไม่เอื้อต่อการเดินทางเอง ค่าเดินทางแพง และไม่ครอบคลุม การจะไปเที่ยวแต่ละทีต้องรวมตัวไปกับเพื่อนแล้วเช่ารถขับหารกันถึงจะคุ้มค่า
อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบันคือ ผู้คนในวัยทำงานรายได้ลดลง และมีคนตกงานไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีกะจิตกะใจจะเที่ยว หรือถ้าจะเที่ยวก็คงเลือกจังหวัดที่มีทะเลใกล้ ๆ เมืองกรุงฯ เช่น ชลบุรี ระยอง จันทร์บุรี หัวหิน และชะอำ ซึ่งใช้เวลาเดินทางไปกลับสบาย ๆ โดยการขับรถไปเอง แต่ถ้าจะลงใต้ไกล ๆ หลายคนจะเริ่มคิดแล้วว่ามันจะมีค่าใช้จ่ายงอกออกมาอีกไม่น้อย บางครั้งเงินที่ใช้ในทริบสำหรับจังหวัดท่องเที่ยวอาจสูงเท่ากับการไปเที่ยวต่างประเทศใกล้ ๆ ได้เลย ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านนานักท่องเที่ยวคนไทยคือกลุ่มนักท่องเที่ยวชนชั้น 2 เพราะตลาดนักท่องเที่ยวในภูเก็ต กระบี่ และสมุย เจาะกลุ่มไปที่ชาวต่างชาติมีกำลังซื้อเป็นหลักมาตลอด ดังนั้นราคาที่พบเจอมันเลยเป็นราคาที่คนไทยรู้สึกว่ามันสูงกว่าความคุ้มค่า
อีกประการหนึ่งที่นับว่าเป็นปัญหาทางโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจในเมืองท่องเที่ยวก็คือ การที่ผู้คนต่างถิ่นซึ่งเดินทางมาหางานทำ ประกอบธุรกิจในจังหวัด มันก็มีผลข้างเคียงที่ตามมาก็คือมูลค่าต้นทุนการประกอบกิจการที่สูงเกินจริง เช่น ค่าเช่าพื้นที่ร้านค้า ค่าเช่าแผงค้า ที่ปรับสูงขึ้นในทำเลต่าง ๆ อย่างไร้การควบคุม บางพื้นที่เซ้งต่อ ๆ กันมาเป็นทอด ๆ จนแทบไม่รู้ว่าใครคือมือที่ 1 ยิ่งทำให้ค่าที่แพงขึ้นเมื่อถึงมือผู้เช่าปัจจุบัน จนต้องทำให้มีการบวกราคาเข้าไปในสินค้าและบริการจนสูงเกินความเป็นจริง ซึ่งตรงนี้คือเป็นความบิดเบี้ยวของโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พบเห็นได้ทั่วไป
บางแผงค้าเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ตารางเมตรในย่านท่องเที่ยวดัง ๆ กลับมีค่าเช่าแผงหลักแสนต่อเดือน ซึ่งสูงพอ ๆ กับการเช่าพื้นที่ทำร้านดี ๆ ร้านหนึ่งในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เลย
หากจะดึงคนไทยไปเที่ยว ก็อาจต้องแก้ไขที่การเปลี่ยนมุมมองของคนไทยก่อนเลยว่ามาภูเก็ตไม่แพง เดินทางสะดวก ไม่โดนแท็กซี่โขกค่าโดยสาร ไม่โดนให้เหมารถแพง ๆ อย่างเดียว ซึ่งถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องยอมรับสภาพจริง ๆ
เรื่องของจำนวนประชากรในประเทศก็มีส่วน เพราะไทยมีประชากรแค่ 66 ล้าน โดยมีประชากรวัยทำงานที่มีกำลังซื้อจริง ๆ แค่ 25 ล้านคน ยังไม่รวมที่ต้องตกงานไปในช่วงนี้อีก 6 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในแต่ละปีสูงถึง 33 ล้านคน ซึ่งมันคือครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ ฉะนั้นเราอาจพึ่งพาตัวเองได้แค่บางส่วน เพราะดีมานด์ในประเทศไม่ได้ใหญ่เท่ากับซัพพลายที่มีที่สร้างเอาไว้ การพึ่งพาตัวเองมันทำได้ไม่ทั้งระบบ เพราะซัพพลายส่วนเกินมันสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดอื่น ๆ ด้วย
และหากเราลดพึ่งพาจากภายนอก เพื่อพึ่งพากำลังซื้อภายในที่มีเพียงแค่หยิบมือ ที่ทุกภาคส่วนต่างรุมทึ้งกำลังซื้อเพียงน้อยนิดนี้ ผลที่ตามมาคือ ล้มทั้งระบบ เพราะอย่าลืมว่าเค้กมีก้อนเดียว แต่คนต้องการส่วนแบ่งมีเป็นร้อย มันคงไม่สามารถยืนหยัดได้นานนัก ธุรกิจที่สร้างขึ้นจากดีมานด์ภายนอกที่เกิดจากการท่องเที่ยวของต่างชาติ มันจึงล้มเพราะสิ่งที่มีอยู่มันเกินความต้องการในปัจจุบันนั่นเอง
มันคงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า จะมีธุรกิจที่เกียวข้องกับการท่องเที่ยวอีกไม่น้อยในภูเก็ต กระบี่ สมุย พัทยา ระยอง หรือเชียงใหม่ ต้องปิดตัว เพราะในเวลานี้โครงสร้างการบริการเพื่อการท่องเที่ยวที่มีมันเกินความต้องการ และผู้คนต่างพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงเนื่องจากความมั่นคงทางรายได้ที่ลดลง อะไรตัดได้ตัด ประหยัดได้ประหยัด ยิ่งการท่องเที่ยวถือว่าเป็นสิ่งที่ตัดง่ายที่สุด ทำให้หลายคนเลือกที่จะลดครอสตัวเองลงโดยการเที่ยวใกล้ ๆ ไปเองได้ แบบประหยัด ๆ
ถ้ามีคำถามตามมาว่า ลดค่าบริการ ค่าอาหาร ค่าโรงแรมลงมา จะมีคนไทยมาเที่ยวเพิ่มขึ้นหรือไม่? คำตอบก็อาจจะมีทั้งมาเพิ่ม และไม่เพิ่มก็ได้ เพราะอย่างที่บอกคือ ทุกอย่างผูกพันธ์อยู่ที่รายได้ของคน ถ้ารายได้ลดลง ความมั่นคงก็ลดตาม ความอยากในการเดินทางก็จะถูกหักห้ามด้วยใจตัวเองง่ายขึ้น สุดท้ายแล้วเมื่อดีมานด์กับซัพพลายมันไม่สมดุลกัน การกำจัดซัพพลายส่วนเกินจึงเกิดขึ้นตามธรรมชาติ นำไปสู่การปิดกิจการต่าง ๆ อย่างที่เห็น
นับเป็นโจทย์ยากที่ถามไปยังผู้บริหารจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วยว่า ได้พยายามสร้างแคมเปญอะไรเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยหรือยัง หรือรอแค่ส่วนกลางป้อนเพียงอย่างเดียว เช่น ร่วมมือกับเอกชนผู้ประกอบการลดราคาที่พัก จัดระบบรถโดยสารที่ราคาเป็นธรรม หรือเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ภูเก็ตเป็นสถานที่เหมาะแก่การพักผ่อนแบบสงบเงียบในช่วงนี้ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อล้างภาพภูเก็ตของแพง โขกราคา หรือว่าวุ่นวายไม่เป็นมิตรกับคนไทยกันเอง มันอาจจะทำกำไรได้น้อยหรือไม่ทำกำไรเลย แต่มันก็ยังดีกว่าขาดทุนหนัก ๆ ต่อเนื่อง ซึ่งไม่ลองทำก็คงไม่รู้ เพราะเวลานี้มันคงต้องถึงเวลาเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และหันมามองตลาดคนไทยที่เคยถูกเมินมาตลอดแล้วหรือยังนั่นเอง
เพราะไม่ว่าจะดีจะร้าย ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากคนไทยช่วยกันเอง แต่คนไทยเองก็คงช่วยได้เท่าที่ช่วย เพราะตอนนี้หลายล้านชีวิตก็ไม่ได้มีกำลังซื้ออีกแล้ว
โฆษณา