11 ส.ค. 2020 เวลา 15:32 • ประวัติศาสตร์
***พลวัตแห่งเส้นทางแม่น้ำ: จากเมืองโบราณที่จมหายในเชียงใหม่ สู่การต้านแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ให้ไหลเปลี่ยนทิศด้วยวิศวกรรมในอเมริกา ที่รอวันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง***
แม่น้ำปิงในเชียงใหม่เปลี่ยนเส้นทางการไหลมาแล้ว 5 ครั้งในรอบพันปีที่ผ่านมา บางครั้งก็เพียงส่วนเล็กๆดังรูป 1-2 แต่ละครั้งสามารถก่อให้เกิดอุทกภัยหนัก ร่วมกับตะกอนทรายที่สามารถทับถมความทรงจำไปพร้อมกับสิ่งก่อสร้างและวัตถุ ดังเช่นเมืองกุมกาม ที่หลายท่านคงเคยได้ยิน .. แต่ทว่า เหตุการณ์ครั้งเมืองกุมกามนั้นไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแล้วจบไป ในอนาคตจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน และตัวกระตุ้นการเกิดการเปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำ (เรียกว่าการ avulsion) นั้นมีปัจจัยอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ว่าเพราะเกิดจากปริมาณน้ำหลากมามาก หากเกิดอีกครั้งในอนาคต การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านที่หนาแน่นในยุคปัจจุบันจะทำให้เกิดความเสียหายมาก .. เรื่องนี้มีบทเรียนมาแล้วในแม่น้ำ Kosi ของอินเดียเหนือ และแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตอนล่างของอเมริกา .. บทความนี้ ตอนที่ 1 เราจะย้อนไปในอดีตของเมือง(เวียง)กุมกามที่บ่งบอกถึงความตั้งอยู่ของเมืองและในช่วงการเกิด avulsion ของแม่ปิงและหลักฐาน และตอนที่ 2,3 มาดูประวัติการเกิด avulsion ของแม่น้ำในต่างประเทศกับการพยายามควบคุมภัยธรรมชาติของมนุษย์ ...การที่เราเข้าใจเรื่องนี้เมื่อ 400-500 ปีก่อนในเชียงใหม่ และเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในต่างประเทศที่แม้จะสุดโต่งกว่ามาก จะทำให้เราเตรียมรับมือกับอนาคตได้ดีขึ้น และเข้าใจธรรมชาติที่น่าสนใจยิ่งของแม่น้ำ ที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาช้านาน
รูป 1 แสดงแอ่งเชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่ ลำพูน(หริภุญไชยในอดีต) เวียงกุมกาม แม่น้ำปิงสายปัจจุบัน(สีน้ำเงิน ซ้าย) แม่น้ำกวง (เส้นน้ำเงิน ขวา) และแม่น้ำปิงโบราณ (สีม่วง)เส้นต่างๆ ที่ต่อมาบ้างถูกทำเป็นคลองชลประทาน ได้แก่ แม่น้ำคาว แม่ปิงห่าง เหมืองแสนยศ เหมืองบวกครก แม่ปิงน้อย เหมืองลำพูน(แม่ปิงเก่า) Photo credit: Elisha A.T. Pei-Yi
รูป 2 แสดงว่า แม่น้ำปิง-กวง เกิดการเปลี่ยนเส้นทาง (avulsion) มาราว 5 ครั้ง ในพันปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจาก a)แม่น้ำคาว-กวง b)ก่อน พ.ศ. 1950 ที่ยังเป็นระบบปิงห่าง ไหลผ่านกุมกามและด้านตะวันออกของลำพูน c)ราว พ.ศ. 2019 – 2055 ที่แม่ปิงเปลี่ยนเป็นรูปแบบเหมืองแสนยศ d)ราวช่วงต้น พ.ศ. 2150 ที่น้ำเหมืองแสนยศเปลี่ยนไปเป็นเหมืองลำพูน(แม่ปิงเก่า) e)แม่ปิงเก่าถูกระบบทิ้งไปเป็นแม่ปิงน้อย ราว พ.ศ. 2408 และ f) แม่ปิงในปัจจุบัน หลังจากกระจายตะกอนไปทั่วแอ่งแล้วจากตะวันออกไปตะวันตก Photo credit: Elisha A.T. Pei-Yi
ตอนที่ 1 เวียงกุมกามแห่งอาณาจักรล้านนา กับเคมีธรณีและประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ยุคสมัย
พ.ศ.2527
