3 ส.ค. 2020 เวลา 01:34 • การศึกษา
๓. ปุณโณวาทสูตร (๑๔๕)
[๗๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว จะเป็นผู้ๆเดียวหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุณณะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านปุณณะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า ฯ
[๗๕๕] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจเสียงนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจเสียงนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจกลิ่นนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจกลิ่นนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรสนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรสนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจโผฏฐัพพะนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจโผฏฐัพพะนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วย
ติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิย่อมเกิดแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้นได้ เพราะเหตุคือนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ ฯ
[๗๕๖] ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับเราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจเสียงนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจเสียงนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับเราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจกลิ่นนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจกลิ่นนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับเราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรสนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรสนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับเราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจโผฏฐัพพะนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจโผฏฐัพพะนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับเราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล
ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น ย่อมดับไป เพราะเหตุคือนันทิดับเราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ ฯ
ดูกรปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ในชนบทไหน ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อันพระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้ แล้ว มีชนบทชื่อสุนาปรันตะ เป็นที่ที่ข้าพระองค์จักไปอยู่ ฯ
[๗๕๗] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไร?ในมนุษย์พวกนั้น ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ
[๗๕๘] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วย ฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไร?ในมนุษย์พวกนั้น ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้า พระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ
[๗๕๙] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไร?ในมนุษย์พวกนั้น ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ
[๗๖๐] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไร?ในมนุษย์พวกนั้น ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ
[๗๖๑] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยศาตรา เธอจักมีความคิดอย่างไร?ในมนุษย์พวกนั้น ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ
[๗๖๒] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไร?ในมนุษย์พวกนั้น ฯ
ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพข้าพระองค์ ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่ง ดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์ จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ
[๗๖๓] พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล ดูกรปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด ฯ
ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจาก อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเก็บเสนาสนะถือบาตรจีวรเดินทางจาริก ไปยังที่ตั้งสุนาปรันตชนบท เมื่อจาริกไปโดยลำดับ ได้ลุถึงสุนาปรันตชนบทแล้ว ฯ
[๗๖๔] เป็นอันว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจแสดงตนเป็น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ภาย ในพรรษานั้นเอง กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสิกา ประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และ ตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน
ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพาน แล้ว ฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุณณะที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้น ทำกาละเสียแล้ว เธอมีคติเป็นอย่างไร? มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร? พระพุทธเจ้าข้าฯ
[๗๖๕] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตรปรินิพพาน แล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล ฯ
จบ ปุณโณวาทสูตร ที่ ๓
พระไตรปิฎกไทย (ฉบับหลวง)
เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๖๑-๓๖๔ ข้อที่ ๗๕๔-๗๖๕.
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
bn8185.
นันทิเป็นมูลแห่งทุกข์
เพราะภพเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี
แก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว.
ทมะ : ความข่มใจ, ความบีบบังคับใจ.
อุปสมะ : ความสงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ, การทำใจให้สงบ, สภาวะอันเป็นที่สงบ คือ นิพพาน.
โฆษณา