1 ส.ค. 2020 เวลา 19:07 • การศึกษา
รู้หรือไม่อูฐนั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากอเมริกาเหนือ
1
พวกมันเคยวิ่งเล่นกันอยู่ในบริเวณที่เป็นดินแดน Hollywood ในวันนี้เมื่อหลายล้านปีก่อน
อูฐเดินทาง
จากโพสเมื่อวานที่มีการค้นพบว่ามนุษย์อาจเดินทางมายังทวีปอเมริกาเร็วกว่าที่เราเคยคิดไว้ และเมื่อมนุษย์มาถึงดินแดนแถบนี้ได้ทำให้สัตว์หลายชนิดต้องสูญพันธ์ุไป ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "อูฐ"
โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลของอูฐอายุกว่า 15 ล้านปีในบริเวณไซด์งานก่อสร้างถนนทางหลวงที่เมือง San Diego ในแคลิฟอร์เนีย
Site งานก่อสร้างทางหลวงที่มีการขุดค้นพบซากฟอสซิล
และก่อนหน้านี้มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลของอูฐที่มีขนาดตัวสูงกว่า 2.7 เมตรที่เกาะ Ellesmere ของแคนาดาในปี 2006
ทั้งนี้หลักฐานการมีอยู่ของอูฐป่าตัวสุดท้ายในอเมริกาเหนือก็คือประมาณ 11,000 ปีก่อน หลังการมาของกลุ่มคน Clovis Culture ที่ข้ามสะพาน Beringia มาจากไซบีเรีย
1
ซึ่งทำให้เกิดการสูญพันธ์ุของสัตว์หลายชนิด เช่น เสือเขี้ยวดาบ ช้างแมมมอธ หมีหน้าสั้น ตัวสลอธดิน รวมถึงอูฐป่าในดินแดนแถบนี้
ซากฟอสซิลอูฐที่ขุดค้นพบ
นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่าต้นตระกูลอูฐนั้นมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือในช่วง 40 ถึง 50 ล้านปีก่อน ก่อนจะอพยพลงใต้ไปยังอเมริกาใต้ผ่านช่องคอคอดปานามาที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 ถึง 5 ล้านปีก่อน
หลังจากนั้นส่วนหนึ่งก็พากันอพยพมายังทวีปเอเชียผ่านสะพาน Beringia และกระจายตัวไปยังดินแดนตะวันออกกลางและแอฟริกาต่อไป
ปัจจุบันยังมีญาติของอูฐอีกหลายสายพันธ์ุ เช่น ตัวลามา อัลปาก้า กัวนาโค ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอูฐจนสามารถผสมข้ามสายพันธ์ุได้ เช่นเดียวกับ ม้าที่สามารถผสมข้ามสายพันธ์ุกับลาได้เป็นล่อ
ส่วนอูฐผสมกับลามาจะได้เป็นตัวคามา และแน่นอนว่าสัตว์ที่ผสมข้ามสายพันธุ์นี้จะเป็นหมันแต่กำเนิด
เหล่าญาติ ๆ ของอูฐ
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าการแตกสายพันธ์ุเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 11 ล้านปีก่อน
แม้ว่าอูฐป่าในอเมริกาเหนืออาจถูกล่าจนสูญพันธ์ุไป แต่ในดินแดนอาราเบียตอนใต้และโซมาเลีย มนุษย์เรากลับรู้จักนำอูฐมาเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
ส่วนในเอเชียกลางก็ได้มีการเพาะเลี้ยงอูฐสายพันธ์ุ Bactrian ตั้งแต่ช่วง 2,500 ปีก่อนคริสตกาล
อูฐสายพันธ์ุ Bactrian สุดจะล่ำ
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการแตกสายพันธุ์ของอูฐบ้าน (Dromedary หรือ Arabian Camel) เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน
อูฐที่พบเห็นส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นอูฐเลี้ยง มีอูฐป่าอยู่บ้างในออสเตรเลีย คาซัซสถาน และอินเดีย
ปัจจุบันยังมีอูฐ Bactrian ป่าหลงเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยในบริเวณทะเลทรายโกบีของมองโลเลีย
อูฐ Bactrian ป่า
ทั้งนี้อูฐในออสเตรเลียนั้นถูกนำมายังทวีปนี้โดยผู้อพยพตั้งถิ่นฐานในยุคล่าอาณานิคมเพื่อใช้เป็นแรงงานสัตว์ แต่เมื่อภายหลังมีการเลิกใช้อูฐเหล่านี้ก็ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติกลายเป็นอูฐป่าไป
ในปี 2008 มีอูฐป่าในออสเตรเลียกว่า 1 ล้านตัวและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุก ๆ 8 ถึง 10 ปี สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลออสเตรเลียและพยายามจะควบคุมประชากรอูฐป่าเหล่านี้
