28 ก.ค. 2020 เวลา 15:22 • การศึกษา
*เมื่อคนเป็นวิญญูรู้สาระของกฎหมาย สังคมสงบสุขด้วยกติกาง่ายๆ
ครั้นคนเสื่อมลงไป กฎหมายยิ่งบังคับซับซ้อน สังคมยิ่งเสื่อมทรุด*
เป็นความจำเป็นว่า เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ก็ต้องมีข้อตกลงที่กำหนดกันขึ้นไว้ว่า จะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร เป็นต้น เพื่อให้ชีวิตแห่งการอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยดี เอื้อประโยชน์ต่อทุกคนด้วยกัน
เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาพัฒนาดีแล้ว ที่เขาเข้าใจความหมายของข้อตกลงสำหรับการเป็นอยู่และทำกิจการร่วมกันเช่นนี้ และมีจิตใจที่พร้อมจะปฏิบัติ การมีกฎหมายเพียงในความหมายว่าเป็นข้อหมายรู้ หรือข้อกำหนดที่หมายรู้ในการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นการเพียงพอ (เรื่องนี้จะพูดถึงอีกข้างหน้า)
ในภาวะเช่นนี้ กฎหมายหรือข้อหมายรู้ จะเป็นเพียงข้อตกลง หรือกติกาทางปัญญา ซึ่งมีจำนวนจำกัดตามความจำเป็นแห่งกิจที่จะทำ และเมื่อคนยังปฏิบัติกันดี ก็ไม่ต้องมีสิกขาบทหรือข้อกฎหมายมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อคนขาดการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่ได้พัฒนาตน เขาไม่เข้าใจความหมาย ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ
เมื่อคนไม่ปฏิบัติตามข้อหมายรู้นั้น ก็ต้องมีการบัญญัติข้อกฎหมายในลักษณะที่เป็นข้อบังคับ ที่มีการกำหนดความผิดและการลงโทษเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดจะกลายเป็นว่า ยิ่งมีการบัญญัติข้อกฎหมายมาก ชีวิตและสังคมกลับยิ่งเสื่อมโทรม
และในกรณีเช่นนี้ การมีกฎหมายในความหมายว่าเป็นข้อบังคับมาก กลับกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเสื่อมโทรมของชีวิตและสังคม
เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาถูกต้อง พัฒนาตนดีแล้ว ก็จะมีกฎหมายแต่เพียงที่เป็นข้อหมายรู้ ไม่ต้องเลยไปเป็นข้อบังคับ
แต่ตรงข้าม ในสังคมที่ไม่พัฒนา คนขาดการศึกษา หรือเมื่อการศึกษาเสื่อมลง กฎหมายที่มีความหมายเป็นข้อบังคับ ก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ โดยที่แม้จะจำเป็นเพื่อกันไม่ให้เสื่อมโทรมลงไปอีกๆ แต่ก็ไม่ช่วยให้ชีวิตและสังคมดีงามขึ้นได้เลย อย่างน้อย ยิ่งมีข้อบัญญัติมาก หลักการที่เป็นสาระกลับยิ่งเลือนรางจางหาย
จากเรื่อง นิติศาสตร์แนวพุทธ
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
โฆษณา