27 ก.ค. 2020 เวลา 06:36 • ประวัติศาสตร์
• ประวัติศาสตร์การรัฐประหารในประเทศไทย
ฉบับเข้าใจง่าย
• การรัฐประหาร คืออะไร?
การรัฐประหาร (coup d'etat) คือ การล้มล้างและยึดอำนาจการปกครองประเทศอย่างฉับพลันจากรัฐบาล โดยการใช้กำลังทหาร
ซึ่งการรัฐประหาร จะมีความแตกต่างจากคำว่า การปฏิวัติ (Revolution) ตรงที่การรัฐประหาร คือ การล้มล้างรัฐบาล แต่ไม่ได้ล้มล้างระบอบการปกครองเดิม ส่วนการปฏิวัติ คือ การล้มล้างและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากรูปแบบแบบเดิมไปเป็นรูปแบบใหม่
• การรัฐประหารตัวเอง คืออะไร?
การรัฐประหารยังมีอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า “การรัฐประหารตัวเอง” (Self-Coup) คือ การที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารใกล้ที่จะหมดอำนาจ แต่ต้องการที่จะมีอำนาจต่อไป เลยมีการทำรัฐประหารเพื่อให้พวกของตนอยู่ในอำนาจต่อไป
• การรัฐประหารในไทย เกิดขึ้นมาแล้วกี่ครั้ง?
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารมาแล้วถึง 13 ครั้ง และยังมีความพยายามในการรัฐประหารอีกหลายครั้ง ซึ่งการรัฐประหารที่ล้มเหลวนี้ จะถูกเรียกว่า กบฏ (Rebellion) ตัวอย่างเช่น กบฏบวรเดชในปี พ.ศ.2476 หรือจะเป็นกบฏแมนฮัตตันในปี พ.ศ.2494 เป็นต้น
• การรัฐประหารครั้งที่ 1
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476
ผู้นำการรัฐประหาร : พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
กระทำต่อ : รัฐประหารตัวเอง
การรัฐประหารครั้งแรกในไทยนั้น เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเวลาไปถึงปี โดยเกิดขึ้นในสมัยของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย โดยมีสาเหตุมาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สมุดปกเหลือง” ของปรีดี พนมยงค์ ที่มีหลายฝ่ายมองว่ามีความเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดความขัดแย้งในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ส่งผลให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ซึ่งถือว่าเป็นการรัฐประหารครั้งแรกในไทย และผลของการรัฐประหารในครั้งนี้ ส่งผลให้ ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ
• การรัฐประหารครั้งที่ 2
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476
ผู้นำการรัฐประหาร : พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
กระทำต่อ : รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
แม้ว่าจะมีการรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 แล้ว แต่ความขัดแย้งภายในรัฐบาลก็ยังไม่ยุติลง ทำให้ในท้ายที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร
ผลของการรัฐประหาร ได้ส่งผลให้รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถึงจุดสิ้นสุด และยังทำให้ปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางกลับเช้ามาในไทยอีกครั้ง
• การรัฐประหารครั้งที่ 3
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490
ผู้นำการรัฐประหาร : พลโท ผิน ชุณหะวัณ
กระทำต่อ : รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
ในปี พ.ศ.2489 เกิดเหตุการณ์สำคัญในไทย คือ กรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถจัดการและคลี่คลายเหตุการณ์นี้ได้ ทำให้รัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ สิ้นสุดลง และถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
แต่ในท้ายที่สุด วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 พลโท ผิน ชุณหะวัณ และกลุ่มนายทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะทหารแห่งชาติ” ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และแต่งตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
• การรัฐประหารครั้งที่ 4
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491
ผู้นำการรัฐประหาร : พลโท ผิน ชุณหะวัณ
กระทำต่อ : รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์
1
แม้ว่ารัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ จะได้ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารของคณะทหารแห่งชาติ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ได้เกิดความขัดแย้งกับคณะทหารแห่งชาติ
ทำให้ในวันที่ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 พลโท ผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง คณะทหารแห่งชาติได้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกฯ ที่หมดอำนาจในปี พ.ศ.2487 กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
• การรัฐประหารครั้งที่ 5
วันที 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494
ผู้นำการรัฐประหาร : จอมพล ป. พิบูลสงคราม
กระทำต่อ : รัฐประหารตัวเอง
3
หลังจากที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี พ.ศ.2491 ปรากฏว่าในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยกลุ่มนายทหารที่เรียกว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ซึ่งจริงๆแล้วก็คือ กลุ่มนายทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีการอ้างเหตุผลว่า สถานการณ์ของโลกตอนนั้นอยู่ในความคับขัน ทั้งจากภัยคอมมิวนิสต์และการคอร์รัปชั่นที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้
แต่จริง ๆ แล้วเป้าหมายของการรัฐประหาร คือ ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2492 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้การรัฐประหารในครั้งนี้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2492 และยืดอายุของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามต่อไป
• การรัฐประหารครั้งที่ 6
วันที 16 กันยายน พ.ศ.2500
ผู้นำการรัฐประหาร : จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
กระทำต่อ : รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม บริหารประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 เป็นต้นมา โดยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 เกิดการเลือกตั้งขึ้น โดยพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง แต่มีหลายฝ่ายมองว่าพรรคเสรีมนังคศิลาทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้ง
โดยรัฐบาลได้ให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และเป็นนายทหารคนสนิทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ปรากฏว่า จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ไปเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนที่ในเวลาต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างกัน การชุมนุมได้ยุติลงและจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลาออกจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
1
แต่ต่อมาในวันที 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะนายทหาร ได้นำกำลังพลทำการรัฐประหาร ส่งผลให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากการรัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ให้นายพจน์ สารสิน ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
• การรัฐประหารครั้งที่ 7
วันที 20 ตุลาคม พ.ศ.2501
ผู้นำการรัฐประหาร : จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