บริเวณที่อูฐป่าออสเตรเลียแพร่กระจายอาศัยอยู่
** อูฐ 101 **
อูฐนั้นมีบทบาทมากมายในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทั้งการใช้งานเป็นแรงงานสัตว์ ใช้เป็นพาหนะ หรือแม้แต่ใช้เป็นสัตว์ในการสงครามเช่นเดียวกับ ช้าง ม้า
กองพันทหารอูฐ
ทั้งนี้เพราะพวกมันมีลักษณะและการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมแห้งแล้งอย่างทะเลทรายได้เป็นพิเศษ
มาดูฟีเจอร์เด็ดของเจ้าอูฐกัน
อย่างแรกหนอกของพวกมันไม่ได้เก็บน้ำอย่างที่บางคนเข้าใจผิด แต่จริง ๆ มันใช้เก็บไขมัน ซึ่งจะช่วยลดความร้อนจากแสงแดดในทะเลทรายได้ด้วย
โดยแต่ละกรัมของไขมันที่เผาผลาญได้เป็นพลังงานนั้นจะได้น้ำมาด้วย 1 กรัม ซึ่งน้ำที่ได้นี้ก็คือแหล่งน้ำสำรองของพวกมันไปด้วย
ซึ่งทำให้พวกมันสามารถเดินทางกลางทะเลทรายได้อย่างยาวนานร่วม 10 วันโดยไม่ต้องดื่มน้ำเลย แต่การไม่ได้ดื่มน้ำร่วม 10 วันก็จะทำให้พวกมันน้ำหนักลดลงไปกว่า 30% และจะเริ่มเกิดภาวะขาดน้ำ
แต่ทั้งนี้พวกมันก็ทำได้ดีกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ มาก เมื่อเปรียบเทียบกัน พวกมันเสียน้ำไปวันละ 1.3 ลิตร ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นเช่น ม้า สูญเสียน้ำวันละ 20-40 ลิตรเลยทีเดียว
เท้าอูฐ
ฟีเจอร์เด็ดของอูฐที่เหมาะใช้งานเป็นพาหนะในทะเลทรายคือลักษณะเท้าของมัน ที่จะไม่มีกีบเหมือนม้า แต่จะเป็นแผ่นหนังใหญ่และยาวมีนิ้ว 2 ข้าง ซึ่งจะช่วยกระจายน้ำหนักตัวทำให้เท้าไม่จมทราย
โดยพวกมันสามารถวิ่งทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งทางยาวด้วยความเร็วเฉลี่ย 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
และอูฐนั้นมีความทนทานในการขาดน้ำได้มากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ โดยพวกมันทนการขาดน้ำได้ถึง 25% ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นหากขาดน้ำเกิน 13-14% อาจเกิดอาการหัวใจวายได้
ลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แตกต่างกันของอูฐและคน
ทั้งนี้ความลับอยู่ที่ลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงของอูฐที่มีลักษณะเป็นวงรีทำให้สามารถวิ่งในเส้นเลือดขณะที่เกิดภาวะขาดน้ำจนเลือดข้นได้
รู้หรือไม่? อูฐสามารถสูบ เอ๊ย ดื่มน้ำได้ครั้งหนึ่งมากถึง 200 ลิตรเลยทีเดียว (นึกถึงถังน้ำมัน 200 ลิตร พวกเล่นสูบเฮือกเดียวหมด)
ยังไม่หมด พวกมันยังมีระบบกันฝุ่นมากมายทั้งขนตายาว ขนที่ปกคลุมใบหู รวมถึงรูจมูกที่เปิดปิดได้เมื่อพายุทรายมา
รวมถึงริมฝีปากที่หนามากทำให้พวกมันเขมือบได้ตั้งแต่หญ้านิ่ม ๆ ไปจนต้นกระบอกเพชรอุดมหนาม
1
ช่วงกระดูกหน้าอกก็จะมีผนังที่หนาเพื่อกันความร้อนเวลาที่พวกมันนั่งพักบนผืนทรายอันร้อนระอุ
1
พวกมันยังมีระบบขับถ่ายที่รีดน้ำได้อย่างหมดจด ไตของพวกมันจะรีดน้ำกลับจนทำให้ฉี่อูฐมีลักษณะเหนียวข้น และระบบย่อยอาหารที่มีลำไส้ยาวมาก ๆ เพื่อรีดน้ำกลับ ทำให้ขี้อูฐนั้นแข็งและแห้งมากจนสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ทันที่หลังจากที่พวกมันอึออกมา
เส้นขนของพวกมันนั้นยังสามารถนำมาทำเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้ น้ำนมอูฐก็ยังใช้บริโภคได้ด้วย
แถมระบบภูมิคุ้มกันของอูฐยังแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป จนล่าสุดได้มีรายงานการวิจัยภูมิคุ้มกับของตัวลามาเพื่อใช้นำมาสู้ไวรัสโควิด-19
และนี่ก็คือเรื่องราวของอูฐตั้งแต่จุดกำเนิดของพวกมัน พัฒนาจากดินแดนเมืองหนาวมาเป็นสัตว์สุดอึดในทะเลทราย
โฆษณา