30 ก.ค. 2020 เวลา 23:09 • ธุรกิจ
จตุจักรกำลังก้าวขึ้นเป็นทำเลทองในอนาคต
พูดถึงทำเลย่านจตุจักร หลายคนน่าจะนึกถึงสวนจตุจักรเป็นอย่างแรก ไม่ก็แหล่งช้อปปิ้งอย่างตลาดนัดจตุจักร หรือทำเลที่มีผู้คนพลุกพล่านเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญ
แต่กว่าจะเป็นอย่างที่เห็นเราเห็นทุกวันนี้
ย่านจตุจักรมีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร
เรามาดูกัน
Credit : DDProperty
ย่านจตุจักรเป็นทำเลที่อยู่ตรงถนนพหลโยธินตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต เริ่มตั้งแต่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวไปจนถึงตลาดนัดจตุจักร
เดิมทีบริเวณนี้คือแขวงลาดยาว อยู่ในพื้นที่ปกครองของเขตบางเขน
เมื่อวันเวลาผ่านไปแขวงลาดยาวก็มีความเจริญเพิ่มมากขึ้นและมีจำนวนประชากรหนาแน่นขึ้น
ในปี พ.ศ. 2532 ทางกรุงเทพมหานครจึงได้แบ่งพื้นที่ของเขตบางเขนออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตบางเขน เขตดอนเมือง และเขตจตุจักร โดยกำหนดให้แขวงลาดยาวทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ของเขตจตุจักร
คำว่า “จตุจักร” แปลว่า “สี่รอบราศี” ซึ่งเป็นนามพระราชทานของสวนสาธารณะในแขวงลาดยาวที่ได้จัดสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ หรือ 48 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2518
และกรุงเทพมหานครก็ได้นำชื่ออันเป็นมงคลนี้มาเป็นชื่อของเขตใหม่
ถนนพหลโยธินบริเวณหน้าสวนจตุจักร (ในอดีต) Credit : Matichon
ในอดีตนั้น ย่านนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชานเมือง มีถนนพหลโยธินเป็นถนนสายหลักเพียงเส้นเดียวที่เชื่อมต่อเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพ และมีสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ขนส่งหมอชิต” เป็นศูนย์กลางการสัญจร (ปัจจุบันคือศูนย์ซ่อมบำรุงและลานจอดรถยนต์ข้างสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต)
สถานีขนส่งหมอชิตในอดีต Credit : Propertyinsight
ผู้คนที่เดินทางด้วยรถทัวร์ระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสาน กับกรุงเทพ จะต้องมาลงที่นี่เพื่อต่อรถไปยังจุดหมายปลายทางของตัวเอง
ต่อมารัฐบาลในยุคนั้นได้ตัดถนน “ซุปเปอร์ไฮเวย์” เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้มากขึ้น
โดยเริ่มต้นที่ดินแดงมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนพหลโยธินและถนนลาดพร้าวเกิดเป็นห้าแยกลาดพร้าว สุดท้ายไปบรรจบกับถนนพหลโยธินอีกครั้งที่อำเภอลำลูกกา โดยเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2509 (ปัจจุบันคือถนนวิภาวดีรังสิต)
ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์บริเวณแยกลาดพร้าว Credit : Propertyinsight
นับตั้งแต่มีถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ย่านจตุจักรก็เริ่มมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น
แต่จุดเริ่มต้นความฮอตของย่านนี้เริ่มขึ้นจากการเปิดตลาดนัดจตุจักรในปี พ.ศ. 2525 ตามมาด้วยการเปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวในปีเดียวกัน
เซ็นทรัลลาดพร้าวในอดีต Credit : Pantip
หลังจากนั้น ย่านจตุจักรก็เริ่มพัฒนาเป็นทำเลพาณิชยกรรมและในเวลาต่อมาบริเวณนี้ก็เริ่มมีอาคารสำนักงานเกิดขึ้น
แล้วอะไรที่ทำให้ย่านจตุจักรเปลี่ยนไป?
จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี พ.ศ. 2542 โดยมีสถานีหมอชิตเป็นสถานีปลายทางและตามมาด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินที่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2547 ทำให้มีการเดินทางที่สะดวกขึ้น
จตุจักรก็กลายเป็นจุดที่เชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญมากขึ้นไปอีก
แล้วก็เริ่มเป็นทำเลที่ดึงดูดให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายเข้ามาเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ หรือกระทั่งการกว้านซื้ออาคารเก่ามารื้อทำเป็นอาคารสำนักงาน
แล้วปัจจุบันย่านจตุจักรกำลังก้าวขึ้นเป็นทำเลทองอย่างไร
จุดเด่นของทำเลย่านจตุจักรก็คือเป็นจุดเชื่อมต่อของถนนเส้นหลักหลายสาย เช่น ถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน และถนนวิภาวดีรังสิตที่เชื่อมต่อไปยังสนามบินดอนเมือง
ประกอบกับมีทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่วิ่งเข้าสู่ย่านธุรกิจสำคัญอย่างปทุมวัน สีลม สาทร และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เชื่อมต่อกับย่านเศรษฐกิจอย่างถนนรัชดาภิเษกและถนนอโศกมนตรี
รวมไปถึงสถานีกลางบางซื่อที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคตพร้อมกับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานี
กลุ่มอาคารสำนักงานบริเวณแยกลาดพร้าว Credit : Dooddot
นอกจากนี้ย่านจตุจักรยังเป็นแหล่งที่รองรับการใช้ชีวิตได้อย่างครบวงจร โดยมีทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ตลาดนัด ตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล และคอนโดมิเนียมอีกหลายโครงการ
จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ทำให้ปัจจุบันที่ดินในย่านนี้มีมูลค่าสูงถึง 900,000 บาทต่อตารางวา และน่าจะปรับตัวขึ้นอีกในอนาคต หากสถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ
ดีลใหญ่ของย่านจตุจักรในปีที่ผ่านมา คือ การซื้อที่ดินบนถนนพหลโยธินใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตจำนวน 11 ไร่ ในวงเงิน 4,320 ล้านบาท ของกลุ่มซิโน-ไทยเพื่อพัฒนา “หมอชิตคอมเพล็กซ์” อาคารมิกซ์ยูสสูง 36 ชั้น มูลค่าโครงการกว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มก่อสร้างแล้วและคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2566
หมอชิตคอมเพล็กซ์ Credit : Prachachat
ส่วนดีลล่าสุดในปีนี้ก็คือ โครงการมิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท ของบางกอกเทอร์มินอล ซึ่งจะพัฒนาบนที่ดิน 63 ไร่ บริเวณลานจอดรถของสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โรงแรม ศูนย์ประชุม และสถานีขนส่งผู้โดยสารของบขส. โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2564
โครงการมิกซ์ยูสบางกอกเทอร์มินอล Credit : Thailandstack
ทั้งหมดนี้ ก็พอสรุปได้ว่าทำเลย่านจตุจักรน่าจะมีศักยภาพมากพอที่จะเติบโตขึ้น
และเราคงต้องจับตาดูว่าในอนาคตจะกลายเป็นทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพได้หรือไม่
โฆษณา