เสียงเด็กชายตัวน้อยยังก้องอยู่ในความทรงจำ “แม่จ๋าๆ ใคร่ไปแอ่วในเวียง” ข้าพเจ้ายังจำได้เมื่อตอนเป็นเด็กที่รบเร้าแม่ไปเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ นั่งรถแดงจากแถวบ้าน อ. สารภี ติดชลประทานแม่ปิงเก่า ใกล้เขต จ. ลำพูน ... เป็นเด็กก็คิดนะ คำว่า "แม่ปิงเก่า" มันคืออะไร มีแม่น้ำปิงเส้นเก่าๆด้วยเรอะ!! ทุกครั้งที่นั่งรถแดงผ่านหมู่บ้านเกาะกลาง วัดเกาะกลาง วัดเจดีย์เหลี่ยม (รูป 3) ก็แอบสงสัยว่ามันเป็นเกาะตรงไหนกันนะ (หลังเวียงกุมกามโดนน้ำท่วมจาก avulsion เมื่อราวๆ พ.ศ. 2026 – 2050 เป็นไปได้ว่ามีช่วงเวลานึงที่น้ำปิงยังไหลอยู่บ้างน้อยนิดในเส้นเก่า “ปิงห่าง” และเริ่มมาไหลหลักๆในรูปแบบแม่ปิงแบบเหมืองแสนยศ ดังรูป 2c ทำให้ตรงกลางลักษณะคล้ายเกาะ (คำว่า เหมือง น้ำเหมือง เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่า แม่น้ำลำคลอง)) หมู่บ้านเกาะกลางนั้นอยู่บริเวณระหว่างแยกแม่ปิงเส้นเก่าในอดีตและเส้นปัจจุบัน ดูรูป 4
รูป 3 เจดีย์วัดกู่คำ(เจดีย์เหลี่ยม) ใน ต. ท่าวังตาล บริเวณเวียงกุมกาม (เครดิตรูป edt guide)
รูป 4 บริเวณเวียงกุมกามในอดีต ในความเป็นไปได้ว่า แม่ปิงห่างเกิด avulsion แล้วเพียงบางส่วน ทำให้มีน้ำไหลทั้งสองเส้น (เครดิตรูป วารสารเมืองโบราณ ฉบับ ก.ย. 2558 ขอบคุณรูปสวยๆจ้า)
ต่อมาเมื่อปี 2531 ข้าพเจ้าอยู่มัธยมต้นแล้ว ซ้อนรถมอเตอร์ไซค์พี่ชายไป รร. ยุพราชฯ ในตัวเวียงทุกวันๆ ผ่านวัดเจดีย์เหลี่ยม ก็จะจ้องมองทุกครั้งไม่ละสายตาและรู้สึกถึงความขลังอลังการอย่างบอกไม่ถูก ชวนให้ใจฉงนนัก แล้วจู่ๆ วันนึงก็มีป้ายติดข้างถนนว่า "ทางเข้าเวียงกุมกาม เมืองโบราณ" ... "อะจ๊าก! อยู่ๆมีเมืองโบราณงอกมาได้จะใด" พี่ชายพูดขึ้นว่า "อ้ายจะไปฮู้ได้จะใด" ...มาวันนึง พี่ชายเลยชวนขี่รถเข้าซอยเข้าไปดูเมืองโบราณ แต่เราแอบผิดหวังที่มีเพียงซากฐานอาคารปลักหักพังเพียงนิดเดียว (เขายังขุดไม่หมด แหะๆ อีกทั้งซากส่วนบนๆของสิ่งก่อสร้างถูกพัดไปกับน้ำท่วมแรงสิ และไม่ได้เกิดเพียงครั้งเดียว) ... เด็กน้อยหารู้ไม่ว่าเคยมีทั้งความยิ่งใหญ่และการล่มสลาย น้ำตาแห่งความปีติและความโศกเศร้าแปดเปื้อนบนปฐพีที่ยืนอยู่
รูป 5 วัดปู่เปี้ย หนึ่งในวัดที่ยังหลงเหลือความงามในอดีตในกุมกาม
ประวัติศาสตร์ทั่วโลกคงแสดงให้เห็นแล้วว่า สัญชาตญานมนุษย์ที่ควบคู่มากับวิวัฒนาการได้แก่ การแย่งชิงอาณาเขตและทรัพยากร ... เชียงใหม่ไม่ได้สวยสงบอย่างในหลายสิบปีที่ผ่านมาเสมอไป เมื่อ 470-500 ปีก่อนนี้เองที่บ้านเมืองเป็นจลาจลยิ่งนัก ดังนั้นเมื่อทัพของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกเข้ามาล้อมเมืองเชียงใหม่ได้เพียง 3 วัน ก็สามารถผนวกเอาเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองล้านนาทั้งมวลไว้ได้ใน พ.ศ. 2101 ร่วม 216 ปี ที่ล้านนาทั้งปวงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า เมื่อตอนพระเจ้ากาวิละและพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีสามารถขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2317 นั้น ในดินแดนล้านนา บ้านเมืองต่างๆ ตกอยู่ภายใต้ภาวะระส่ำระสาย ผู้คนต่างพากันทิ้งบ้านเรือนหลบไปอยู่ตามป่าเขา ก่อนที่พระเจ้ากาวิละจะได้ฟื้นฟูบูรณะเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ใช้เวลาหลายปี [อ้างอิง 1]
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 1835
ในยุคนั้น พญามังราย(หรือเม็งราย) ผู้สืบเชื้อสายแห่งราชวงศ์ลาว ได้แผ่ขยายอาณาจักรจากลุ่มน้ำกก ลงมาตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง หากเมืองใดมีผู้ปกครองเข้มแข็งก็ทรงใช้วิธีผูกมิตรไมตรีเป็นเมืองพี่เมืองน้องดังเช่นเมืองพะเยาของพญางำเมือง รวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่เป็นโยนกนคร ได้กลายเป็นฐานที่มั่นคงให้พระองค์รุกสู่เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ซึ่งเป็นแคว้นที่มีความเรืองรองมากในปี พ.