กระทำต่อ : รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร
รัฐบาลของนายพจน์ สารสิน บริหารประเทศเป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยในเดือนธันวาคม พ.ศ.2500 ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น โดยปรากฏว่าพรรคชาติสังคมของจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ทำให้จอมพลถนอม ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร ก็เกิดความขัดแย้งภายใน จอมพล ถนอม กิตติขจร ก็ไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งนี้ได้
ทำให้ในเช้าวันที่ วันที 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จอมพล ถนอม ได้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และในค่ำวันนั้นเอง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ จึงได้ประกาศรัฐประหาร โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งมีหลายฝ่ายเชื่อว่าการรัฐประหารครั้งนี้ ทั้งจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รู้เห็นเป็นใจเป็นอย่างดี
2
• การรัฐประหารครั้งที่ 8
วันที 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514
ผู้นำการรัฐประหาร : จอมพล ถนอม กิตติขจร
กระทำต่อ : รัฐประหารตัวเอง
ภายหลังการอสัญกรรมชองจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ.2506 จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยในปี พ.ศ.2512 พรรคสหประชาไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร ชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
แต่ปรากฏว่าภายในรัฐบาลเกิดความขัดแย้งกันเอง จอมพล ถนอม กิตติขจร ไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งดังกล่าวได้ ทำให้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยกลุ่มทหารที่เรียกว่า “คณะปฏิวัติ”
1
โดยคณะปฏิวัติได้ออกคำสั่งให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2511 และยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง และประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจรมีอำนาจอีกครั้ง ซึ่งนี้เองทำให้กลายเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516
• การรัฐประหารครั้งที่ 9
วันที 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
ผู้นำการรัฐประหาร : พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
กระทำต่อ : รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
1
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้รัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 ถึงจุดสิ้นสุดลง จอมพลถนอมและพวกเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ
แต่ปรากฏว่าในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2519 จอมพลถนอมในสถานะของสามเณรได้เดินทางกลับมาที่ไทย ทำให้ประชาชนและนิสิตนักศึกษาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่จอมพลถนอมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนที่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้เกิดการสลายการชุมนุม ทำให้มีนิสิตนักศึกษาเสียชีวิตและถูกจับเป็นจำนวนมาก
โดยเย็นวันนั้นเอง พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ และกลุ่มนายทหารที่เรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ได้ประกาศรัฐประหารรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการกับความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้
ภายหลังหลังการรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประกาศให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
• การรัฐประหารครั้งที่ 10
วันที 20 ตุลาคม พ.ศ.2520
ผู้นำการรัฐประหาร : พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
กระทำต่อ : รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
แต่ปรากฏว่า รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก็ถูกทางคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินรัฐประหารอีกครั้ง ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520
โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ให้ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
• การรัฐประหารครั้งที่ 11
วันที 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534
ผู้นำการรัฐประหาร : พลเอก สุนทร คงสมพงษ์
กระทำต่อ : รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
หลังจากรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สิ้นสุดในปี พ.ศ.2523 ต่อมาก็เป็นสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ.2523-2531) และพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ.2531-2534) ตามลำดับ
โดยปรากฏว่าในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น และกลุ่มนายทหารที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ และได้ให้นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้นายอานันท์ ปันยารชุน จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
ต่อมาก็ได้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ.2535 โดยพรรคสามัคคีธรรมของ รสช. เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง แต่หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
ด้วยเหตุนี้ ทำให้พรรคสามัคคีธรรมจึงให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สร้างไม่พอใจเป็นอย่างมากให้กับประชาชน เพราะมองว่าการกระทำดังกล่าว คือการสืบทอดอำนาจของ รสช. ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 และนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ”
• การรัฐประหารครั้งที่ 12
วันที 19 กันยายน พ.ศ.2549
ผู้นำการรัฐประหาร : พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน
กระทำต่อ : รัฐบาล ดร. ทักษิณ ชินวัตร
ในช่วงต้นปี พ.ศ.2548 เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
จนกระทั่งในค่ำของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และกลุ่มนายทหารที่เรียกว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่เดินทางไปที่สหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลในขณะนั้นได้สร้างความแตกแยกภายในประเทศ
ภายหลังการรัฐประหาร คปค. ได้แต่งตั้งให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
• การรัฐประหารครั้งที่ 13
วันที 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557
ผู้นำการรัฐประหาร : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กระทำต่อ : รัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
1
นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ประเทศไทยก็อยู่ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎให้เห็นมาก่อน
จนกระทั่งในวันที 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น และกลุ่มทหารที่เรียกว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการรัฐประหาร พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 29 และนับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 และเป็นครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
5
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา