2 ส.ค. 2020 เวลา 12:00 • ดนตรี เพลง
EP.18 : “พี่จบ..ความครื้นเครงของหาดป่าตอง” (พ.ศ. 2529)
ขณะที่ผมเป็นพนักงานขายเทปเพลงอยู่หน้าห้าง “ภูเก็ต ฟู้ดแลนด์”
ในเมืองภูเก็ต นั้น “บังสมาน” คือขาประจำอีกคนที่มาหาเทปเพลงไป
ฟังในรถ แกเป็นคนบางบัวทอง นนทบุรี มามีครอบครัว และทำงานเป็น
พนักงานขับรถตู้ของ บริษัท ซันไชน์ ทัวร์ ที่ภูเก็ต
วันนั้นแกให้เวลาพูดคุยสอบถามผมนานหน่อย มีบางช่วงผมแอบเห็นแก
น้ำตาคลอ แล้วแกก็เอ่ยว่า “ไอ้น้อง..อย่าอยู่อย่างนี้เลย พรุ่งนี้เช้าบังมารับ
จะพาไปฝากงานที่ป่าตอง..มันดีกว่านี้ ถ้าจะอยู่ภูเก็ต”
โรงแรม “Seagull Cottage” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น The Bliss South Beach Patong บังสมาน ฝากผมไว้กับ “พี่ปรีชา” เป็น “F&B Manager” พี่ปรีชามาจากกรุงเทพฯเหมือนกัน แกให้ผมเริ่มงานวันนั้นเลย ตำแหน่ง “Busboy”
คือเป็นเด็กเคลียร์โต๊ะ,จัดโต๊ะ และคอยวิ่งอาหารจากในครัวมาให้ “Waiter” (พนักงานเสิร์ฟ) “บัสบอย” นั้นห้ามเสิร์ฟอาหาร, รับออเดอร์
หรือแม้แต่จะพูดคุยกับลูกค้า เพราะต้องได้รับการฝึกเสียก่อน
พี่ปรีชา ให้เงินเดือนผม 1,800 บาทเท่ากับที่เดิม แต่มีอาหารใน “Canteen”
(โรงครัวพนักงาน) วันละ 2 มื้อกลางวัน-เย็น และมีหอพักให้ ไม่ต้องเสียค่าเช่าห้องเหมือนตอนอยู่ในเมือง..แถมมีเงินเพิ่มจาก “Tip Box” แบ่งกันวันละ 2 รอบอีกด้วย (ตอนนั้นผมเพิ่งรู้จักเงินทิป)
ผมได้เรียนรู้งานจาก มือรองของพี่ปรีชา ที่เป็น “Captain” และ “Supervisor”
พี่ขจร คนภูเก็ต, พี่เกษม และพี่ทองสุข มาจากกรุงเทพฯ ทั้ง 3 คนต่างก็ดูแล
สั่งสอนผมเป็นอย่างดี
อีกทั้งเพื่อนร่วมงานที่มาจากหลากหลายจังหวัด ล้วนแต่อยู่ในวัยรุ่นวัยคะนอง
ด้วยกัน จึงมีกิจกรรมสนุกๆให้ได้เก็บไว้เป็นประสบการณ์มากมาย
หาดป่าตอง เมื่อ พ.ศ. 2529 นั้น ต่างกับวันนี้อย่างสิ้นเชิง ถนนสาย 2 (ราษฎร์อุทิศ 200 ปี) ยังไม่ได้ลาดยาง ผู้คนสัญจรกันแต่ ถนนหน้าหาด
(ทวีวงศ์) เป็นหลัก โรงแรม,ร้านอาหาร และบาร์เบียร์ ยังมีอยู่อย่างบางตา
“Seagull Cottage” ในวันนั้นจัดว่าเป็นโรงแรมขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก ด้วยมีจำนวนห้องพักไม่มาก แต่เพราะสายตาทางการตลาดอันเฉียบคม
ของผู้บริหาร ประกอบกับคู่แข่งที่ยังมีไม่มากนัก จึงทำให้ “ซีกัล คอตเทจ”
มีความคึกคักอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงแรมและร้านอาหารอื่นๆ
ในหาดป่าตอง ด้วย 2 ประการคือ
1. มีบริษัททัวร์หลายเจ้านำนักท่องเที่ยวฮ่องกงและสิงคโปร์ มาทานอาหาร
วันละ 2 มื้อ กลางวัน-เย็น ด้วยมีกุ๊กทำอาหารจีนสไตล์ฮ่องกงฝีมือระดับต้นๆของภูเก็ตเลยทีเดียว
2. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่พักอยู่ทั่วหาดป่าตอง มาดื่มและฟังเพลง
จำนวนมาก ในเกือบทุกคืน ด้วยมีนักดนตรีฝีมือดีอย่าง “พี่จบ และคณะ”
ใช่ครับ คือ “พี่บรรจบ พลอินทร์” หรือ “Job 2 Do” ศิลปินเร็กเก้สำเนียงใต้
ที่โด่งดังนั่นแหละครับ
ผมเห็นพี่จบครั้งแรกนึกถึง “Jimi Hendrix” เลยครับ เล่นกีต้าร์มือซ้ายเหมือนกัน หน้าตาก็มองให้คล้ายได้อยู่ วงพี่เขาเล่นกัน 3 คน พี่จบ กีต้าร์ไฟฟ้า ร้อง,
พี่บุญส่ง กีต้าร์โปร่ง ร้อง, พี่อู๊ดดี้ เบส ร้อง และมีเครื่องให้จังหวะ (Rhythm Box) สมัยนั้นวงหยิบเพลงมาเล่นแบบเอาใจนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่ม
ยังไม่ได้เป็นเร็กเก้เต็มตัว แต่อย่างไรก็ตามเพลงที่ถูกขอให้เล่นมากสุด
เป็นเร็กเก้ เสียงร้องของพี่จบ เพลงนี้ครับ “No Women No Cry” เพลง
เอกของผู้เป็นตำนานในแนวนี้ “Bob Marley” กับวง “The Wailers”
พี่จบ ยังเป่าออแกนปาก (Harmonica) ได้ดีอีกด้วย และก็เป็นเพลงนี้ครับ
ที่ถูกขอบ่อยเพราะฝีปากการเป่าของพี่จบ เสียงร้องโดยพี่อู๊ดดี้ มือเบส ครับ
“Heart Of Gold” ของ “Neil Young”
พี่บุญส่ง มือกีต้าร์โปร่ง แกจะถนัดร้องเพลงฟังสบายๆ กล่อมนักท่องเที่ยวในช่วงหัวค่ำ อย่างของ Elvis Presley, Kenny Rogers, Lobo, John Denver และของ “Cliff Richard” กับเพลงนี้ครับ “Evergreen Tree”
อีกเพลงที่ถูกขอให้เล่นบ่อยมากๆ และพวกพี่เขาก็เล่นได้ดีด้วย คือเพลง
“Wonderful Tonight” ของ “Eric Clapton” ครับ
พี่จบชอบเป่าออแกนปาก แกจึงหยิบเพลงที่มี Harmonica ของ “Bob Dylan”
มาเล่นและร้องด้วยอย่างเพลงนี้ครับ “Blowin’ In The Wind”
ความที่พี่จบชอบแนวเร๊กเก้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ในแต่ละคืนวงของพี่จบ
มีเพลงของ “Bob Marley” มากกว่า 1 เพลง ซึ่งก็เป็นข้อดีสำหรับผมที่ได้รู้จัก
เพลงแนวนี้มากขึ้น เพราะเดิมไม่ค่อยได้ฟังครับ และ “I Shot The Sheriff”
ก็เป็นอีกเพลงที่พวกพี่เขาชอบเล่นครับ
ผมเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ “ซีกัล คอตเทจ” ได้ไม่ถึงปีก็รู้สึกอิ่มตัว เริ่มคิดอยาก
จะก้าวหน้า โดยไปอยู่โรงแรมที่ใหญ่ขึ้นอย่างที่ได้ยินเพื่อนร่วมงานเขาคุยกัน
ปลายปี 2529 ผมก็ทิ้งสังคมของหาดป่าตอง ไปอยู่ยังอีกฟากหนึ่งของเกาะ
และเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว จะเป็นที่ไหน ได้พบปะใคร ทำให้ได้รู้จัก
เพลงแนวไหนเพิ่มขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป ขอบคุณและสวัสดีครับ
โฆษณา