ศ. 1835 สำเร็จ (รูป 6) และสองปีต่อมา จึงได้สร้างเวียงกุมกามขึ้นเพื่อหวังให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าในลุ่มแม่น้ำปิงขึ้นแทนเมืองหริภุญไชย มีตลาดกุมกาม ในตอนนั้นการค้าขายภายในเวียงกุมกามเจริญรุ่งเรืองมากนัก มีเรือล่องมาค้าขายคับคั่งจนชนกันล่มวันละหลายลำ วัดเจดีย์เหลี่ยมหรือวัดกู่คำ(รูป 3) เป็นวัดที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นเป็นวัดแรกของเวียงกุมกามนั่นเอง จึงมีความสวยงามอลังการ (ฉันถึงได้ชอบจ้องมองตอนเด็กๆ) สูงใหญ่พอที่จะรอดมาจากน้ำท่วมใหญ่... พญามังรายเคยยกทัพไปเมืองพุกามอังวะ(พม่า) ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะได้ดำเนินทางพระราชไมตรีโดยถวายพระราชธิดาพร้อมทั้งช่างโลหะแขนงต่างๆ เช่น ช่างทองคำ ช่างหล่อ ช่างเหล็ก และได้นำมาไว้ยังเวียงกุมกามส่วนนึง เวียงกุมกามเลยเป็นศูนย์กลางของช่างหัตถกรรมอีกด้วยในยุคนั้น [1] ... แม่น้ำปิงสายโบราณ “ปิงห่าง” นั้น ไหลจากเมืองเชียงใหม่เข้าสู่เวียงกุมกาม โดยไหลเลียบตามทางที่ปัจจุบันคือถนนเชียงใหม่-ลำพูน (ต่อมาได้ปลูกต้นยางไว้ทั้งสองฝั่งถนน) ไหลลงไปพบกับแม่น้ำกวง (รูป 1, 2)
รูป 6 อดีตอาณาจักรโยนก(เชียงแสน) ที่รวมหริภุณไชยเข้าไปด้วย ก่อนจะก่อตั้งกุมกามและเชียงใหม่ รายล้อมไปด้วยอาณาจักรที่รุ่งเรืองยุคนั้น
เมืองพุกาม พม่า ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตกับกว่า 2000 เจดีย์
อาจจะเพราะทำเลที่น้ำท่วมถึงเกินไปของกุมกามและปัจจัยอื่นๆ พญามังรายได้หารือกับพ่อขุนรามคำแหง(สุโขทัย) และพญางำเมือง(พะเยา) เพื่อที่ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 1839 นั้นเองเพื่อเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา ...แต่เวียงกุมกามก็ยังสำคัญอยู่คู่เคียงเชียงใหม่และลำพูนเรื่อยมา รวมแล้วมีวัดในเวียงกุมกามกว่า 27 วัด ที่น่าสนใจคือ แทบทุกโบสถ์วัดโบราณนี้นั้นจะหันหน้าสู่แม่น้ำปิงสายโบราณ ปิงห่าง ทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ เหตุผลคือเมื่อก่อนคนใช้การสัญจรทางเรือ พอขึ้นจากเรือก็ตรงเข้าประตูโบสถ์เลย จึงเป็นหลักฐานชิ้นนึงของปิงห่าง
1
รูป 7 วัดกู่ป้าด้อม หนึ่งในวัดที่ถูกทรายแม่น้ำฝังกลบหนาที่สุดอยู่ทางตะวันตก/ใต้ของกุมกาม มีวิหารใหญ่ นี่เป็นเพียง 1 ใน 27 วัดในกุมกาม เครดิตรูป Gerry Gantt
รูป 8 บันไดในวัดกู่ป้าด้อม เครดิตรูป Gerry Gantt
พ.ศ. 1913 “…ฝูงคนอันอยู่ภายในกุมกามเชียงใหม่โพ้นก็ดี ฝูงคนอันมีในเมืองหริภุญไชยนี้ก็ดี เขามีใจศรัทธาแก่มหาเถรเป็นเจ้า บางคนเข้าบวชจำศีล…” ครั้งเมื่อพระสุมนเถระถูกอัญเชิญจากสุโขทัยขึ้นมาพำนักอยู่ที่วัดพระยืน ณ เมืองหริภุญไชย (ลำพูน) เพื่อเผยแผ่ศาสนาลังกาวงศ์ ได้มีความกล่าวถึงผู้คนจากเชียงใหม่และเวียงกุมกามไปนมัสการ
พ.ศ. 1975 พระภิกษุลังกาวงศ์ได้อุปสมบทใหม่ที่ท่าน้ำเมืองกุมกาม (แสดงว่าปิงห่างยังอยู่) และหลังการสร้างเวียงเจ็ดลินของพญาสามฝั่งแกนใน พ.ศ. 1981 เวียงกุมกามก็ลดบทบาทลง เนื่องจากกษัตริย์นิยมไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน [1] เชิงดอยสุเทพ
อย่างไรก็ตาม เอกสารพื้นเมืองระบุว่าในช่วงเวลาหลังจากนี้เวียงกุมกามยังคงมีชุมชนอยู่ โดยปรากฏชื่อ หานสี่พันกุมกาม และหมื่นช้างกุมกาม เป็นต้น ในการเข้าร่วมรบสงคราม รวมทั้งการประดิษฐานพระปฏิมาทองสัมฤทธิ์ที่วัดเกาะกุมกาม ใน พ.ศ. 2062 และการสร้างวิหารใหญ่ที่วัดกู่คำ(เจดีย์เหลี่ยม)ใน พ.ศ. 2066 ในยุคพระเมืองแก้ว (กษัตริย์องค์ที่ 11 ในราชวงศ์เม็งราย แห่งอาณาจักรล้านนา) [1]
1
รูป 9 แผนผังแสดงเวียงกุมกาม ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวของเชียงใหม่ในปัจจุบัน (ขอบคุณเจ้าของภาพ)
ในช่วงยุคนั้นเอง ที่มีการจารึกไว้ของเหตุการณ์ที่น่าจะบ่งบอกถึงการเกิด avulsion ของแม่น้ำปิงห่างตรงเวียงกุมกามไปแล้วหรือยังมีร่องรอยให้เห็นปิงห่างอันตื้นเขิน ไว้ในโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งโดยศิริยวาปีมหาอำมาตย์ เมื่อราวปี พ.ศ. 2060 ซึ่งเป็นเวลาที่พระแก้วมรกตยังอยู่ที่เจดีย์หลวงเชียงใหม่ เนื่องจากนิราศเรื่องนี้กล่าวถึงพระแก้วมรกตด้วย โคลงนี้กล่าวถึงการที่ต้องจากพระนางสิริยศวดีเทวี (นางโป่งน้อย) ที่เมืองเชียงใหม่ไปบูชาพระธาตุหริภุญชัย โคลงมีลักษณะเป็นการพรรณนาความอาลัยรักเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ สถานที่ และสภาพภูมิประเทศ [2]
[เกร็ดประวัติ] ท้าวความแรกเริ่ม นางโป่งน้อยเป็นเครือญาติของผู้ครองเขลางค์นคร(ลำปาง) พระนางเข้าเป็นพระชายาในพญายอดเชียงราย (กษัตริย์องค์ที่ 11 ในราชวงศ์เม็งราย แห่งอาณาจักรล้านนา) การอภิเษกสมรสเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยปราศจากความรักซึ่งกันและกัน เพราะพระนางมีชายคนรักอยู่แล้วคือศิริยวาปีมหาอำมาตย์ (ผู้แต่งโคลงหริภุญชัย) เมื่อพระนางอภิเษกสมรสแล้ว ศิริยวาปีมหาอำมาตย์ก็เข้ามาถวายการรับใช้ในราชสำนักเชียงใหม่เสียด้วย พระนางมีพระราชโอรสกับพญายอดเชียงรายด้วยกันคือเจ้าแก้ว (ต่อมาคือพระเมืองแก้ว) แต่หลังจากพระราชสวามีครองราชย์ล้านนาได้ 8 ปี ก็ถูกเหล่าขุนนางผู้ใหญ่ที่ครองเขลางค์นครปลดออกจากราชบัลลังก์ให้ไปครองเมืองซะมาด (ปัจจุบันอยู่ใน ปาย แม่ฮ่องสอน) พร้อมกับยกเจ้าแก้ว ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา 15 ปี ขึ้นครองราชย์ ด้วยความที่เครือญาติของนางโป่งน้อยมีฐานอำนาจที่เข้มแข็ง มีความเป็นไปได้สูงที่บิดาของพระนางมีส่วนร่วมในการแย่งชิงราชสมบัติจากพญายอดเชียงราย และสนับสนุนให้พระเมืองแก้วและนางโป่งน้อยเสวยราชย์ นางโป่งน้อยมีอำนาจสูงมากเนื่องจากมีบทบาทในการปกครองล้านนาร่วมกับพระราชโอรส พระนางอภิเษกสมรสใหม่กับศิริยวาปีมหาอำมาตย์ [3]
ครั้นต่อมาเมื่อศิริยวาปีมหาอำมาตย์เดินทางผ่านเมืองกุมกามในช่วงที่แต่งโคลงนิราศหริภุญชัย ผู้อ่านคงเข้าใจได้ถึงความรู้สึกของชายผู้ซึ่งต้องทนกับการที่หญิงคนรักตกเป็นของผู้อื่นยาวนาน 16 ปี การที่เคยอยู่ใกล้ก็เหมือนไกลกันครึ่งฟ้า ครั้นพอได้สมรสใหม่ด้วยกันก็ยังมิวายวิตกกังวลกับการพลัดพราก มองสิ่งใดก็พรรณนาถึงนาง... แม่น้ำปิงน่าจะเริ่มเปลี่ยนทางเดินตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2060 นั้นแล้ว ซึ่งผู้แต่งพรรณนาว่าน้ำปิงสายนี้เริ่มแห้งขอด ไม่พอให้เรือแล่นไปได้ กลับมีเกวียนและฝูงคนมากหลายวิ่งและว่ายอยู่ในน้ำ [4] ช่วงปีนั้นสอดคล้องกับข้อมูลเคมีธรณีของนักวิทย์หลายคนไม่นานมานี้ ดังจะกล่าวต่อไป
1
รูป 10 แผนที่แสดงล้านนาในอดีตในช่วงปลาย ที่รายล้อมด้วยอาณาจักรอยุธยาและล้านช้าง(ลาว) มอญและตองอู
พ.ศ. 2068 เมื่อสิ้นราชสมัยของพระเมืองแก้ว บ้านเมืองเป็นจลาจลยิ่งนัก ในสิบกว่าปีกษัตริย์ 2 พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ ขุนนางทั้งหลายต่างแย่งชิงกันเป็นใหญ่ ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนฝ่ายของตน เมื่อ พ.ศ. 2088 ทัพของพระไชยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาตีเมืองลำพูนได้สำเร็จ กำลังจะยึดเชียงใหม่ ได้ยกกองทัพมาตั้งอยู่เหนือกู่คำกุมกามโดยไม่พบหลักฐานว่ามีชาวเวียงกุมกามได้ร่วมกันต้านทัพกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด อาจเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้ชาวเวียงกุมกามอาจมีกำลังไม่เพียงพอ คนอาศัยน้อยลงมาก.. เมื่อยึดเชียงใหม่ได้แล้ว พระไชยราชาฯเสด็จสวรรคตระหว่างทางกลับอยุธยา เชียงใหม่จึงหันไปพึ่งพิงอาณาจักรล้านช้าง(ลาวในปัจจุบัน รูป 10) โดยถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระไชยเชษฐาซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ลาว แต่พระองค์ขึ้นครองเชียงใหม่ได้สองปีก็เสด็จกลับล้านช้าง(หลวงพระบาง) พร้อมทั้งนำเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย ก่อนที่จะถูกอัญเชิญวนกลับมายังวัดอรุณฯ และวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน [1, 5, 6]
ล้านนายามนั้นก็ยังจลาจลมากไม่จบไม่สิ้น จนทัพของพระเจ้าบุเรงนอง พม่า ยกมายึดครองล้านนาได้สำเร็จใน พ.ศ. 2101 ตลอดเวลาร่วม 216 ปี ที่ล้านนาทั้งปวงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ในช่วงเวลานี้ เรื่องราวของเวียงกุมกามก็หายไปสิ้นเชิงจากเอกสารพื้นเมือง
รูป 11 อิลิชาและเครื่องวัดความต้านทานไฟฟ้าในชั้นดิน ใช้วัดขนาดกรวดทรายลึกๆได้ Photo credit: Elisha Pei Yi
พ.ศ. 2557
ณ อำเภอสารภี สาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มชาวสิงคโปร์ชื่อว่า Elisha Pei Yi (อิลิชา เปยี) นักศึกษาปริญญาเอกมหาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กำลังขมักเขม่นในการเอาเครื่องวัดความต้านทานไฟฟ้าในชั้นดินมาจิ้มๆลงดินและขุดเจาะดินลึกหลายเมตรเพื่อเอาไปตรวจสอบหาอายุดินในอดีต เครื่องวัดความต้านทานไฟฟ้านี้สามารถบอกได้ว่าชั้นดินลึกลงไป 20-30 เมตร เป็นดินร่วน ทราย กรวด ก้อนหิน หรือชั้นหิน ... สาวน้อยอิลิชา ไม่ต่างจากนักธรณีฯชาวไทยและต่างชาติหลายคนที่หลงไหลในประวัติศาสตร์เวียงกุมกามและการหายไปใต้กองทราย แต่เธอมีเป้าหมายต่างจากคนอื่นคือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ในชั้นตะกอนดินว่า avulsion ไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียวในเชียงใหม่ ก่อนหน้านั้นอิลิชาได้เข้าพบอาจารย์ในภาควิชาธรณี ม. เชียงใหม่ ให้ช่วยประสาน และเธอได้พยายามอ่านงานวิจัยเก่าๆ เข้าใจบริบทพื้นเมืองล้านนาในอดีต ... ผลลัพท์ของงานวิจัยเธอก็สรุปได้ดังรูป 2 นั่นแล ว่า avulsion เกิดมาหลายครั้ง เพราะความที่เป็นพลวัตของแม่น้ำ คือเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
รูป 12 บริเวณที่ อิลิชาใช้เครื่องวัดความต้านทานไฟฟ้าสำรวจชั้นดินในแอ่งแม่น้ำปิง ใกล้บ้านแอดมินเหมือนกันนะ ฮ่าๆ คิดถึงบ้านจัง Photo credit: Elisha Pei Yi
รูป 13 ตัวอย่างชั้นดินลึก 30 เมตรในหน้าตัด L8 สีเขียวน้ำเงินแสดงดินร่วนดินเหนียวชั้นบน สีเหลืองแสดงทรายละเอียด ชั้นที่ลึกกว่านั้นเป็นทรายหยาบและกรวดที่แม่น้ำยุค 2500-5000 ปีก่อนพามา รูปล่างคือตัวอย่างดินที่เจาะจริงมาหาอายุด้วยวิธีเคมี OSL , Photo credit: Elisha Pei Yi
หากดูตัวอย่างผลลัพท์ชั้นดินของ ดร. อิลิชา ในรูป 13 ที่กว้าง 1.3 กม. นี้แล้วจะเห็นว่า ในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงนี้ ชั้นบนๆจะเป็นดินเหนียวดินร่วนและลึกลงไปเป็นทรายแม่น้ำละเอียดจนถึงราว 8-10 ม. และลึกลงไปกว่านั้นเป็นทรายหยาบเม็ดโตร่วมกับกรวดขนาด 0.5-2 ซม. ทีเดียว นั่นเพราะมีงานวิจัยจำนวนนึงรวมทั้งผลการหาอายุทรายชั้นลึกๆของ ดร. อิลิชา ด้วยโดยวิธีธรณีเคมีสมัยใหม่ ชี้ว่า 2500-5000 ปีก่อน แม่น้ำปิงเคยมีลักษณะเป็น braided river หรือลักษณะคล้ายถักเปีย ซึ่งแม่น้ำชนิดนี้มีความลาดชันสูง จึงนำพากรวดทรายเม็ดใหญ่ๆมาด้วยได้ เมื่อนานๆเข้า เริ่มมีต้นไม้ต้นหญ้าริมตลิ่งจึงช่วยเพิ่มการยึดเหนี่ยวของตลิ่งและดักอนุภาคดินเหนียวได้มากขึ้น จนเปลี่ยนจากแม่น้ำดังรูป 14 ให้เป็นแม่น้ำตวัดโค้งในปัจจุบัน (สมัยเรียน เพื่อนฝรั่งของฉันเคยทำการทดลองชลศาสตร์ โดยเอาเมล็ดถั่วงอกมาหว่านในทราย จำลองเป็นต้นไม้งอก) เกิดขึ้นกับแม่น้ำในไทยหลายสาย โดยเฉพาะที่ความลาดชันต่ำเป็นที่ราบในภาคอีสาน ... ในแอ่งเชียงใหม่นี้ การเกิด avulsion ดูจะเป็นกระบวนการที่เกิดร่วมมาตลอดร่วมกับแม่น้ำตวัดโค้ง เพื่อเกลี่ยตะกอนให้ทับถมในแอ่งอย่างทั่วถึง ซ้ายขวา
