5 ส.ค. 2020 เวลา 14:38 • การศึกษา
ผมอ่าน ‘ที่(น่า)ทำงาน’ ที่ถูกแปลมาจากหนังสือที่ชื่อว่า the best place to work แล้วสนุกมาก ชวนคุยครับ
บทแรกสุดของเล่มนี้ พูดถึงความคิดสร้างสรรค์ในการลงมือทำ หรือกล้าที่จะล้มเหลว มีส่วนหนึ่งจากในบทนี้ที่สนใจมาก คือ ผู้เขียนกำหนดคำมาให้สามคำ ได้แก่ SWISS CAKE COTTAGE ให้ลองหาคำศัพท์อะไรก็ได้ 1 ค่ำ เพื่อมาทำให้สามคำศัพท์นี้เชื่อมโยงกัน
เฉลยก็คือคำว่า CHEESE เพราะ (1) SWISS CHEESE (2) CHEESE CAKE (3) COTTAGE CHEESE
การเล่นแบบนี้เป็นแบบทดสอบการเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสิ่งที่อยู่ห่างไกลกัน (Remote Associates Test – RAT ) ซึ่งนักจิตวิทยาจะใช้เครื่องมือนี้วัดความคิดสร้างสรรค์ในการหาความเชื่อมโยง ถ้าเราทำแบบทดสอบนี้บ่อย ๆ จะช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์เราได้
หลังจากที่เรารู้จัก RAT กันแล้ว ผู้เขียนมีโจทย์อีก 10 ข้อให้เราเล่น ถ้าตอบถูกจะได้ข้อละ 5 ดอลลาห์ น่าสนใจไหมครับ
ผู้เขียนกล่าวต่อว่าความรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้รางวัล ถูกเรียกว่า ‘ภาวะจูงใจให้เข้าหา’ (approach motivational state) ภาวะนี้จะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะเราจะจดจ่ออยู่กับการบรรลุผล และการมองเห็นโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์
แต่ถ้าลองเปลี่ยนโจทย์เป็นเริ่มต้นคุณจะได้รับเงิน 50 ดอลลาร์ แต่ว่าถ้าตอบผิดจะถูกหักข้อละ 5 ดอลลาห์
อันนี้คือ ‘ภาวะจูงใจให้หลีกเลี่ยง’ (avoidance motivational state) เราจะจดจ่ออยู่กับการจะเสียเงินมากกว่า
ทุกอย่างที่เราทำในชีวิตนี้เกี่ยวข้องกับทัศนคติแบบ ภาวะจูงใจให้เข้าหา/ภาวะจูงใจให้หลีกเลี่ยง ทั้งสิ้น เช่น เราไปฟิตเนสเพื่อจะไปออกกำลังกายให้ร่างกายดูดีในสายตาคนรัก (เข้าหาผลลัพธ์เชิงบวก) บางคนจะออกกำลังกายเพื่อจะไม่ให้เราอ้วนขึ้น (หลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบ) การกระทำเหมือนกัน แต่โครงสร้างทางจิตวิทยาไม่เหมือนกัน
การคิดแบบ ‘ภาวะจูงใจให้เข้าหา’ ทำให้มีการคิดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เห็นภาพรวมมากขึ้น เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น ลองนึกเหมือนเรามองเห็นผืนป่าได้ กลับกัน ‘ภาวะจูงใจให้หลีกเลี่ยง’ เราจะมองไม่เห็นป่า เพราะความคิดเราจะไม่ยืนหยุ่น จะเห็นเพียงต้นไม้เรียงกันหลาย ๆ ต้น
มีงานวิจัยทางสรีรวิทยาได้ทำการทดสอบโดยแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม และให้ทำแบบทดสอบ RAT ที่เราเพิ่งเล่นกันไป กลุ่มแรกจะได้เงินหลังจากตอบถูก กลุ่มหลังจะได้เงินมาก่อนและเสียเงินเมื่อตอบผิด เริ่มต้นทั้งสองกลุ่มตื่นเต้นกับโจทย์เหมือนกัน แต่ผ่านไปสักพักพบว่ากลุ่มหลังมีปฏิกิริยาที่ต่างออกไป ทางสรีรวิทยาบอกว่าร่างกายตอบโต้เหมือนกำลังถูกจู่โจม
มันเป็นเพราะว่าเรามีสวิตซ์ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ‘fight or flight’ หรือแปลว่า ‘สู้หรือหนี’ เราจะใช้สวิตซ์นี้เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายที่ต้องเอาชีวิตรอด ส่งผลให้ร่างกายจะต้องปิดระบบการทำงานอื่น ๆ เช่นความคิดสร้างสรรค์ไป เพราะร่างกายต้องการที่จะเอาชีวิตรอดเป็นเรื่องหลัก
ในระยะยาวถ้าเราต้องอยู่ใน ‘ภาวะจูงใจให้หลีกเลี่ยง’ เป็นประจำ จะส่งผลให้เราเครียดกับงานมากขึ้น ทุกอย่างจะดูยากขึ้น ทำให้สมองล้า และมีความคิดสร้างสรรค์น้อยลง รวมถึงการหมดไฟด้วย
ชวนสำรวจกิจวัตรประจำวันที่เราทำอยู่นะครับ ว่าเราทำมันด้วย ‘ภาวะจูงใจให้เข้าหา’ หรือทัศนคติมองว่าผลลัพธ์เชิงบวก หรือ ‘ภาวะจูงใจให้หลีกเลี่ยง’ ที่เป็นทัศนคติหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบ เพราะวิธีคิดสองแบบนี้แตกต่างกัน และส่งผลโดยตรงต่อวิธีคิดในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของเรา
ฟังเวอรชั่นพอดแคสต์ได้ที่
รอบสมอง EP01 : ความคิดสร้างสรรค์สร้างได้อย่างไร
โฆษณา