5 ส.ค. 2020 เวลา 03:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Chapter 10 : เกษตรกับอุตสาหกรรม...ยังสร้างความยั่งยืนด้วยกันได้อยู่มั้ย?
คือ..อิป้าเครียดหนักมาหลายสัปดาห์เลยเพราะเรื่องนี้ ด้วยความที่อู่ข้าวอู่น้ำ ที่จ่ายเงินเดือนอิฉันอยู่ทุกวันนี้ เริ่มมาถึงจุดที่เห็นแต่กำแพงแห่งอุปสรรครอบด้าน แต่ไอ้ครั้นจะทะลายกำแพงแค่ช่องน้อย ๆ แต่พอตัว แล้วกระโดดพาร่างอ้วน ๆ ทะลุออกไปเพียงลำพัง มันก็กระไรอยู่เนอะ.. เลยอดไม่ได้ที่จะมานั่งคิดทบทวนกับตัวเองว่า “เกษตรกับอุตสาหกรรมไทย มันยังจะสร้างความยั่งยืนไปด้วยกันได้อยู่หรือเปล่า!?”
ถ้าคุณ ๆ ที่อยู่ในวงวารโรงงานที่ใช้พืชผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบหลัก คงจะคุ้นเคยกับฤดูกาลของพืชผัก ผลไม้ ราคาที่ปรับขึ้นปรับลงตาม Demand / Supply กันพอสมควร แต่ถ้าเป็นผู้บริโภคทั่วๆไป ป้าจะเล่าให้ฟังอย่างนี้นะจ๊ะ...
พืชผลทางการเกษตรที่นำส่งเข้าโรงงาน เพื่อนำมาแปรรูป ส่วนใหญ่ มักจะเป็นอะไรที่ปลูกกันเยอะๆ เยอะมากๆ ผลผลิตออกสู่ตลาดทีละมาก ๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาคเกษตรกรรม มันก็ต้องพึ่งพาฟ้าฝน การปลูก การเก็บเกี่ยว ก็ต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาล ปลูกตอนไหนจึงจะมีสภาพภูมิอากาศ น้ำท่าสมบูรณ์ เหมาะสมกับพืชผลแต่ละชนิด ก็ว่ากันไป...ผลผลิตมันเลยออกมาพร้อมๆ กัน ก็นะ ตามฤดูกาลที่เรารู้ๆ กันนั่นแหละ ทีนี้ พอมันออกมาเยอะ กลไกการซื้อขาย ก็มักจะออกมาในรูป ของเยอะ ราคาถูกลง ของน้อย ราคาสูงขึ้น
ในส่วนของโรงงานแปรรูปทั้งหลาย ก็จะต้องพากันโหมผลิตให้ได้มากๆ ในช่วงที่พืชผลที่เป็นวัตถุดิบหลักราคาต่ำสุดๆ ถ้าปีไหนผลผลิตออกมาเยอะ ราคาก็จะต่ำมาก เพราะรง.ผุ้ผลิตบางทีก็รับไม่ไหว เนื่องจากกำลังการผลิต แรงงาน เครื่องจักร มีจำกัด ชาวไร่ชาวสวน ก็ต้องมาเทขาย ลดราคา เพื่อให้คนช่วยกันซื้อเยอะๆ ก็ดีกว่าเน่าคาไร่ล่ะนะ
พอราคาถูกลงมากๆ ชาวไร่ชาวสวนก็...อ่ะ ไม่เอาละ ปลูกอันนี้ได้กำไรน้อย บางทีก็ขาดทุน เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นกันเถอะชาวเรา...พอเฮกันไปปลูกอย่างอื่น...อัยย่ะ ปีถัดไป ผลผลิตออกน้อยกว่าความต้องการ โรงงานมีวัตถุดิบป้อนไม่เพียงพอ ต้องปรับขึ้นราคา เพื่อดึงผลผลิตเข้าโรงงานตัวเองให้ได้มากๆ ต้นทุนการแปรรูปก็สูงขึ้น ถ้าสามารถปรับราคาขายให้สูงขึ้นได้ก็ดีไป แต่ถ้าคุณค่าที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคให้กับสินค้าแปรรูปเหล่านั้น ไม่ได้สูงล่ะ ก็จบค่ะ ราคาขายปรับขึ้นไม่ได้ ผู้ผลิตก็ขาดทุนวนไป
วัฎจักรนี้มันมีจริงๆ นะคะคุณ ผลัดกันกำไรขาดทุนวนไปแบบนี้ ทุก 2-3 ปี แล้วเมื่อโลกเปลี่ยน ดินฟ้าอากาศเปลี่ยน เทรนด์การบริโภคเปลี่ยน อะไรๆ เปลี่ยนอีกมากมาย ฯลฯ ธุรกิจนี้จะหาความมั่นคง ยั่งยืนได้จากตรงไหนกัน ป้าเห็นบางบริษัท จากที่เคยทำกำไร 2 ปี ขาดทุน 1 ปี ไปๆ มาๆ กลายมาเป็น กำไร 2 ปี ขาดทุน 3 ปีติดๆ แล้ว เท่านั้นยังไม่พอ ยังมามีเรื่องการค้าระหว่างประเทศมาบวกความชอกช้ำเข้าไปอีก ประเทศไทยจากที่เคยได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าหลายๆ ประเภทที่ส่งไปยังประเทศปลายทาง ปัจจุบัน ถูกตัดสิทธิพิเศษเหล่านี้ไปเยอะแล้ว ทำให้ลูกค้าปลายทางที่จะซื้อจากเรา ต้องจ่ายภาษีนำเข้าเพิ่มไปอีก...จะเลี่ยงยังไงล่ะ ลูกค้าก็ต้องไปมองหาประเทศผู้ผลิต ผู้แปรรูป ที่ได้รับยกเว้นภาษี เพื่อให้ต้นทุนสินค้าที่เค้าจะนำเข้า มันต่ำที่สุดอ่ะนะ
นี่ยังไม่อยากจะพูดถึงเรื่องค่าแรง ค่าอะไรต่อมิอะไร ที่มันปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งนั้นอ่ะ
เป็นไงจ๊ะคุณ เห็นภาพมั้ยว่าเราจะทำให้การเกษตรกับอุตสาหกรรมอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืนยังไงดี???
การจะสร้างความยั่งยืน มันคงสร้างที่จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ มันต้องไปด้วยกันหมด ตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้แปรรูป และผู้ซื้อ แต่จะทำยังไงให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน รับรู้ว่าปัญหานี้มันต่างคนต่างแก้ไม่ได้ จะต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง มามองทุกคนเป็นทีมเดียวกัน ไม่แบ่งชาวไร่ ไม่แบ่งโรงงาน เพื่อช่วยกันคิดหาทางแก้ปมนี้อย่างยั่งยืน......โอยยยย อิฉันยังมืดแปดด้าน เอาจริงๆ !
ถ้าใครมีคำแนะนำยังไง ช่วยเมตตาป้าสักนี๊ดดดด บอกเล่าสู่กันฟังหน่อยนะจ๊ะ ป้าว่ามันเป็นปมที่ควรต้องแก้ ทำยังไงให้เกษตรกรก็ยั่งยืน โรงงานก็ยั่งยืน เพราะทั้งเกษตรกรและแรงงานหรือพนักงานในโรงงาน มันก็คนไทยทั้งนั้น....ถ้าอิฉันคิดอะไรออก จะมาเล่าสู่กันฟังนะคะคุณ
โฆษณา