รูป 14 ตัวอย่างของแม่น้ำชนิด braided (คล้ายเปียผม) ในนิวซีแลนด์ ที่ลักษณะคล้ายแม่น้ำปิง 2500-5000 ปีก่อน
ใช่แล้ว กระบวนการหลักที่กระตุ้นให้เกิด avulsion นั่นเพราะความลาดชันในแนวขวางของแอ่งนั่นเอง เมื่อเส้นแม่น้ำตั้งอยู่ที่จุดนึงนานๆ ก็จะเกิดการทับถมของตะกอนทั้งใต้ท้องน้ำและมากับน้ำที่ท่วมล้นออกมาสู่ที่ราบน้ำท่วมถึง หลายสิบปีหลายร้อยปีเข้า ตะกอนพวกนี้ก็หนาขึ้นๆ จึงเกิดความลาดเทในแนวขวางกับลำน้ำ เวลาน้ำหลากมาปริมาณมาก ในกรณีน้ำปิงที่ผ่านมาเป็นพันปี พลังงานศักย์ด้านตะวันออกสูงกว่าตะวันตก จึงทำให้เกิด avulsion ของแม่น้ำจากตะวันออกมาตะวันตกเรื่อยๆ ดังรูปสอง ...มีคนไปวัดความลาดชันในพื้นที่เวียงกุมกาม ก็ได้ตามนี้ ... avulsion จึงควรถูกพิจารณาในการศึกษาแผนน้ำท่วมของเชียงใหม่ในระยะยาว ...นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นเช่น แผ่นดินไหว (อาจจะน้อยในไทย) หรือการที่ผันน้ำควบคุมน้ำไปเส้นทางคูคลองอื่นๆตามใจชอบ ทำไม่ดีอาจกระตุ้นให้เกิด avulsion ได้เช่นกัน ...ในภาวะโลกร้อนและ climate change ในยุคปัจจุบันที่ฝนตกด้วยความเข้มมากขึ้นในไทยในฤดูฝน avulsion ก็มีความน่าจะเป็นที่จะเกิดมากขึ้น
นักธรณีฯจำนวนมากได้ขุดเจาะตะกอนในเวียงกุมกามและข้างแม่น้ำโบราณปิงห่างมาวิจัย แน่นอนว่าพบการทับถมของตะกอนทรายทั่วไปลึก 0.5 – 2 เมตร และมีคนวิเคราะห์จากหน้าตัดชั้นดินว่าน่าจะเกิดจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งเดียว แล้วคนก็แทบอพยพไปอยู่ที่เมืองอื่นแล้ว ที่สำคัญคือ จากการหาอายุด้วยวิธีเคมี (OSL) ที่ความแม่นยำสูง พบว่าแม่ปิงห่างมีน้ำไหลผ่านล่าสุดที่ พ.ศ. 2026 (ความแม่นยำบวกลบ 70 ปี) และมีคนหาอายุด้วยไอโซโทปคาร์บอนของชั้นตะกอนล่าสุดข้างตลิ่ง พบว่าน้ำไหลบ่าในปิงห่างจนท่วมเกิดตะกอนทับถมล่าสุดที่ราว พ.ศ. 2019 – 2055 ซึ่งทั้งสองงานวิจัยก็สอดคล้องกับการสังเกตของผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญชัยในราวปี 2060 ที่ว่าปิงห่างนั้นแทบไม่มีน้ำไหล จนเกวียนและคนใช้วิ่งเดินทั่วไป ...แต่คงยังมีคนอาศัยในกุมกามอยู่ประปราย ยังไม่ได้หายไปหมดจนถึงยุคพม่าระยะนึง เพราะเอกสารพื้นเมืองระบุว่ามีการประดิษฐานพระปฏิมาทองสัมฤทธิ์ที่วัดเกาะกุมกามใน พ.ศ. 2062 และการสร้างวิหารใหญ่ที่วัดเจดีย์เหลี่ยมใน พ.ศ. 2066 ในยุคพระเมืองแก้ว
1
ทั้งนี้ มีนักประวัติศาสตร์ไทยเคยตีความไว้ว่า มีการขุดคลองในทิศตะวันตกจากกุมกามเพื่อพยายามเปลี่ยนเส้นทางการไหลปิงห่าง เพราะไม่อยากให้กุมกามท่วมบ่อย และมีการเอาพระนอนหนองผึ้งไปตั้งไว้ริมแม่น้ำปิงห่าง เพื่อช่วยเบี่ยงทิศ จนสำเร็จในที่สุดและกลายเป็นแม่ปิงเส้นปัจจุบัน ข้าพเจ้ามองว่ามันเป็นบริบททำนองเรื่องเล่าเคล้าความจริง...ในเชิงวิศวกรรมแล้ว จะขุดคลองยาวไปแค่ไหนและใช้คนมากมหาศาลเท่าไหร่ และทำไมถึงทำในช่วงปลายยุคของเวียงกุมกาม ที่มีความสำคัญน้อยลง ทั้งที่น้ำท่วมก็อยู่คู่กุมกามมานานร่วม 200 ปีแล้ว ...ในบริบททางธรณีวิทยานั้น การเกิด avulsion เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติดังที่กล่าวไปก่อนนี้ ยิ่งท่วมบ่อยๆ ก็ทำให้แผ่นดินกุมกามและท้องแม่น้ำ (และพลังงานศักย์) สูงขึ้นๆ รอวันไหลตวัดเปลี่ยนทิศ เพราะน้ำจะไหลไปยังที่ๆต่ำกว่าเสมอ ...แต่เป็นไปได้ว่า ก่อนยุคปี 2060 เกิด avulsion ตามธรรมชาติไปเป็นร่องน้ำระยะทางสั้นก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนเส้นทางน้ำถาวรในปีต่อๆมา (ดูแม่น้ำ Kosi ของอินเดียตอนที่ 3) นิราศหริภุญไชยก็กล่าวถึงพระนอนหนองผึ้งริมแม่ปิงห่างเช่นกัน
