2 ส.ค. 2020 เวลา 03:38 • ความคิดเห็น
สิ่งที่กระทิงแดงควรแสดงความรับผิดชอบ
ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจมากมายเกี่ยวกับกระทิงแดง เรื่องความยุติธรรมก็เรื่องหนึ่ง เรื่องความถูกต้องชอบธรรมก็เรื่องหนึ่ง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่กระทิงแดงควรแสดงความรับผิดชอบแน่ๆคือ ขวดกระทิงแดงของตัวเอง!!
เชื่อไหมว่าบริษัทกระทิงแดงมีรายได้เฉพาะในประเทศไทยปีละกว่า 2 หมื่น 8 พันล้านบาท เป็นกำไรกว่า 8 พันล้านบาท ทำไมบริษัทที่ใหญ่โตขนาดนี้ จึงไม่มีระบบรับคืนขวด (take back) เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพราะใครที่เคยร่วมกิจกรรมเก็บขยะ จะรู้ดีว่า ขวดเครื่องดื่มชูกำลังถือเป็นไอเท็มที่พบบ่อยพบมากที่สุดประเภทหนึ่ง
การทำระบบ take back รับคืนสินค้าภายหลังการใช้งาน หรือ trade in หรือการนำสินค้าเก่ามาแลกซื้อสินค้าใหม่โดยมอบเป็นส่วนลด ที่ผ่านมามักเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไอที ซึ่งจัดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ที่ยากต่อการกำจัด หรือกลุ่มสินค้าแฟชั่นเช่น เสื้อผ้าที่ไม่ใช่แล้ว มองด้านหนึ่งเป็นกลยุทธการตลาดที่มีประสิทธิภาพ เพราะช่วยขยายฐานลูกค้า เพิ่มtraffic หรือ จำนวนคนเข้าร้าน และกระตุ้นยอดขาย
แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นระบบที่ช่วยให้เกิดการนำเอาวัตถุดิบที่มีค่าภายในสินค้านั้นๆ มารีไซเคิล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบ และเสาะหาวัตถุดิบใหม่ต่อไปเรื่อยๆ
1
ระบบนี้จึงสามารถนำมาใช้ได้กับบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท แทนที่จะปล่อยให้ขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือกล่องนม กล่องน้ำผลไม้กลายเป็นขยะที่ไร้ค่า และถูกโยนทิ้งอยู่สองข้างทาง หรือจบลงที่หลุมฝังกลบ ก็เป็นภาระให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
1
วิธีที่กระทิงแดงสามารถทำได้เลยก็เช่น การนำขวดเก่าแลกขวดใหม่ (trade in) นำขวดมาคืนที่ร้านแล้วได้ส่วนลด 2-3 บาทในการซื้อขวดใหม่ หรือจะวางเป็นระบบเงินมัดจำ (bottle deposit) นำขวดมาส่งคืนจะได้เงินคืนทันที 2 บาทเป็นต้น รับรองว่า ขยะขวดกระทิงแดงเกือบทั้งหมดจะหายไปจากสภาพแวดล้อมตลอดกาล เพราะมันกลายเป็นของมีค่ามีราคาขึ้นมาทันที
มีตัวอย่างบริษัทที่กำลังดำเนินการอยู่เช่น ดอยคำ ก็ให้ลูกค้าสามารถนำกล่องน้ำผลไม้มาส่งคืน พร้อมกับได้ส่วนลดไปเลย 5 บาท ถ้าทุกบริษัทลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบในสินค้าตัวเองแบบนี้ เราจะสามารถแก้ปัญหาขยะไปได้มหาศาล และเป็นระบบที่ Win-Win ทั้งสองฝ่าย เพราะบริษัทเองก็ได้วัสดุกลับไปใช้ในกระบวนการผลิต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่
1
เรื่องคดีที่เป็นข่าวใหญ่โตเราคงไม่สามารถคาดหวังอะไรให้กระทิงแดงแสดงความรับผิดชอบได้ แต่ขอแค่การแสดงความรับผิดชอบต่อขวดกระทิงแดงของตัวเองจะได้ไหม
ป.ล. 1 แน่นอนว่าขยะประเภทนี้ไม่ได้เกิดจากกระทิงแดงยี่ห้อเดียว แต่เมื่อพิจารณาจากรายได้ กระทิงแดงสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำได้ และผลิตภัณฑ์ในเครือก็ไม่ได้มีเฉพาะขวดแก้ว แต่มีประเภทขวดพลาสติกไม่น้อยเลย แถมยังเป็นการตลาดที่ดีด้วยซ้ำ ไม่ต้องรอให้ใครทำก่อน
1
ป.ล. 2 นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงควรมีกฎหมายเกี่ยวกับการขยายความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility - EPR) เพราะถ้าไม่มีกฏหมายเข้ามาบังคับ ฝ่ายผู้ผลิตก็จะเตะถ่วงความรับผิดชอบของตัวเองออกไปเรื่อยๆ และโยนความผิดกลับมาที่ผู้บริโภคฝ่ายเดียว
ภาพ: ขวดกระทิงแดงที่ถูกทิ้งอยู่ริมรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้อมูลสนับสนุนโดย CHULA Zero Waste
โฆษณา