ในตัวเมืองภูเก็ต มีจุดชมวิวหลักๆ ได้แก่ จุดชมวิวเขารัง จุดชมวิวเขานาคเกิด และจุดชมวิวเขาโต๊ะแซะ ซึ่งวันนี้จะขอพาชมจุดชมวิวเมืองภูเก็ตเขาโต๊ะแซะ ซึ่งเป็นเนินเขาไม่สูงมากนักอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต ทางขึ้นอยู่ติดกับศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ท่านสามารถนำรถจอดที่สวนสุขภาพแล้วเดินต่อไปตามถนนลาดยาง เป็นทางขึ้นประมาณ 300 เมตร เพื่อไปยังจุดชมวิว ซึ่งท่านจะมองเห็นวิวตัวเมืองภูเก็ต วิวท้องทะเล ขุนเขา รวมทั้งสามารถชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าได้ที่นี่อีกแห่ง
หลังจากชื่นชมวิวอิ่มตาอิ่มใจแล้ว ท่านสามารถเดินขึ้นเขาไปชมวิวทะเลอีกด้านที่บริเวณสถานีส่งสัญญาณโทรทัศน์และแวะสักการะศาลพ่อตาโต๊ะแซะแห่งที่ 2 ได้อีก 1 จุด ซึ่งชาวภูเก็ตนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นอย่างมาก ถือเป็นพระเจ้าทันใจอีกหนึ่งองค์กันเลย จึงขอบอกเล่าตำนานของพ่อตาโต๊ะเเซะ และข้อมูลที่น่าสนใจอื่นๆ ไว้ดังนี้นะคะ
1. เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา มีชาวนานาม “นายโต๊ะแซ่” ท่านเป็นผู้บำเพ็ญศีลอย่างเคร่งครัด และเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนถึงจังหวัดภูเก็ต และได้เลือกยอดเขาโต๊ะแซะเป็นที่จำศีลภาวนา ผู้คนที่ผ่านไปมาเห็นนายโต๊ะแซ่ในระยะห่าง เข้าใจว่าเป็นเทพจึงเล่าต่อกันมา ต่อมาชาวบ้านพบบ่อน้ำบนยอดเขาจึงนำไปอาบ ดื่มกิน ปรากฏว่าหายจากโรคภัย จนเป็นที่ร่ำลือกันว่า “โต๊ะแซ่” เป็นผู้มีวิเศษ มีวิชาอาคม สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก ต่อมานายโต๊ะแซ่หายตัวไปอย่างลึกลับ แต่ชื่อเสียงและกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังคงอยู่ จนชาวบ้านตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่าเขาโต๊ะแซ่ ต่อมาชื่อนี้ได้เพี้ยนเป็น “โต๊ะแซะ” มาจนถึงทุกวันนี้
2. ศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะ แห่งแรก ตั้งอยู่บนถนนสุทัศน์ ตรงข้ามกับวัดแขก ภายในศาลประดิษฐานรูปหล่อของโต๊ะแซะ โดยมีพญางูตั้งอยู่เคียงข้าง ศาลดังกล่าว มีขนาดเล็กและผู้คนที่ไปสักการะก็มีไม่มาก ต่อมามีการสร้าง ศาลแห่งใหม่บนเชิงเขาโต๊ะแซะ ซึ่งภายในยังมีการสร้างรูปหล่อของท่านถึง 3 องค์ ได้แก่ โต๊ะแซะขาว โต๊ะแซะดำ และโต๊ะแซะแดง ซึ่งศาลแห่งนี้มีผู้คนกราบไว้สักการะและสัมฤทธิ์ผลทันใจ จนกลายเป็นจุดที่ผู้คนไปสักการะขอพรมากที่สุด ไม่เว้นชาวต่างประเทศที่เคยมาสักการะ ยังต้องกลับมาเมืองไทยเพื่อไปกราบสักการะต่อเนื่องทุกปี
3. อีกตำนานของพ่อตาโต๊ะเเซะ และอาจเป็นเหตุผลที่สร้างพ่อตาโต๊ะเเซะขึ้นถึง 3 องค์ คือ พ่อตาโต๊ะแซะขาว พ่อตาโต๊ะแซะดำ พ่อตาโต๊ะแซะแดง มาจากความเชื่อที่ว่า ในอดีตท่านเป็นผู้บุกเบิกตั้งชุมชนในภูเก็ต เป็นคนอิสลามสามพี่น้องที่แล่นเรือไม้มาขึ้นบก แล้วแยกย้ายเอาธัญญาหารต่างๆ ไปปลูกขยายพันธุ์อยู่คนละที่ และในที่สุดได้กลายเป็น “โต๊ะ” หรือ เจ้าพ่อเจ้าแม่ แบ่งเขตคุ้มครองคนละแดนบนเกาะแห่งนี้ โดยมีโต๊ะยา ซึ่งเป็นเจ้าแม่อยู่หาดสุรินทร์ กมลา ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ต ส่วนโต๊ะแซะ เป็นเจ้าของที่อยู่ในเขตตลาดของอำเภอเมือง และมีศาลให้คนมากราบไหว้ ขณะที่โต๊ะพระแทว น้องสุดท้องดูแลอำเภอถลาง ก็มีศาลอยู่ที่เขาพระแทว
4. ศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะจะมีงานเซ่นบวงสรวงในเดือน 6 ของทุกปี มีการประทับร่างทรงและถวายเครื่องเซ่น ที่ประกอบด้วยพริกแดง 9 ดอก หมากพลู 9 คำ ยาเส้นใบจาก 3 ห่อ ดอกไม้ 3 กำ พวงมาลัย (ดอกไม้สีเดียว) 3 พวง ผลไม้ ข้าวเหนียวขาว และข้าวเหนียวเหลือง พร้อมไก่ปิ้ง เหล้า ส่วนเนื้อหมูห้ามนำเข้าศาลเด็ดขาด
5. ทุกครั้งที่คนในตัวเมืองภูเก็ตมีเรื่องทุกข์ร้อน มักได้รับความสำเร็จโดยเร็ว จนหลายคนกลับมาเพื่อแก้บน ด้วยการถวายพริก 2-3 หาบ และไข่ไก่ 100 ฟอง โดยนำพริกแดงมาร้อยที่ก้านธูปหรือทางมะพร้าว ทำทีว่าเป็นหาบ ส่วนไข่ก็นำมาร้อยเชือกเป็นเคล็ดว่าร้อยฟอง บางคนนำสิ่งของหรืออาหารมาแก้บน เช่น ผลไม้ หรืออาหารอิสลาม
สำหรับคนภูเก็ต “เขาโต๊ะแซะ” ไม่ได้เป็นแค่เพียงแหล่งท่องเที่ยวชมวิวสวยๆ ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวภูเก็ตต่างเคารพนับถือ จุดที่พึ่งพิงใจในยามทุกข์ยาก ช่วยลดทุกข์และส่งเสริมมงคลในชีวิตให้กับผู้คนที่มาสักการะคนแล้วคนเล่า ซึ่งหากท่านมีโอกาสมาจังหวัดภูเก็ต นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ทั้งการท่องเที่ยวและเสริมสิริมงคลกันนะคะ