รูป 15 ลักษณะการเกิด avulsion ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ A และ B ที่มีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำแบบบางส่วน (partial) และแบบเต็ม (full) และแบบ C ที่มีจุดกำหนดการแกว่งอยู่บนสุดและส่วนล่าง เส้นแม่น้ำแกว่งไปมา (เกิดกับพวกแอ่งตะกอนรูปใบพัดหรือเดลต้า ดูตอนต่อๆไป)
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในกุมกาม ยังมีการขุดพบถ้วยชามจีนจากวัดหนานช้าง ได้พบถ้วยจีน 55 ใบ กลุ่มนึงได้ถูกบรรจุในไหถูกฝังใต้ชั้นดินข้างใต้ตะกอนทรายหนา 1.4 เมตร ร่องรอยบ่งบอกว่าเป็นการจงใจฝัง(อาจเพราะซ่อนสมบัติเพราะความวุ่นวายของบ้านเมืองในช่วงนั้น) และหนึ่งในจำนวนนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและจีนและบ่งบอกยุคสมัยที่ชัดเจน ถ้วยจีนดังกล่าวใต้ก้นด้านนอกเขียนอักษรจีน ความว่า “ต้า หมิง วัน ลี่” (รูป 16,17) ระบุว่าถ้วยใบนี้ทำขึ้นในสมัยพระเจ้าวั่นลี่แห่งราชวงศ์หมิงซึ่งครองราชย์ในประเทศจีนในช่วง พ.ศ. 2116-2162 (เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างชัดเจนของจีน) ผลิตภายใต้พระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าวั่นลี่เพื่อใช้สำหรับพระจักรพรรดิและมเหสี หรือเพื่อพระราชทานแก่กษัตริย์ของดินแดนที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตเท่านั้น [1]
รูป 16 ขวา แสดงก้นถ้วยจากสมัยพระเจ้าวั่นลี่แห่งราชวงศ์หมิง จีน รูปจาก ศิลปวัฒนธรรม
รูป 17 ถ้วยจีนที่ขุดพบ ณ วัดหนานช้าง ด้านตะวันตกของกุมกาม รูปจาก ศิลปวัฒนธรรม
ดังนั้น ปีพวกนี้สมัยพระเจ้าวั่นลี่จึงไม่สอดคล้องกับการ date หาอายุด้วยวิธีเคมีข้างต้นสำหรับการไหลอยู่ของแม่ปิงห่างที่น่าจะเลิกไหลไปแล้ว แต่ก็ยังสอดคล้องว่า ยังมีคนอาศัยในกุมกามอยู่ ซึ่งยุค พ.ศ. นั้นน่าจะสอดคล้องกับที่พม่าได้แต่งตั้งมังนรธาช่อขึ้นปกครองเชียงใหม่ ช่วงนั้นเกิดการจลาจลเนื่องจากการแย่งอำนาจ ทำให้ขุนนางพม่าที่ปกครองล้านนาต่างแย่งชิงอำนาจกัน จึงอาจนำไปสู่การฝังสมบัติ อย่างไรก็ดี การที่ไหนี้ถูกฝังกลบใต้ชั้นทราย(จากแม่น้ำ)สอดคล้องกับน้ำท่วมล้านนาครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2200 ที่ระบุชัดเจนในพงศาวดารโยนกและอื่นๆ “...ลุศักราช ๑๐๑๙ ปีระกา นพศก บังเกิดน้ำเหนือหลากมามาก ท่วมเมืองทุกแห่ง...” [1] ข้าพเจ้าคาดเดาว่า แม้นแม่ปิงไม่ได้ไหลผ่านแม่ปิงห่างแล้ว แต่เนื่องจากวัดหนานช้างที่พบไหนี้และบางวัดที่อยู่ด้านตะวันตกได้มีชั้นทรายที่หนาที่สุดในกุมกาม อาจเพราะยังได้รับผลจากน้ำท่วมมากสุดจากแม่ปิงเส้นใหม่ตอนนั้น (แบบเหมืองแสนยศ รูป 2c) ... ต่อมา ความเป็นบ้านเมืองของกุมกามไม่ปรากฏแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2302 ที่บรรดาหัวเมืองเล็กใหญ่ที่ก่อการจลาจลหลังการทิวงคตของพระยาสุลวฤาไชย ไม่มีกุมกามรวมอยู่
ปัจจุบัน จากการวิเคราะห์ด้วยอายุตะกอน จึงได้แม่ปิงเส้นเก่าๆในรูปสอง ของ ดร. อิลิชา เธอได้สำรวจและพูดคุยหารือ พบว่า แม่ปิงเส้นโบราณเหล่านี้ได้แก่ เหมืองแสนยศ เหมืองลำพูน(หรือน้ำเหมืองแม่ปิงเก่า) แม่ปิงน้อย ฯลฯ ในปัจจุบันได้ถูกดัดแปลงให้เป็นคลองชลประทาน(ที่หน้าตัดเล็กลง)ไปเสียก็มาก เช่นรูป 18 ถนนถูกสร้างบนตลิ่งแม่น้ำ แม้ว่าการพัฒนาเมืองในยุคหลังๆจะทำให้ร่องรอยแม่น้ำโบราณหายไปบ้าง ถูกถมบ้าง หรือบางจุดก็ถูกขุดทำเป็นเหมืองทรายแม่น้ำเพื่อนำไปก่อสร้างเสีย ...ทั้งนี้ การถมที่ เกลี่ยพื้นที่ และการพัฒนาเมืองในยุคใหม่ มีพื้นที่คอนกรีตที่น้ำฝนซึมผ่านได้ยาก การขุดคลองผันน้ำ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อ avulsion ที่จะต่างไปจากอดีต หรืออาจจะช่วยส่งผลต้านไม่ให้เกิด avulsion ก็เป็นได้
รูป 18 น้ำเหมืองแม่ปิงเก่า(ลำพูน) ซึ่งเป็นเส้นปิงโบราณ ถูกทำเป็นคลองส่งน้ำและลาดคอนกรีตทับต่อมา Photo credit: Elisha Pei Yi
รูป 19 แม่น้ำโบราณในปัจจุบัน a)บางส่วนก็ยังมองเห็น แม้ว่าจะเล็กลงตามธรรมชาติ b)บางเส้นก็ถูกดัดแปลงเป็นคลองชลประทาน c) บางส่วนก็ถูกถมเพื่อไร่เกษตร และ d) บางส่วนก็ถูกทำเหมืองทรายเพื่อใช้ก่อสร้าง น้ำที่เห็นน่าจะมาจากน้ำใต้ดิน Photo credit: Elisha Pei Yi
สรุป.. avulsion สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย หลักๆได้แก่ การทับถมของตะกอนบนท้องน้ำในส่วนนั้นจนแม่น้ำตื้นเขินเป็นระยะทางยาว (เรียก super elevation), ความลาดชันของพื้นผิวดินในแนวขวางของลำน้ำหรือแอ่ง(แอ่งเชียงใหม่) เพราะการทับถมของตะกอนตามธรรมชาติตอนน้ำท่วมในหลักหลายร้อยปี, และ avulsion มักเกิดตอนน้ำหลากมามาก ...และงานของ ดร. อิลิชา ได้แสดงหลักฐานทางธรณีสัณฐานในชั้นดินว่า ในอดีตมีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งแม่น้ำกวง ไม่เพียงแค่ปิงห่างแห่งกุมกาม ซึ่งเป็นลักษณะปกติเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของแม่น้ำดั่งแม่ปิง เนื่องจาก avulsion เป็นการตอบสนองต่อภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นหลายพันปีที่ผ่านมา ในอนาคต avulsion ก็อาจเกิดได้อีกกับแม่ปิงและกวง เพราะปัจจุบันตะกอนก็ยังทับถมบนท้องน้ำในหลายพื้นที่ เป็นพลวัตที่ไม่หยุดนิ่ง การศึกษาจึงสำคัญเพื่อป้องกันน้ำท่วมเพราะการนี้ในอนาคต
ไม่ว่าจะเคมี ฟิสิกส์ ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่โคลงกลอนนิราศที่กลั่นออกมาด้วยความรักจากใจชายผู้นึง ล้วนแต่นำพาให้เราเข้าใจธรรมชาติยิ่งๆขึ้นไป เพราะการที่มนุษยชาติจะยืนยง คงต้องรักและรักษ์ โลกใบนี้เช่นกัน
โปรดติดตามตอนที่ 2
บทความบทนี้ข้าพเจ้าขออุทิศแก่ อดีตคุณครูใหญ่ รร. วัดน้ำโจ้ ครูธีรศักดิ์ ธีรานุพนธ์ ผู้ล่วงลับ และเคยมีบ้านอยู่ติดเวียงกุมกาม ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกศิษย์ประถมระลึกถึงพระคุณท่านและครูบุญเวทเสมอ
ดร. ไพลิน ฉัตรอนันทเวช
วิศวกรแม่น้ำ ตะกอน และธรณีสัณฐาน
หมายเหตุ: ปี พ.ศ. ต่างๆ ของประวัติศาสตร์กุมกามและล้านนาในบางแหล่งเอกสารพื้นเมืองอาจไม่ตรงกัน แม้แต่ปีที่สร้างเวียงกุมกาม ก็ยังไม่ได้เป๊ะๆตามข้างต้น ผิดถูกเรื่องใดขออภัยมา ณ ที่นี้
อ้างอิง
1. เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547 สำนักงานศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่, https://www.silpa-mag.com/history/article_8121
2. วิกิพีเดีย โคลงนิราศหริภุญชัย
3. วิกิพีเดีย พระนางสิริยศวดีเทวี
4. เพ็ญสุภา สุขคตะ “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” 500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่า และความทรงจำ, https://www.matichonweekly.com/column/article_77971
5. วิกิพีเดีย สมเด็จพระไชยราชาธิราช#สงครามกับล้านนา
6. วิกิพีเดีย พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
7. Elisha A.T. Pei Yi, FLUVIAL CHANGE AND THE DEVELOPMENT OF THE PING RIVER, THAILAND: SEDIMENTOLOGICAL AND CHRONOLOGICAL EVIDENCE, 2018, PhD thesis, National University of Singapore
โฆษณา